คนอีสานชี้ อุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลทำอีสานจมฝุ่น - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

คนอีสานชี้ อุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลทำอีสานจมฝุ่น

        ภาคประชาสังคมอีสานร้องรัฐทบทวนแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล – ยกระดับมาตรฐานรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ชี้อุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลคือต้นเหตุปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5  ด้านกทม.เร่งรับมือฝุ่นควันมลพิษระลอกใหม่ ขอความร่วมมืองดการก่อสร้างระหว่างวันที่ 4 – 6 กุมภาพันธ์ นี้ 
คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.) ภาคอีสาน // ขอบคุณภาพจาก: ขบวนการอีสานใหม่
           เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ขบวนการอีสานใหม่ รายงานว่า  คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.) ภาคอีสาน ได้จัดประชุม กำหนดท่าทีต่อสถานการณ์การส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พบว่า ผลจากการปลดล็อคกฎระเบียบให้ผู้ประกอบการสามารถตั้งโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในพื้นที่ได้ง่ายขึ้น ประกอบกับปัญหาการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่ได้มาตรฐาน ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน  ทำให้หลายพื้นที่ในภาคอีสานต้องประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 อย่างรุนแรง 
           สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษา (คปน.) ภาคอีสาน กล่าวว่า เป็นที่สรุปอย่างชัดเจนแล้วว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีที่มาจากกระบวนการผลิต 2 ส่วนหลัก ได้แก่ มลพิษจากปากปล่องโรงงานน้ำตาล ที่เกิดจากกระบวนการแปรรูปอ้อยเป็นน้ำตาล และจากฝุ่นควันจากการเก็บเกี่ยวอ้อย ด้วยการเผา โดยภายหลังการประชุม คปน. ได้ยื่นข้อเรียกร้องทั้งหมด 3 ข้อ แก่รัฐบาล ดังนี้
  1. รัฐบาล และ คณะกรรมการดำเนินงานแก้ไขปัญหา PM 2.5 ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องเร่งให้มีมาตรการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงงานน้ำตาลทั้งหมด
  2. กระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม EIA ต้องเปิดกว้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
  3. การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ แล้วผลักดันสู่นโยบายที่เป็นรูปธรรมโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับโรงงานที่เปิดกระบวนการผลิตแล้ว ให้ยุติกระบวนการผลิตจนกว่าจะมีการศึกษาเรื่องผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจนแล้วเสร็จ
           สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสาน คปน. ให้ข้อมูลว่า ในช่วงรัฐบาลคสช. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 ปลดล็อคให้ผู้ประกอบการสามารถขออนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ และขอขยายหรือย้ายโรงงานน้ำตาลไปยังพื้นที่อื่นได้ง่ายขึ้น ตามแนวนโยบายส่งเสริมการก่อตั้งศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพอันประกอบด้วย โรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในพื้นที่ 13 จังหวัดภาคอีสาน  ซึ่งในขณะนี้ มีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลกว่า 29 โรงงานเตรียมขยายกิจการเข้ามาในภาคอีสาน ซึ่งบางส่วนได้ดำเนินการไปแล้ว
           สิริศักดิ์ ยังเปิดเผยว่า กระบวนการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็มีปัญหามากเช่นกัน โดยพบว่าในรายงาน EIA ของโครงการโรงงานน้ำตาลเหล่านี้ ไม่มีการพิจารณาผลกระทบจากโครงการต่อสุขภาพโดยเฉพาะในประเด็นมลพิษฝุ่น PM 2.5 เลย ยิ่งไปกว่านั้นกระบวนการศึกษารายงาน EIA ยังขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในท้องที่ โดยประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเมื่อประชาชนในแต่ละพื้นที่ติดตามข้อมูลโดยยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอข้อมูลและแสดงความกังวล พวกเขาก็ไม่ได้รับการตอบกลับจากหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่อย่างใด
           ในขณะเดียวกันที่กรุงเทพมหานคร พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยในเพจเฟซบุ๊ก “ผู้ว่าฯ อัศวิน” ว่ากทม. ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการต่างๆ รวมไปถึง โครงการรถไฟฟ้าฯ 6 สาย และอาคารสูงขนาดใหญ่ 96 แห่ง ให้หยุดการก่อสร้างเพื่อลดการเกิดฝุ่นละออง PM2.5 เป็นเวลาสามวัน ระหว่างวันที่ 4 – 6 กุมภาพันธ์ เนื่องจากมีการพยากรณ์ว่าค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯจะเพิ่มสูงขึ้นจากสภาวะลมนิ่งและความกดอากาศสูงต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว
           ผู้ว่ากทม. แจ้งว่า หากสภาพอากาศยังไม่ดีขึ้น ก็จะให้หยุดดำเนินการต่อเนื่อง แต่หากอากาศดีขึ้นสามารถดำเนินโครงการได้ตามปกติ ส่วนกิจกรรมอื่น เช่น การตกแต่งภายในอาคารสามารถปฏิบัติได้
           นอกจากนี้ ตั้งแต่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ยกระดับมาตรการล้างรถและท่อไอเสียประจำทางทุกคันก่อนออกบริการประชาชน ขณะที่กรมโรงงานจะเข้าตรวจสอบปล่องปล่อยควันของทุกโรงงาน หากพบค่าฝุ่นและมลพิษเกินมาตรฐาน จะแจ้งหยุดการผลิตและให้แก้ไขเร่งด่วน นอกเหนือจากนี้ กรุงเทพมหานครจะดำเนินมาตรการอื่นควบคู่ เช่น การติดสปริงเกอร์พ่นละอองน้ำและการฉีดน้ำล้างถนน
เครื่องบำบัดอากาศและสปริงเกอร์พ่นละอองน้ำบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
           อนึ่ง จากข้อมูลคุณภาพอากาศย้อนหลังของกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ราย 24 ชั่วโมง ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบากศ์เมตร เป็นเวลาติดต่อกันเป็นวันที่ 4 แล้ว นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา
กราฟแสดงค่าปริมาณฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่เขตดินแดง กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 28 มค. – 4 กพ. ที่มา: https://www.thaigov.go.th/vdo/contents/views/4730
           เช่นเดียวกับที่ จ.ขอนแก่น ที่พบว่ามีปริมาณฝุ่น PM2.5 ราย 24 ชั่วโมง สูงเกินค่ามาตรฐานเป็นเวลา 4 วันติดต่อกันแล้ว โดยสามารถตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้สูงสุดถึง 104 ไมโครกรัม/ลูกบากศ์เมตร

ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad