ปริมาณการใช้หน้ากากอนามัยพุ่ง ก่อขยะพลาสติกนับแสนชิ้น – ไมโครพลาสติก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ปริมาณการใช้หน้ากากอนามัยพุ่ง ก่อขยะพลาสติกนับแสนชิ้น – ไมโครพลาสติก

หน้ากากอนามัยสะพัดมากกว่า 200,000 ชิ้น นักวิชาการเผยเป็นพลาสติกสติกรีไซเคิลไม่ได้ ก่อให้เกิดไมโครพลาสติก กทม.แนะทำสัญลักษณ์แยกทิ้ง ส่งเผารวมกับขยะติดเชื้อ

ผู้ประกอบการขายอาหารริมทางเปลี่ยนมาขายหน้ากากอนามัย / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

จากฝุ่น PM2.5 ถึงไวรัสโคโรน่า ผู้คนหันมาสวมหน้ากากอนามัยกันมากขึ้น ล่าสุด วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2563) รัฐบาลเปิดจำหน่ายหน้ากากอนามัยเป็นวันแรก ณ ทำเนียบรัฐบาล ติดต่อกันเป็นเวลา 15 วัน พร้อมทั้งตั้งจุดแจกฟรีรวมทั้งสิ้นเหยียบสองแสนชิ้น กรมการค้าภายใน เผยขณะนี้ปริมาณความต้องการหน้ากากอนามัยต่อเดือนถึง 40 – 50 ล้านชิ้น 
วรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) ชี้ว่า หน้ากากอนามัยและหน้ากาก N95 คือแผ่นพลาสติกน้ำหนักเบา โดยนำพลาสติก PE (Polyethylene) และ PP (Polypropylene) มาขึ้นรูปให้เป็นเส้นใยสังเคราะห์ ทอให้เป็นแผ่น แล้วพับเย็บให้เป็นหน้ากาก มีสัมผัสคล้ายกับผ้าสปันบอนด์ แต่ทอแน่นหนากว่า ดังนั้นจึงมีลักษณะคล้ายเสื้อผ้า เมื่อซักหรือขูดจะก่อให้เกิดไมโครไฟเบอร์ ซึ่งมักจะปนเปื้อนลงแหล่งน้ำและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร
ส่วนประกอบอื่นๆ ในหน้ากากนั้น ได้แก่ เชือกคล้องหูซึ่งทำมาจากพลาสติก ลวดสำหรับปรับให้เข้าโครงจมูกทำมาจากแผ่นพลาสติกขนาดเล็ก คล้ายกับที่ห่อถุงขนม หรือบางประเภทใช้เป็นลวดโลหะ มีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถรีไซเคิล ส่วนหน้ากากที่มีวาล์วสามารถแกะออกมารีไซเคิลรวมกับพลาสติกชนิดอื่นได้
“หน้ากากเป็นพลาสติกหมด ไม่มีวัสดุธรรมชาติเลย ต่างแต่ว่าจะผลิตยังไง เท่าที่ผมรู้ตอนนี้ ไม่มีวัสดุธรรมชาติอะไรที่จะผลิตเป็นหน้ากากราคาถูกแล้วทำออกมาได้คุณสมบัติแบบนี้” วรุณอธิบาย

ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมเดินสายรับทิ้งหน้ากากอนามัยและแลกหน้ากากอันใหม่ ก่อนนำหน้ากากส่งเผา กิจกรรมได้รับความสนใจจากนิสิตและบุคลากรจำนวนมาก / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

ด้านกทม. สุธิศา พรเพิ่มพูล ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เผยว่าปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขปริมาณขยะหน้ากากอนามัยที่แน่ชัด เนื่องจากจัดเก็บรวมกับขยะติดเชื้อประเภทอื่นจากโรงพยาบาล เดือนมกราคมที่ผ่านมา น้ำหนักขยะมูลฝอยติดเชื้อที่กทม. รวบรวมมีปริมาณ 43,160 กิโลกรัม/วัน เทียบเท่ากับช้างโตเต็มวัย 10 ตัว เพิ่มขึ้นจากปริมาณขยะมูลฝอยติดเชื้อเดือนธันวาคม 260 กิโลกรัม

ปริมาณขยะมูลฝอยติดเชื้อ จัดเก็บโดยสำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ตุลาคม 2561 – มกราคม 2563 // ขอบคุณภาพจาก: สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.

เธอแนะนำวิธีการทิ้งขยะหน้ากากโดยให้พับหน้ากากด้านสารคัดหลั่งเข้าข้างใน ห่อกระดาษ หรือใส่ถุงปิดมิดชิด แล้วทำสัญลักษณ์เฉพาะ เช่น เขียนบนถุงว่าเป็นหน้ากากอนามัยเพื่อให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะทราบ ทิ้งรวมกับขยะทั่วไป หรือสามารถนำหน้ากากอนามัยมาทิ้งกับศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่งและโรงพยาบาลสังกัดกทม. 9 แห่งได้ โดยขยะจะถูกส่งต่อไปเตาเผาขยะติดเชื้อที่อ่อนนุชและหนองแขม 
สุธิศาอธิบายว่าเตาเผาขยะติดเชื้อมีระบบฆ่าเชื้อมากกว่าเตาเผาขยะทั่วไป เช่น มีระบบกำจัดแก๊สพิษและเผาในอุณหภูมิที่ต่างกัน ปัจจุบันเตาเผาแบบนี้ยังมีไม่มากในประเทศไทย โดยมีในจังหวัดใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต
สำหรับผู้ที่ต้องการทิ้งขยะหน้ากากอนามัย สามารถส่งไปยัง โรงพยาบาล หรือ ศูนย์บริการสาธารณสุข ดังต่อไปนี้
ศูนย์บริการสาธารณสุข http://phn.bangkok.go.th/index.php?option=com_content&view=category&id=39&Itemid=67
โรงพยาบาลสังกัดกทม. http://www.bangkok.go.th/healthcenter12/page/sub/12821

ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad