ดีไอทีพี ดีเอฟที และ EXIM โชว์ 4 มาตรการเพิ่มความอุ่นใจ รับมือสหรัฐฯตัดสิทธิ “จีเอสพี” แนะผปก.ต้องตีตลาดใหม่ พร้อมใช้ออนไลน์เป็นทางลัดขยายสู่ตลาดตปท. - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ดีไอทีพี ดีเอฟที และ EXIM โชว์ 4 มาตรการเพิ่มความอุ่นใจ รับมือสหรัฐฯตัดสิทธิ “จีเอสพี” แนะผปก.ต้องตีตลาดใหม่ พร้อมใช้ออนไลน์เป็นทางลัดขยายสู่ตลาดตปท.


ดีไอทีพี ดีเอฟที และ EXIM โชว์ 4 มาตรการเพิ่มความอุ่นใจ รับมือสหรัฐฯตัดสิทธิ “จีเอสพี” แนะผปก.ต้องตีตลาดใหม่ พร้อมใช้ออนไลน์เป็นทางลัดขยายสู่ตลาดตปท.

          กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เร่งวางมาตรการรับมือสหรัฐฯ ระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ภายหลังมาตรการมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 เมษายน 2563 ด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ 1.เร่งกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าไทย รวมถึงสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิจีเอสพีในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ 2.ผลักดันผู้ประกอบการไทยให้สามารถใช้ประโยชน์จากการค้าออนไลน์เป็นช่องทางลัดในการขยาดตลาดสู่ต่างประเทศ 3. จัดอบรมให้ความรู้ เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการค้าต่างๆ รวมถึงมาตรการจากภาครัฐ ให้แก่ผู้ประกอบการทราบอย่างทันท่วงที 4.ส่งเสริมการพัฒนาและเพิ่มมูลค้าสินค้า ด้วยการสร้างเรื่องราวแบรนด์ นวัตกรรม และการตลาด ล่าสุด ได้มีการจัดโครงการเสวนาในหัวข้อ "ตัดสิทธิ GSP : SMEs รับมืออย่างไร?" เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐได้มีการช่วยเหลือและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ พร้อมเปิดโอกาสรับฟังถึงสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขและรับมือร่วมกัน

          ดร. สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ใน ฐานะประธานในพิธีเปิดโครงการเสวนาในหัวข้อเรื่อง "ตัดสิทธิ GSP : SMEsรับมืออย่างไร?" กล่าวว่า "ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2562 มีมูลค่า 482,884 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกานั้น สหรัฐอเมริกานับเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย เป็นคู่ค้าลำดับที่ 3 ด้วยมูลค่าการค้ารวม 48,649 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของการส่งออกไทย โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีประกาศตัดสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (GSP : Generalized System of Preferences) กับประเทศไทย โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 เมษายน 2563 จำนวน 573 รายการ (จากสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ประมาณ 3,500 รายการ) สำหรับสินค้าสำคัญที่ถูกระงับสิทธิ GSP อาทิ มอเตอร์ไซค์ แว่นสายตา เครื่องจักรกลและ อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น ส่งผลให้คาดการณ์ว่า เมื่อมาตรการมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 เมษายน 2563 มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ จะมีมูลค่าลดลง ประมาณ 28-32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.01 ของมูลค่าการส่งออกรวม นอกจากนี้ คาดการณ์ว่า การที่ไทยถูกตัดสิทธิ์ GSP ดังกล่าว ทำให้ต้นทุนส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.5
          ดังนั้นการจัดงานครั้งนี้ จึงมีจุดประสงค์เพื่อ 1) สร้างความรู้ความเข้าใจข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ GSP และข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการตัดสิทธิ GSP 2) เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าวอย่างถูกต้อง และการปรับตัวอย่างไรให้ศักยภาพการแข่งขันยังคงอยู่ และ 3) ให้มองวิกฤติเป็นโอกาส ทั้งในมุมมองของหนึ่ง การแสวงหาการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพทดแทนตลาดเดิม อาทิ การนำเสนอโอกาสในตลาดตะวันออกกลาง และตลาดลาตินอเมริกาโดยทูตพาณิชย์ สอง การใช้เครื่องมือทางการเงินที่จะมาสนับสนุนในการเสริมสภาพคล่องการค้าการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการ จากธนาคารของรัฐ เช่น EXIM Bank เป็นต้น
          นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า "กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่พัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจสินค้าส่งออก ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว จึงได้มีการหารือเพื่อจัดตั้งคณะทำงานภายในกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ และร่วมกับหน่วยงานภายนอก คือธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM Bank of Thailand) รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมมือหาแนวป้องกันในกรณีดังกล่าว เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกไทยให้สามารถรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไปของกรณีที่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้มีประกาศเตรียมยกเลิกสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี ภายใต้ระบบ GSP กับประเทศไทยให้เข้าใจอย่างละเอียด ดังนั้น กรมฯ จึงได้วางมาตรการรับมือ 4 รูปแบบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้
          - เร่งกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าไทย รวมถึงสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิจีเอสพี ในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ โดยมีตลาดเป้าหมายในปีนี้ ได้แก่ ตลาดจีน / อินเดีย / กลุ่มประเทศ CLMV / กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง / กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ซึ่งยังถือได้ว่ายังคงมีศักยภาพที่พร้อมต้อนรับสินค้าไทยในตลาดทางเลือกใหม่ๆ
          - ผลักดันผู้ประกอบการไทย ให้สามารถใช้ประโยชน์จากการค้าออนไลน์เป็นช่องทางลัด ในการขยาดตลาดสู่ต่างประเทศ ผ่าน Thaitrade.com รวมถึงเร่งเปิด Top Thai Flagship Store ร้านขายสินค้าไทยบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์สชั้นนำของต่างประเทศ (จีน อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย) ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันความนิยมของสินค้าไทยในตลาดซื้อขายออนไลน์ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนสินค้าคุณภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สัญชาติไทยให้สามารถเจาะตลาดต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วขึ้น
          - ให้ความรู้กับผู้ประกอบการผ่านการเสวนา/อบรม ด้วยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงแนะนำข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบและต้องการหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดสหรัฐฯ รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับทราบถึงมาตรการภาครัฐ รวมถึงมาตรการด้านสินเชื่อต่างๆ จากธนาคารภาครัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เป็นต้น
          - พัฒนาและเพิ่มมูลค้าสินค้า ด้วยแบรนด์ นวัตกรรม และการตลาดอย่างต่อเนื่อง เน้นการตอบสนองต่อความต้องการของพฤติกรรมของผู้ซื้อในแต่ละประเทศ ตอบสนองต่อกระแสตลาดโลก อาทิ สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าเพื่อสุขภาพ และสินค้าที่ตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้าเฉพาะ(Niche Market)
          นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) เปิดเผยว่า ในฐานะที่สถาบันฯ ได้รับมอบหมายให้เป็นส่วนช่วยให้ความรู้ถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ล่าสุด NEA จึงได้จัดโครงการเสวนาในหัวข้อเรื่อง "ตัดสิทธิ GSP : SMEs รับมืออย่างไร?" เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐได้มีการช่วยเหลือและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ หรือธุรกิจที่ได้รับและคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว ได้มีโอกาสรับฟังถึงปัญหาสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขและรับมือร่วมกันอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้กระทบกับภาคธุรกิจและภาคเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ การเสวนาในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับความรู้ รวมถึงอัพเดตสถานการณ์ปัญหาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลแล้วนั้น ยังมีการร่วมแชร์ประสบการณ์ตรงจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบและเข้าข่ายว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อเรียนรู้และเตรียมตัวรับมือให้พร้อมก่อนซึ่ง มั่นใจว่า จะช่วยกระตุ้นความตื่นตัวของผู้ประกอบการให้สามารถวิเคราะห์และวางแผนล่วงหน้าในการจัดการสถานการณ์การค้าโลกได้ทันท่วงที ประกอบกับสามารถพลิกทุกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดประเทศใหม่ๆได้อีกด้วย
          "NEA มีความต้องการให้ผู้ประกอบการไทยติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างไทย – สหรัฐ และสถานการณ์การค้าโลกเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ทันกับบริบทต่าง ๆ พร้อมนำมาปรับใช้ในทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยยังต้องศึกษากิจกรรมและโครงการส่งเสริมการขายจากหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานเอกชน ซึ่งจะมีเทคนิคและองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถนำมาประยุกต์ใช้ทั้งในเรื่องของการวางกลยุทธ์ แผนการตลาด แผนการจัดการความเสี่ยง ฯลฯ ได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมาของ NEA มีโครงการและกิจกรรมที่สอดคล้องกับผู้ประกอบการอย่างหลากหลาย เช่น โครงการพัฒนานักส่งออกอัจฉริยะ(Young Exporter from Local to Global) โครงการสัมมนาครบเครื่องเรื่องการค้าออนไลน์ และล่าสุดโครงการเสวนา "สถานการณ์ตลาด 3 ภูมิภาค" ที่จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกไปยังตลาดใหม่อย่าง จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศ CLMV เป็นต้น
          ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของโครงการหรือกิจกรรมอื่นๆ ของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ได้ที่ nea.ditp.go.th หรือwww.ditp.go.th หรือ www.facebook.com/nea.ditp หรือ สายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad