ค้านแผนดันป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ชุมชนกะเหรี่ยงท้วง รัฐต้องแก้ปัญหาละเมิดสิทธิก่อน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ค้านแผนดันป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ชุมชนกะเหรี่ยงท้วง รัฐต้องแก้ปัญหาละเมิดสิทธิก่อน

ชุมชนกะเหรี่ยงแก่งกระจานแถลงค้านแผนการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลก ชี้ภาครัฐต้องแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยง และรับรองการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วมจากชุมชนก่อน ด้านอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานแจง จัดสรรที่ดินทำกิน – ส่งเสริมการท่องเที่ยว – แก้ปัญหาความขัดแย้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ตอบโจทย์ข้อท้วงติงคณะกรรมการมรดกโลกเรียบร้อยแล้ว
ภายหลังการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกครั้งที่ 1/ 2563 เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้รัฐบาลไทยยื่นเรื่องต่อศูนย์มรดกโลก (World Heritage Centre) เพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกอีกครั้ง โดยรัฐบาลยังได้ตั้งเป้าให้มีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2563 นี้
แก่งกระจาน
กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงนำโดย เกรียงไกร ชีช่วง ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี อ่านคำแถลงการณ์ต่อแผนการเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
อย่างไรก็ดี ชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อมติดังกล่าว โดยกลุ่มชาวกะเหรี่ยงได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 มกราคม ย้ำให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาตามข้อห่วงกังวลของคณะกรรมการมรดกโลก ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงความขัดแย้งการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชุมชนท้องถิ่นให้เรียบร้อย ก่อนที่จะยื่นขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก
โดยแถลงการณ์ระบุว่า ที่ผ่านมาภาครัฐยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาชุมชนชาวกะเหรี่ยงในกลุ่มป่าแก่งกระจานเท่าที่ควร แม้ว่าชุมชนกะเหรี่ยงได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของชุมชนกะเหรี่ยงแก่งกระจานถึง 3 ครั้ง กระทั่ง ณ ที่ประชุมมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2562 คณะกรรมการมรดกโลกยังได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และทักท้วงรัฐบาลไทยให้แก้ปัญหาข้อกังวลของชุมชน เป็นผลให้กลุ่มป่าแก่งกระจานยังไม่ได้รับพิจารณาให้ขึ้นเป็นมรดกโลกในปีที่ผ่านมา
ดังนั้น ชุมชนกะเหรี่ยงป่าแก่งกระจานจึงมีมติร่วมกันว่า รัฐบาลไทยไม่ควรยื่นขอขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งนี้ชุมชนชาวกะเหรี่ยงได้ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาล ได้แก่
  1. รัฐต้องดำเนินการตามแนวทางที่ระบุไว้ในมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยอนุญาตให้ชาวบ้านสามารถทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง และยุติการจับกุมชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยและทำมาหากินในป่าแก่งกระจานมาตั้งแต่ดั้งเดิม
  2. รัฐต้องยอมรับให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการฐานทรัพยากรในพื้นที่ และเคารพฐานองค์ความรู้ของชาวกะเหรี่ยงในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
  3. รัฐต้องแสดงความจริงใจในการดำเนินคดีการเสียชีวิตของ พอละจี ‘บิลลี่’ รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องคดี เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย
นำโชค เจริญสุข (45 ปี) หนึ่งในสมาชิกชุมชนชาวกะเหรี่ยงป่าแก่งกระจาน บ้านโป่งลึก-บางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กล่าวว่า เขารู้สึกกังวล และไม่เห็นด้วยต่อแผนของรัฐบาลที่เตรียมเสนอขอขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกอย่างยิ่ง เพราะนอกจากภาครัฐยังไม่จัดการแก้ปัญหาเรื้อรังจากการละเมิดสิทธิชุมชนให้กับชาวบ้านอย่างจริงจัง ชาวบ้านยังไม่เข้าใจว่าสถานะมรดกโลกจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวิถีชีวิตของพวกตนอย่างไร แม้ว่าพวกตนจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงก็ตาม
นำโชคเล่าว่า ตัวเขาเองเป็นหนึ่งในชาวกะเหรี่ยงพื้นถิ่นที่ถูกบังคับอพยพจากบ้านใจแผ่นดิน เมื่อปี พ.ศ.2539 ให้มาอยู่รวมกันอย่างแออัด และไม่มีที่ทำกิน ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย เพราะภาครัฐในขณะนั้นมองว่าพวกเขาเป็นผู้บุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติ ทั้งๆที่พวกเขาเป็นชาติพันธุ์เมืองที่อาศัยในป่าแก่งกระจานมาแต่ก่อนการก่อตั้งอุทยานฯ ซ้ำยังไม่อนุญาตให้ชาวบ้านทำไร่หมุนเวียนตามขนบดั้งเดิม จนเป็นต้นเหตุนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งยืดเยื้อระหว่างอุทยานแห่งชาติกับชาวบ้านกะเหรี่ยง ที่จนถึงที่สุดลุกลามขยายวงจนถึงขั้นที่ แกนนำชาวบ้าน เช่น บิลลี่ ถูกอุ้มหาย และ ทัศน์กมล โอบอ้อม ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีช่วยเหลือชาวบ้าน ถูกลอบสังหาร
หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย
ที่ดินที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกะเหรี่ยงที่ได้รับการติดป้ายพิสูจน์สิทธิแล้ว ในหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
เขาเปิดเผยอีกว่า แม้ว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติได้เช้ามาพิสูจน์สิทธิ รังวัดที่ดิน เพื่อจัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านท้องถิ่นครอบครัวละ 7 ไร่ แล้ว แต่กระนั้นการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านยังคงไม่เรียบร้อย กว่า 70 ครัวเรือนจากประชากรในหมู่บ้านทั้งหมด 151 ครัวเรือน รวมถึงครอบครัวของเขาเองยังไม่ได้รับที่ทำกิน ทำให้เขาต้องเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างเล็กๆน้อยๆ ได้รายได้เพียงเฉลี่ยแล้ววันละ 150 บาทเท่านั้น
“ถึงแม้รัฐบาลมีนโยบายผลักดันการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจานอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาอธิบายกับชาวบ้านว่ามรดกโลกคืออะไร ไม่มีแม้กระทั่งคำชี้แจงถึงผลดีผลเสียต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากกังวลว่า ปัญหาที่เรากำลังประสบจะยิ่งหนักขึ้น ทำให้ความเป็นอยู่ของพวกตนยิ่งยากลำบาก หากพื้นที่ป่าแก่งกระจานถูกประกาศเป็นมรดกโลก” นำโชค กล่าว
ด้านหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มานะ เพิ่มพูล ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติ ร่วมกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.ในท้องที่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอรมน.) ได้ร่วมกันรังวัด พิสูจน์สิทธิที่ดินตามระเบียบมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ 2562 ให้กับชาวบ้านทุกหมู่บ้านในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานแล้ว โดยมีตัวแทนจากชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ โดยบ้านโป่งลึก-บางกลอย เป็นหมู่บ้านเจ้าหน้าที่ได้รังวัด และพิสูจน์สิทธิที่ดิน เสร็จเป็นหมู่บ้านแรก ดังนั้นชาวบ้านทุกครัวเรือนที่มีคุณสมบัติตรงกับระเบียบกฎหมายจึงได้รับสิทธิในที่ดินทำกินเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี มานะ ชี้แจงว่า สาเหตุที่ชาวบ้านบางครัวเรือนยังไม่มีที่ดินทำกินเป็นเพราะ ชาวบ้านกลุ่มนั้นเป็นครอบครัวที่ขยายจากครัวเรือนเดิมที่ได้ให้สิทธิไว้ หรือไม่ก็เป็นเครือญาติที่อพยพตามเข้ามาหลังจากการพิสูจน์สิทธิที่ดิน ซึ่งในกรณีดังกล่าว ทางอุทยานฯกำลังจัดสรรที่ดินเพิ่มเติมให้ชาวบ้านกลุ่มที่เข้าเกณฑ์ผู้ยากไร้โดยอนุโลม
นกแก๊ก
นกแก๊ก (Oriental pied hornbill) หนึ่งในสัตว์ป่าที่สามารถพบเจอได้ง่ายในป่าแก่งกระจาน //ขอบคุณภาพจาก: เบญจ์ เพชราภิรัชต์
“ไม่เพียงอุทยานฯได้การจัดสรรที่ดินทำกินให้กับทุกชุมชนพื้นถิ่นในป่าแก่งกระจานแล้ว มาตรา 65 พรบ.อุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ ยังเปิดช่องให้ชาวบ้านที่เป็นผู้อาศัยในป่าแต่ดั้งเดิมสามารถเข้าป่า หาของป่าที่สามารถงอกทดแทนได้ เช่น หน่อไม้ เห็ด ในพื้นที่ป่าของอุทยานได้ในพื้นที่ที่กำหนดไว้” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เผย
“ยิ่งไปกว่านั้น ทางอุทยานฯยังได้ร่วมกับ มูลนิธิปิดทองหลังพระ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าไปทำงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อันเป็นการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับชาวบ้านกลุ่มที่ไม่มีที่ดินอีกด้วย โดยถ้าหากกลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับพิจารณาเป็นมรดกโลกแล้ว จะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว เป็นผลดีต่อชาวบ้าน”
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงแสดงความมั่นใจว่าทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการบรรเทาปัญหาของชุมชนกะเหรี่ยงแก่งกระจานอย่างเหมาะสมแล้ว เพียงพอที่จะชี้แจงข้อทักท้วงของคณะกรรมการมรดกโลก และเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานเข้าสู่กระบวนการพิจารณามรดกโลกอีกครั้งในการประชุมมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ที่เมืองฝูโจว ประเทศจีน ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad