ไทยมีโอกาสชนะคดีเหมืองทอง เตือนฝ่ายกม.ไทยอย่าล้มมวยจนชาติเสียหาย - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ไทยมีโอกาสชนะคดีเหมืองทอง เตือนฝ่ายกม.ไทยอย่าล้มมวยจนชาติเสียหาย

ผู้เชี่ยวชาญชี้ ไทยยังมีโอกาสชนะคดีในการพิจารณาตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการ กรณีรัฐบาลคสช.ออกคำสั่ง ม.44 ปิดเหมืองทองอัครา แม้ว่าจะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ พร้อมเรียกร้องให้สู้คดีอย่างเต็มที่ เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศชาติมูลค่าหลักแสนล้านบาท และส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพคนไทย
หัวหน้าพรรคสามัญชน เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศชาติและประชาชนไทยกำลังจะสูญเสียผลประโยชน์จำนวนมหาศาล หากฝ่ายกฎหมายไทยที่จะไปว่าความในการพิจารณาคดีตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่าง ราชอาณาจักรไทย กับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่สิงคโปร์ วันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้
เหมืองทอง
เหมืองทองคำชาตรี ของบริษัท อัครา อัครา รีซอร์สเซส ในอ.ทับคล้อ จ.พิจิตร / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
เลิศศักดิ์ กล่าวว่า ในการว่าความต่อกรณีดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอ 4 แนวทางผลการพิจารณาคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการที่เป็นไปได้สำหรับฝ่ายไทย ได้แก่
  1. ให้รัฐบาลไทยจ่ายค่าชดเชยเต็มจำนวนและให้บริษัท คิงส์เกต เลิกกิจการในประเทศไทย
  2. ให้รัฐบาลไทยยอมความ และดำเนินการตามข้อเสนอของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
  3. รอคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ
  4. ให้รับบาลไทยจ่ายค่าชดเชยบางส่วน และอนุญาตให้เปิดเหมืองทองต่อได้
เขาตั้งข้อสังเกตว่า แม้ท่าทีของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ยังไม่มีการเปิดเผยว่าจะเลือกแนวทางไหนในการต่อสู้คดีกับบริษัท คิงส์เกต แต่จากท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ​ ส่อเค้าให้เห็นว่า รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะเจรจากับบริษัทเหมือง และอนุญาตให้เปิดเหมืองอีกครั้ง ถึงแม้ว่าการทำเหมืองทองจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้านรอบเหมือง
“การทำเหมืองทองคำทำให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะการขุดเอาแร่ทองคำขึ้นมา ทำให้สารโลหะหนักอื่นๆซึ่งมีความเป็นพิษต่อสุขภาพที่แฝงอยู่ใต้ดินเช่น แมงกานีส สารหนู ถูกขุดขึ้นมาปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมด้วย การเปิดผิวดินเพื่อทำเหมืองยังเป็นการทำลายป่าไม้และพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน อีกทั้งสกัดแร่ทองคำยังต้องใช้ ไซยาไนด์ อันเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชาวบ้านเช่นกัน” เลิศศักดิ์ กล่าว
เขากล่าวว่า ผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองทองคำ นำไปสู่ความขัดแย้งในพื้นที่ จนทำให้รัฐบาลคสช. ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ออกคำสั่งปิดเหมืองฟื้นฟู ระงับการดำเนินกิจการเหมืองทองคำทั่วประเทศในที่สุด อย่างไรก็ดีการใช้คำสั่งคสช.ในการปิดเหมืองทองดังกล่าว ทำให้บริษัท คิงส์เกต ใช้เป็นข้ออ้างในการร้องเรียนในชั้นอนุญาโตตุลาการว่า รัฐบาลไทยใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมสร้างความเสียหายแก่การลงทุนของผู้ลงทุนต่างชาติ เป็นการละเมิดความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลไทยเป็นเงินถึง 30,000 ล้านบาท
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า การพิจารณาความตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการในวันจันทร์นี้ จะเป็นการตกลงกันระหว่าง ตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนบริษัทผู้ลงทุน โดยมีคนกลางที่ได้รับการยอมรับจากทั้ง 2 ฝ่ายเป็นผู้ไกล่เกลี่ย โดยในการพิจารณาความ อนุญาโตตุลาการจะพิจารณาที่เงื่อนไขสัญญาตาม ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย เป็นหลัก ดังนั้นไทยจึงตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบมาก เพราะการใช้อำนาจคสช. ตามมาตรา 44 ไม่ใช่การใช้อำนาจตามหลักนิติรัฐ
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ (ซ้าย) และ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล (ขวา)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าไทยจะตกอยู่สถานะเสียเปรียบอย่างมาก แต่ กรรณิการ์ ชี้ว่า ฝ่ายไทยยังพอมีทางสู้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติให้ถึงที่สุดได้ โดยการเสนอหลักฐานต่ออนุญาโตตุลาการ ถึงเหตุผลของรัฐบาลไทยที่มีคสามจำเป็นต้องออกคำสั่งระงับการดำเนินการเหมืองทองทั่วประเทศจากปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม
เธอกล่าวต่ออีกว่า กระบวนการตามความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ยังเปิดช่องให้ฝ่ายไทยสามารถนำคำพิจารณาตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการมาให้ศาลยุติธรรมไทยมาตัดสิน เพื่อออกคำพิพากษาอีกครั้ง ดังนั้นฝ่ายไทยจึงมียังมีสิทธิที่จะสู้เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ดีที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องยอมจ่ายค่าชดเชยราคาแพง หรือยอมให้บริษัทกลับมาเปิดเหมืองทองต่อ และสร้างความเสียหายต่อชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อมในไทยอีกครั้ง
“เคยมีตัวอย่างการต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่าง รัฐบาลออสเตรเลีย กับ บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ ฟิลิป มอร์ริส ประเด็นการที่รัฐบาลออสเตรเลียออกนโยบายเปลี่ยนภาพบนซองบุหรี่ เพื่อลดจำนวนผู้สูบหน้าใหม่ การต่อสู้ในกรณีดังกล่าว รัฐบาลออสเตรเลียได้ใช้เวลาต่อสู้อย่างแข็งขันเป็นเวลานาน รวบรวมข้อมูลและความช่วยเหลือจากนักวิชาการและภาคประชาชน ทุ่มทุนมหาศาลในการต่อสู้คดี จนในที่สุดศาลอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส” กรรณิการ์ กล่าว
“ประเทศไทยเองสามารถใช้ตัวอย่างการต่อสู้จากเคสนี้ โดยเปิดโอกาสให้นักวิชาการ และภาคประชาชน ร่วมรวบรวมข้อมูลในการต่อสู้คดี นอกเหนือจากนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ควรจะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงว่ามีการเตรียมการต่อสู้คดีแล้วอย่างไรบ้าง เพราะการต่อสู้ครั้งนี้มีผลประโยชน์ของชาติและประชาชนาเป็นเดิมพัน”
เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า หากฝ่ายไทยยอมแพ้เพราะยอมรับว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการปิดเหมืองทองไม่ใช่การใช้อำนาจที่ถูกต้องตามหลักนิติรัฐ ดังนั้นก็ควรให้คณะคสช. เป็นผู้จ่ายค่าเสียหายเต็มจำนวน ไม่ใช่นำเงินภาษีจากประชาชนมาจ่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad