เปิดตัวสเปรย์ลดฝุ่น จุฬาฯ ผนึกกำลังหาทางแก้ปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

เปิดตัวสเปรย์ลดฝุ่น จุฬาฯ ผนึกกำลังหาทางแก้ปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน

จุฬาฯ ผนึกกำลังผู้เชี่ยวชาญหลายศาสตร์หาทางแก้ปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน จี้รัฐอย่ารับมือเหมือนไฟไหม้ฟาง ตั้งเป้าหมายและเวลาทำให้สำเร็จ ทีมเภสัชฯ คิดค้นสเปรย์ลดฝุ่น เตรียมเผยแพร่เร็วๆ นี้
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนาครั้งที่ 22 เรื่อง “ฝุ่น PM2.5 : แก้ปัญหาอย่างไรให้ยั่งยืน?” ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ โดยมีวิทยากรเป็นอาจารย์จากภาควิชาต่างๆ ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์และหาทางออกปัญหาฝุ่นอย่างบูรณาการและยั่งยืน
จุฬา
เสวนา “ฝุ่น PM2.5 : แก้ปัญหาอย่างไรให้ยั่งยืน?” / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
รศ.ร.ต.อ.หญิง ภญ.ดร.สุชาดา สุขหร่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่าทางคณะกำลังพัฒนาสเปรย์จับฝุ่น มีลักษณะการทำงานคล้ายยาลดกรด โดยตั้งสมมุติฐานว่าฝุ่นเป็นอนุภาคของแข็งที่แขวนตะกอนอยู่ในอากาศ อาจสามารถหาวิธีทำให้ฝุ่นตกตะกอนลงข้างล่าง เป็นทางเลือกให้ผู้ที่ไม่มีเครื่องกรองอากาศ นอกจากนั้นยังกำลังคิดค้นหน้ากากกันฝุ่นและไวรัสขนาดเล็กที่ใส่สบายและมีราคาถูก นวัตกรรมทั้งหมดยังอยู่ในขั้นพัฒนา หากได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้วจะออกสู่สังคมให้ประชาชนได้ใช้งาน
รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าหนึ่งในปัจจัยที่ชะลอการแก้ปัญหา PM2.5 ของรัฐ คือการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ (Key Performance Index) ในแผนปฏิบัติการไว้ไม่เหมาะสม เช่น แผนปฏิบัติการระบุให้จุดความร้อนเป็นตัวชี้วัดการแก้ปัญหาฝุ่น ทว่าจังหวัดเชียงรายไม่มีจุดความร้อนแต่ยังคงประสบปัญหา ด้วยเหตุนี้จึงควรหาตัวชี้วัดอื่นที่ทำให้หน่วยงานต่างๆ มองภาพเดียวกัน
สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของตัวแทนจากคณะนิติศาสตร์ รศ. ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ว่าปัญหา PM2.5 เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เพราะเป็นปัญหาที่ไม่สามารถมองเห็นความรุนแรงได้โดยตรง อีกทั้งแสดงถึงการรับมือปัญหาของรัฐที่ไม่หลุดพ้นจากวังวนกระบวนทัศน์เก่า เช่น ใช้กฎหมายเชิงลงโทษมากกว่าส่งเสริม ไม่นำมาตราการทางเศรษฐศาสตร์มาปรับใช้และการรับมือเรื่องสิ่งแวดล้อมในไทยยังเป็นเน้นการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ โดยมองข้ามต้นน้ำ เช่น มีความพยายามจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม หากแต่ไม่ได้ปรับให้นักเรียนกฎหมายเรียนวิชากฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นวิชาบังคับ
“ปัญหาฝุ่น PM2.5 แสดงให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม รัฐจะต้องเคารพ ปกป้อง และเติมเต็มให้เกิดสิทธิพื้นฐานของประชาชน ถ้ารัฐไม่ทำหน้าที่ ประชาชนสามารถไปฟ้องศาลได้”
แม้เธอจะสนับสนุนการออกกฎหมายอากาศสะอาด ทว่าเธอยังคงยืนยันว่าปัญหา PM2.5 เป็นเรื่องซับซ้อนที่การออกพรบ.อากาศสะอาดฉบับเดียวนั้นไม่เพียงพอ
จราจร
สัดส่วนอายุและประเภทเชื้อเพลิงรถโดยสารประจำทาง / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
ด้านตัวแทนจากสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบัน วิเคราะห์ปัญหาด้านคมนาคมที่เป็นตัวการก่อให้เกิดฝุ่นในเมือง โดยสถิติจากกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า รถโดยสารประจำทางของไทยยังเป็นรถยนต์เก่ามีอายุมากกว่าสิบปีเกินครึ่งของจำนวนรถทั้งหมด และใช้พลังงานดีเซลมากถึง 77% เป็นเหตุให้รถโดยสารยังปล่อยควันดำซึ่งก่อให้เกิดฝุ่น
ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย มีการกำหนดอายุรถประจำทางไว้ไม่ให้เกิน 7 ปี ต่ออายุได้สูงสุดไม่เกิน 12 ปี ขณะที่หลายประเทศ เช่น เยอรมันนีและสหรัฐฯ ไม่ได้กำหนดกฎหมายดังกล่าว ทว่าต้องมีการตรวจสอบสภาพรถอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ เขาแสดงความเห็นว่าถึงแม้จะเห็นแผนการกำหนดให้เอกชนเปลี่ยนมาผลิตรถยนตร์มาตรฐานไอเสีย Euro 5 และ 6 ซึ่งจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทว่าข้อดีดังกล่าวยังต้องแลกเปลี่ยนกับต้นทุนที่สูงขึ้น
“อากาศสะอาดไม่ใช่ของฟรี ทุกการเปลี่ยนแปลงที่อยากทำมีต้นทุน รัฐบาลต้องพร้อมลงทุนเพื่อแลกกับต้นทุนสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพประชาชน”
ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ ย้ำว่ารัฐบาลควรช่วยปรับปรุงโครงสร้างและสถานะทางการเงินขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เนื่องจากองค์กรเป็นหนี้มหาศาล ทำให้ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากดูแลนิสิตและบุคลากรในพื้นที่ตนเองแล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยื่นยันว่ามหาวิทยาลัยมีบทบาทเป็นศูนย์ความรู้ ขยายวงการเผยแพร่ความรู้จากภายในมหาวิทยาลัยสู่สังคม โดยได้จัดตั้ง “ทีมติดอาวุธสู้ฝุ่น” รวมผู้มีความรู้จากหลายสาขาวิชาผลิตองค์ความรู้และออกข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่รัฐบาล เน้นย้ำให้รัฐกำหนดกรอบเวลาและแผนการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายในเวลาที่ตั้งไว้

ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad