“พาณิชย์”แจ้งข่าวดีส่งออกไทย เชื่อมระบบ e-Form D อาเซียนครบทั้ง 10 ประเทศแล้ว - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

“พาณิชย์”แจ้งข่าวดีส่งออกไทย เชื่อมระบบ e-Form D อาเซียนครบทั้ง 10 ประเทศแล้ว

img

กรมการค้าต่างประเทศแจ้งข่าวดีผู้ส่งออกไทย ล่าสุดเชื่อมบริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า e-Form D ผ่านระบบ ASEAN Single Window ครบทั้ง 10 ประเทศแล้ว หลังผลักดันฟิลิปปินส์เชื่อมโยงสำเร็จพร้อมกับเมียนมา และสปป.ลาว เผยใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา มั่นใจทำให้การค้าในอาเซียนคล่องตัว พร้อมเล็งต่อยอดเชื่อมระบบกับคู่เจรจา FTA ของอาเซียนต่อไป

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Form D ภายใต้ ASEAN Single Window (ASW) อย่างเต็มรูปแบบ โดยล่าสุดสามารถเชื่อมโยง e-Form D กับประเทศสมาชิกอาเซียนครบ 10 ประเทศแล้ว หลังจากผลักดันฟิลิปปินส์เชื่อมโยงสำเร็จเป็นประเทศสุดท้าย โดยได้เริ่มให้บริการพร้อมกับประเทศเมียนมา และ สปป. ลาว ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.2563 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการในประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ สามารถใช้ e-Form D ประกอบการดำเนินพิธีการทางศุลกากรเพื่อขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีลดหย่อน ยกเว้นภาษีนำเข้า ณ ประเทศอาเซียนปลายทาง แทนการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form D ที่เป็นกระดาษ แต่ก็ยังยกเว้นกรณีระบบมีปัญหา ผู้ส่งออกสามารถมาขอ Form D แบบกระดาษเพื่อใช้สิทธิฯ ได้

ทั้งนี้ การเชื่อมระบบ e-Form D กับอาเซียนครบ 10 ประเทศ นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเจรจากับประเทศคู่ค้าภายใต้กรอบ FTA อื่นๆ โดยเฉพาะกรอบความตกลงอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (ASEAN Plus) ที่ประเทศอาเซียนมีความตกลงกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น จีน เกาหลีใต้ และอินเดีย เพื่อขยายการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ประสบผลสำเร็จได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสามารถต่อยอดจากกรอบอาเซียนได้

“ถือว่ากรมฯ บรรลุผลสำเร็จขั้นแรกจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบการให้บริการให้เป็นแบบไร้กระดาษ (paperless) และยังมั่นใจว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า เนื่องจากช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ เพิ่มความโปร่งใส รวมทั้งเป็นการยกระดับงานบริการของกรมฯ ให้ตอบสนองความต้องการต่อรูปแบบการค้าของภาคเอกชนในปัจจุบันได้มากยิ่งขึ้นด้วยนวัตกรรมดิจิทัล และในที่สุดจะช่วยเอื้อให้การค้าขายภายในอาเซียนมีความคล่องตัว และเพิ่มมูลค่าการค้าขายในอาเซียนได้อย่างแน่นอน”นายกีรติกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad