รมว.ทส.โว เดือนแรกงดแจกถุงได้สามพันล้านใบ นักวิชาการชมนโยบายดี แต่ยังมีข้อปรับปรุง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

รมว.ทส.โว เดือนแรกงดแจกถุงได้สามพันล้านใบ นักวิชาการชมนโยบายดี แต่ยังมีข้อปรับปรุง

รมว.ทส.
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังรณรงค์โครงการงดแจกถุงที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา //ขอบคุณภาพจาก: TOP Varawut – ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ประกาศ ผลการดำเนินมาตรการงดแจกถุงพลาสติกตามห้างร้าน 1 เดือนแรก ผ่านฉลุย สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึงราว 3,750 ล้านใบ ด้านนักวิจัยสิ่งแวดล้อมจุฬาชี้ แม้โครงการช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกได้มากขึ้นจริง แต่ก็ยังมีจุดอ่อน แนะรัฐเร่งออกกฎหมาย เพื่อกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์ และวิธีดำเนินมาตรการงดถุงให้มีความชัดเจน
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยผ่านทางแฟนเพจเฟสบุ๊ค TOP Varawut – ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา  ระบุว่า นับตั้งแต่การประกาศเริ่มดำเนินโครงการ Everyday Say No To Plastic Bags อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา พี่น้องประชาชนไทยสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้ถึง 3,750 ล้านใบ จากการดำเนินนโยบายงดแจกถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งตามห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาเก็ต ร้านสะดวกซื้อ 90 แบรนด์ค้าปลีกที่เข้าร่วมโครงการ
ในการนี้ วราวุธ กล่าวขอบคุณประชาชนไทยทั่วประเทศที่ให้ความร่วมมือ ลดละเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วเมื่อไปจับจ่ายซื้อสินค้า ตามโครงการรณรงค์ดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาขยะมูลฝอยในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังจะช่วยลดการปนเปื้อนมลพิษจากขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
เขากล่าวว่า หากคนไทยทุกคนร่วมกันสละความสะดวกสบาย แก้ไขความเคยชินในการใช้ถุงพลาสติกอย่างฟุ่มเฟือย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คาดว่าตลอดทั้งปีนี้เราจะสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 45,000 ล้านใบ ลดการก่อขยะได้ถึง 225,000 ตัน ลดการใช้พื้นที่ฝังกลบขยะได้ถึง 616 ไร่ ทำให้ประเทศชาติประหยัดงบประมาณจัดการขยะได้ถึง 340 ล้านบาท
“ในตลอดปี พ.ศ.2563 นี้ พวกเราชาว ทส.พร้อมเดินหน้าทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ให้กลับคืนสู่พี่น้องประชาชนให้มากที่สุด แน่นอนครับว่าการเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่นี้ ต้องการความร่วมมือจากพวกเราพี่น้องคนไทยทุกคนมากที่สุด สู้ไปด้วยกันกับผมนะครับ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว
นอกเหนือจากการรณรงค์ลดการก่อขยะพลาสติกที่ขั้นตอนการบริโภค ด้วยการงดแจกงดใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งแล้ว วราวุธ เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังมุ่งเน้นการแก้ปัญหาขยะมูลฝอยและมลพิษขยะพลาสติกด้วย วิธีการการลดปริมาณขยะที่แหล่งกำเนิด และ การนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนแปรรูปขยะพลาสติกกลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ด้วยกระบวนการ UpCycling, การส่งเสริมการกำจัดขยะพลาสติก โดยการเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ, รวมไปถึงการรับเอาหลักการ Extended Producer Responsibility (EPR) หรือหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต ที่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นั้นๆ ควรจะเป็นผู้รับผิดชอบในการเก็บกู้ และจัดการขยะจากผลิตภัณฑ์ของตนให้เรียบร้อย มาปรับใช้เป็นกฏหมายในประเทศไทยในอนาคต
tesco
นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ผู้ใช้บริโภคจะต้องนำถุงผ้ามาเอง หลังจากห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่ในไทย งดแจกถุงพลาสติกตามโครงการของรัฐบาล / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
ในขณะที่ทางด้านนักวิชาการ ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste กล่าวว่า จากการสังเกตการดำเนินมาตรการงดแจกถุงพลาสติก ตามโครงการ Everyday Say No To Plastic Bags พบว่า ในภาพรวม ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือค่อนข้างดี เห็นได้จากประชาชนทั่วไปเริ่มพกถุงผ้าเวลาไปจับจ่ายสินค้าตามห้างมากขึ้น
ดร.สุจิตรา ประเมินว่า จากการดำเนินมาตรการงดแจกถุงในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา คาดว่าโครงการดังกล่าวสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ไม่น้อยกว่า 750-1,000 ล้านใบ ซึ่งถ้าหากร้านค้าและประชาชนปฏิบัติตามมาตรการงดแจกถุงอย่างเข้มงวด คาดว่าเราจะสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ไม่น้อยกว่า 66% หรือราว 9,000 – 13,500  ล้านใบ / ปี
“มาตรการงดแจกถุงของห้างค้าปลีกถือเป็นมาตรการที่ได้ผลค่อนข้างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการรณรงค์เชิงสมัครใจแบบเดิมๆที่เน้นเชิญชวนผู้บริโภคให้หันมาใช้ถุงผ้าใช้ซ้ำ แต่ร้านค้ายังคงแจกถุงพลาสติกฟรีอยู่ ซึ่งสามารถลดได้การใช้ถุงพลาสติกได้อย่างมากเพียงปีละประมาณ 2,000 ล้านใบ หรือเฉลี่ย 166 ล้านใบต่อเดือน เท่านั้น” ดร.สุจิตรา กล่าว
ถึงแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูต่อมาตรการงดแจกถุงว่า ก่อให้เกิดความไม่สะดวกสบายให้กับผู้บริโภค ทำให้ร้านค้ายอดขายตก หรือว่าการเก็บเงินค่าถุงเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ดร.สุจิตรา อธิบายว่า นั่นเป็นเพราะขณะนี้ยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังปรับตัวไม่ทัน หลายๆใช้วิธีคนหลีกเลี่ยงไม่ไปซื้อของในห้าง แต่หากเมื่อเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ละทิ้งความเคยชินในการใช้ถุงพลาสติกอย่างฟุ่มเฟือย การไม่มีถุงแจกฟรีก็จะกลายเป็นเรื่องปกติไป
“เรามองแต่ผลกระทบเล็กๆ แต่ไม่ได้มองภาพรวมของสังคมที่ได้จากการงดแจกถุงพลาสติกครั้งนี้  มองข้ามสิ่งที่สังคมโดยรวมจะได้รับจากการไม่มีถุงพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อม เช่น เราได้ช่วยลดความเสี่ยงที่สัตว์ป่าและสัตว์ทะเล กวาง เต่า วาฬ พะยูน นกทะเล ไม่ต้องตายจากการกลืนกินขยะถุงพลาสติก ลดความเสี่ยงน้ำท่วมในเมืองจากขยะพลาสติกอุดตันทางระบายน้ำ หรือลดความเสี่ยงการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารของเรา” เธอกล่าว
ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste
//ขอบคุณภาพจาก: สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แม้ว่าโครงการ Everyday Say No To Plastic Bags จะมีจุดแข็งที่การประสานความร่วมมือระหว่างรัฐและภาคเอกชน ในการลดขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ดร.สุจิตรา เน้นย้ำว่า โครงการนี้ก็มีจุดอ่อนที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขเช่นกัน นั่นก็คือ การที่มาตรการนี้ไม่ใช่กฎหมาย จึงทำให้ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินของมาตรการงดแจกถุงอย่างเป็นทางการ ดังนั้นแต่ละห้างจึงมีแนวทางการปฏิบัตินโยบายแตกต่างกัน ไม่สามารถบังคับให้ร้านค้าปลีกที่ร่วมโครงการปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด
“ด้วยเหตุนี้ เราจึงยังพบกรณีที่ร้านสะดวกซื้อบางแห่งยังคงให้ถุงพลาสติกสีขาวที่ไม่มีโลโก้ของร้านให้กับลูกค้าที่ขอถุงอยู่ อาจทำให้ร้านค้าอื่นๆ โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อหันมาแจกถุงฟรีให้ลูกค้าเช่นกัน ทำให้มาตรการนี้อาจไม่บรรลุผลเต็มที่” เธอกล่าว
โดยในระยะสั้น เธอเสนอให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรเรียกประชุมบริษัทที่เข้าร่วมโครงการเพื่อประเมินผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคที่พบ และกำหนดหลักเกณฑ์ที่ตรงกัน อย่างน้อย คือ ให้ระบุชัดเจนไปเลยว่า รัฐบาลให้ห้างค้าปลีกดำเนินมาตรการงดแจกถุงฟรี
สำหรับในระยะยาว รัฐบาลควรเร่งออกกฎหมายเพื่อรองรับมาตรการงดแจกถุงฟรี แต่ไหนๆ ก็จะออกกฎหมายแล้ว ก็ควรมองให้รอบด้าน มองปัญหาขยะเชิงบูรณาการ ออกกฎหมายบริหารจัดการขยะหรือกฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงต้องออกกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ผลิตเข้ามารับผิดชอบเพิ่มขึ้น (EPR) ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ง่ายต่อการใช้ซ้ำ ไปจนถึงการจัดระบบเก็บรวบรวมขยะบรรจุภัณฑ์และซากผลิตภัณฑ์โดยใช้กลไกมัดจำคืนเงินเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคส่งคืนบรรจุภัณฑ์หรือซากผลิตภัณฑ์เข้าสู่ระบบการรีไซเคิล
นอกจากนี้ เธอยังเรียกร้องให้ ธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลาสติก ต้องเร่งปรับตัวเช่นกัน เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากอัตราการบริโภคถุงพลาสติกที่ลดลง และรับมือกับกระแสโลกที่กำลังมุ่งให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

กรีนนิวส์ Live สด: “1 เดือนผ่านไป ตรวจข้อสอบภาคปฏิบัติแคมเปญงดแจกถุงพลาสติก”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad