กฟผ.–ทส.–GIZ ชูความสำเร็จกองทุน RAC NAMA ผลักดันนวัตกรรมเทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียว เน้นประสิทธิภาพสูง ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

กฟผ.–ทส.–GIZ ชูความสำเร็จกองทุน RAC NAMA ผลักดันนวัตกรรมเทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียว เน้นประสิทธิภาพสูง ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


กฟผ.–ทส.–GIZ ชูความสำเร็จกองทุน RAC NAMA ผลักดันนวัตกรรมเทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียว
เน้นประสิทธิภาพสูง ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประกาศความสำเร็จของกองทุน RAC NAMA ผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของประเทศไทย จำนวน 9 ราย หันมาใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างฯ จำนวน 8 แห่งทั่วประเทศ โดยมีครูต้นแบบที่ผ่านการอบรมแล้วกว่า 150 คน


วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2563) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน “Green Cooling Revolution: RAC NAMA Fund and the Future of Thai Industry” โดยมี นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ.  นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย นางมาร์กาเร็ต ทังก์ อุปทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ร่วมงานเป็นจำนวนมาก ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ


นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง          การส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ว่า รัฐบาลกำหนดนโยบายให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญต่อนโยบายการลดใช้สารทำความเย็นที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน พร้อมส่งเสริมการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ซึ่งมีค่าศักยภาพการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) ในระดับต่ำ โดยผสมผสานรูปแบบการสร้างโอกาสทางธุรกิจ การวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ร่วมกับการจัดการปัญหาทางสิ่งแวดล้อม การลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20 – 25 ภายในปีพ.ศ. 2573  ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) พร้อมกันนี้ขอแสดงความขอบคุณรัฐบาลเยอรมัน รัฐบาลอังกฤษ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ได้เสริมสร้างความร่วมมือ และสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ เทคโนโลยี และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อันนำมาซึ่งผลสำเร็จของกองทุนฯ


นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ในฐานะผู้รับทุนในนามรัฐบาลไทย ได้ร่วมกับ GIZ ดำเนินโครงการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของประเทศไทยสู่การใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย กฟผ. ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุน RAC NAMA มาตั้งแต่ปี 2560 จำนวน 8.3 ล้านยูโร (ประมาณ 300 ล้านบาท) เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นธรรมชาติ ทั้งด้าน การผลิต การบริโภค และภาคบริการ โดยในระยะเวลากว่า 2 ปี กฟผ. ได้สนับสนุนเงินทุนผ่านมาตรการทางการเงินต่างๆ ได้แก่ 1) เงินสนับสนุนกระตุ้นการใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค จำนวนกว่า 10 ล้านบาท สำหรับสินค้าที่ออกสู่ตลาดแล้ว ทำให้สามารถกระตุ้นยอดการซื้อตู้เย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติได้กว่า 15,000 เครื่อง และประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 1.1 ล้านหน่วยต่อปี 2) เงินสนับสนุนระยะสั้นปลอดดอกเบี้ย ระยะเวลา 1 ปี ให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นไทยเพื่อช่วยสร้างสภาพคล่องทางการเงินในการลงทุนสำหรับการปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่การใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นธรรมชาติ จำนวน 52 ล้านบาท 3) เงินอุดหนุนแบบให้เปล่าให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นไทย สำหรับการปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่การใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นธรรมชาติ จำนวนกว่า 90 ล้านบาท 4) เงินอุดหนุนสำหรับการจัดหาอุปกรณ์สำหรับฝึกอบรมและจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม 8 แห่งทั่วประเทศ จำนวน 15 ล้านบาท และ 5) เงินสนับสนุนปลอดดอกเบี้ยสำหรับการดำเนินงานมาตรการทางการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขายของเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น จำนวนกว่า 155 ล้านบาท
รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปีนี้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นธรรมชาติจะเริ่มออกสู่ตลาดในประเทศ โดยคาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์กว่า 100,000 เครื่อง และจะมีส่วนแบ่งการตลาด กว่าร้อยละ 50 ในอีก 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปยังตลาดภูมิภาคยุโรปและประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้คาดว่าปริมาณผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาดจนถึงปี 2573 จะสามารถช่วยประหยัดการใช้พลังงานได้สูงถึง 3,500 ล้านหน่วยต่อปี
นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศเยอรมนีเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรม วิศวกรรมและเทคโนโลยีของโลก ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ประเทศเยอรมนีมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยประเทศไทยและเยอรมนีได้ร่วมกันดำเนินงานเพื่อรับมือกับปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมมามากกว่า 10 ปี ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมการทำความเย็นของประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกที่สำคัญของโลก ประเทศเยอรมนีจึงภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้เทคโนโลยีสีเขียว รวมถึงประสบการณ์และองค์ความรู้จากการดำเนินงานของกองทุน RAC NAMA ซึ่งควรได้รับการถ่ายทอดไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วย


นางมาร์กาเร็ต ทังก์ อุปทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า กองทุน RAC NAMA ถือเป็นกองทุนแรกของประเทศไทยที่มีการพัฒนากลไกการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษและเยอรมนีผ่านกองทุน NAMA Facility ในการดำเนินโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการปรับปรุงเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแผนที่วางไว้ และผลสำเร็จของกองทุน RAC NAMA แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ต่อประชาคมโลก














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad