หลักฐานประจักษ์ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงยื่นข้อมูลผลกระทบเขื่อนไชยะบุรีต่อศาลเพิ่ม - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

หลักฐานประจักษ์ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงยื่นข้อมูลผลกระทบเขื่อนไชยะบุรีต่อศาลเพิ่ม

แม่น้ำโขง
สภาพแม่น้ำโขงที่บ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มีระดับน้ำลดต่ำลงอย่างมาก นอกจากนี้น้ำในแม่น้ำยังใสผิดปกติ จนทำให้เกิดตะไคร่น้ำระบาด //ขอบคุณภาพจาก: ธิติ ปลีทอง
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงยื่นหลักฐานผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนไชยะบุรีต่อศาลปกครองสูงสุดเพิ่ม  กรณีการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี หลังพบความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของแม่น้ำโขงอย่างชัดเจน นับตั้งแต่เขื่อนไชยะบุรีเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เมื่อปีที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และทีมนักกฎหมายจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน รวมตัวกันยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีคดีเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนจากการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในแขวงไชยะบุรี ประเทศลาว โดยได้อ้างอิงถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากเขื่อนที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น  สภาวะน้ำแล้งเป็นประวัติการณ์ การขึ้นลงของระดับน้ำโขงที่ผันผวนผิดธรรมชาติ ตลอดจนปรากฎการณ์แม่น้ำโขงเปลี่ยนเป็นสีคราม หลังจากที่โครงการเขื่อนไชยะบุรีก่อสร้างแล้วเสร็จ และดำเนินการปั่นไฟเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ
ศาลปกครอง
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เดินทางมายื่นเอกสารข้อมูลผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นแล้วจากเขื่อนไชยะบุรี ต่อศาลปกครองสูงสุด ณ ศาลปกครองกลาง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ผู้แทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และผู้ฟ้องคดี เปิดเผยว่า การมาศาลปกครองครั้งนี้ เพื่อยื่นเอกสารเพิ่มเติมถึงรายละเอียดผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนไชยะบุรี ที่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนชาวไทยตลอดริมฝั่งโขงแล้ว นับตั้งแต่เขื่อนไชยะบุรีเริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
“นับตั้งแต่เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงเริ่มต้นฟ้องคดีเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา ภาคประชาชนได้ย้ำเตือนมาตลอดถึงผลกระทบร้ายแรงจากการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้ากั้นแม่น้ำโขงสายประธาน จนกระทั่งในที่สุดผลกระทบที่ประชาชนเคยกังวล ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างชัดเจน ทั้งจากการขึ้นลงของระดับน้ำอย่างผิดธรรมชาติ และการเกิดสภาวะแม่น้ำขาดตะกอน ที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อพันธุ์สัตว์น้ำ และระบบนิเวศแม่น้ำ สร้างความเสียหายให้กับการประมง และการทำเกษตร อันเป็นวิถีชีวิต และแหล่งรายได้หลักของประชาชนในทั้ง 4 ประเทศท้ายน้ำ” อ้อมบุญ กล่าว
“นอกจากนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในแขวงไซยะบุรี ในลาวเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สร้างความวิตกกังวลแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ทางท้ายน้ำของเขื่อน ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคอีสานเป็นอย่างมาก เพราะเขื่อนไม่เคยเปิดเผยแผนรับมือภัยพิบัติ ว่าหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวแล้วจะมีมาตรการรับมืออย่างไร”
ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ส รัตนมณี พลกล้า กล่าวภายหลังการยื่นหลักฐานผลกระทบข้ามพรมแดนของโครงการเขื่อนไชยะบุรีต่อศาลปกครองสูงสุดว่า ภาคประชาชนหวังว่าหลังจากนี้ ศาลจะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไชยะบุรี ของ กฟผ. ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนจากการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนไชยะบุรี สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วลุ่มน้ำโขง อันถือเป็นการละเมิดสิทธิข้ามพรมแดน

ส รัตนมณี ชี้ว่า แม้ว่าเขื่อนไชยะบุรีจะเป็นโครงการภายนอกประเทศ แต่ก็ถือว่าเป็นโครงการลงทุนโดยกลุ่มธุรกิจไทย อีกทั้งพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนไชยะบุรียังจำหน่ายให้แก่ไทย จากการทำสัญญาซื้อไฟฟ้ากับกฟผ. ดังนั้นประเทศไทยจึงปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนไชยะบุรีไม่ได้
“ขณะนี้ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการชาติเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) ที่จะต้องควบคุมให้เกิดการรับผิดชอบร่วมจากทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ต่อการป้องกันการละเมิดสิทธิจากการประกอบธุรกิจ โดยแผน NAP ยังครอบคลุมถึงโครงการการลงทุนโดยผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ” ส รัตนมณี กล่าว
เธอกล่าวย้ำว่า ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐและภาคธุรกิจไทยจึงมีพันธกิจในการคุ้มครองดูแลไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิจากโครงการเขื่อนไชยะบุรี ซึ่งศาลยุติธรรมไทยยังถือเป็นอีกหนึ่งในเสาหลักในการป้องกันการละเมิดสิทธิจากการประกอบธุรกิจ หรือการลงทุนไทยในต่างแดนเช่นกัน และคาดหวังว่าศาลปกครองจะเป็นกลไกที่ก่อให้เกิดการคุ้มครองและเยียวยาทั้งต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม
“หากชนะคดีนี้ ก็ต้องมีการเริ่มทำกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ในประเทศไทย หน่วยรัฐไทยต้องเข้าไปในการติดตามกระบวนการ PNPCA อย่างถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความเห็นต่อโครงการเขื่อนไซะบุรีอย่างที่ควรจะเป็น และต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนไซยะบุรี และรัฐต้องนำข้อห่วงกังวลของประชาชนไปเสนอในการประชุมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ในฐานะรัฐสมาชิกของ MRC” ทนายความกล่าว
เขื่อนไชยะบุรี
เจ้าหน้าที่บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด กำลังอธิบายแผนผังเทอร์ไบน์ปั่นไฟของเขื่อนไชยะบุรี ภายในห้องควบคุมระบบปฏิบัติการของเขื่อน / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
อนึ่ง เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ขอให้มีการทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 อย่างไรก็ดี การพิจารณาคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สิ้นสุด โดยในขณะนี้ คดีดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนในชั้นศาลปกครองสูงสุด
เขื่อนไชยะบุรี เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง บริเวณแขวงไชยะบุรี ทางตอนเหนือของประเทศลาว มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ เขื่อนแห่งนี้ตั้งอยู่เหนือน้ำจากชายแดนไทยที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ประมาณ 200 กิโลเมตร โดยมี บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ช.การช่าง เป็นบริษัทผู้ลงทุนและบริหารโครงการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad