พบศาลเจ้าแหล่งก่อ PM2.5 ตรุษจีนนี้ ชวนลดมลพิษจากพิธีไหว้ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

พบศาลเจ้าแหล่งก่อ PM2.5 ตรุษจีนนี้ ชวนลดมลพิษจากพิธีไหว้

นักวิจัยลงพื้นที่ตรวจวัดฝุ่นกลางเยาวราช พบค่าฝุ่นสูงเกินเกณฑ์จากการจุดธูปเทียนบูชาวันตรุษจีน วัดมังกรปรับรับภาวะฝุ่น ลดจำนวนธูป เตรียมเป็นต้นแบบศาลเจ้าสมัยใหม่นับหมื่นทั่วไทย
ผู้มาสักการะปักธูปในกระถางหน้าพระอุโบสถ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
วันนี้ (24  มกราคม พ.ศ. 2563) นับเป็นวันสิ้นปีตามความเชื่อชาวจีน  เป็นวันไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ ดังนั้นจึงมีการจุดธูปเทียนและเผาเครื่องกระดาษตามประเพณีจำนวนมาก คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงลงพื้นที่ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ณ วัดมังกรกมลาวาส ชุมชนเยาวราช กรุงเทพฯ 
ผลตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 เวลา 10.00 น. พบความเข้มข้นสูง 165 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานของไทยที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร  จากการลงพื้นที่ตรวจวัดก่อนหน้าช่วงเทศกาล พบว่าศาลเจ้าเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 โดยอยู่ในช่วง 60-120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ตรวจวัดเป็นเวลา 5 นาที) ซึ่งความเข้มข้นจะมีค่าสูงมากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณธูปและกระดาษไหว้เจ้าที่ประชาชนจุดหรือเผาเพื่อประกอบพิธี
ค่าความเข้มข้นฝุ่น เวลา 10.00 น. 0.165 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
“ประเพณีความเชื่อและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เราห้ามไม่ได้ แต่เราต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นควัน เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะเราซื้อธูปมาไหว้ ก็เลยยังมีธูปขายอยู่”
ดร. วุฒิชัย อารักษ์โพชฌงค์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในนักวิจัยในโครงการ กล่าว
วัดมังกรนอกจากจะเป็นสถานที่ให้บริการทางความเชื่อแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีผู้แวะเวียนมาจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันหยุดช่วงเทศกาลที่มีมากถึงหลายหมื่นคนต่อวัน โดยปัจจุบันผู้มาไหว้จะจุดธูปคนละ 15 ดอกเพื่อบูชาเทพเจ้า
พระธวัชชัย แก้วสิงห์ ดร. ผู้ช่วยอาวาสวัดมังกรกมลาวาส เล่าถึงการตระหนักรู้เรื่องวิกฤตฝุ่นและความพยายามปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติของวัด ทางวัดได้ย้ายกระถางธูปจากในอาคารออกมาที่แจ้งและปรับลดจำนวนลง เพื่อลดจำนวนธูปสำหรับใช้สักการะ โดยสมัยก่อนมีถึง 50 กระถางเพื่อบูชาเทพแต่ละวิหาร ก่อนที่วัดจะลดปริมาณกระถางลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันเหลือเพียง 5 กระถาง ใช้ธูป 3 ดอกต่อกระถาง ดังนั้นจึงเหลือเพียง 15 ดอกต่อคน
นอกจากนั้นวัดมังกรยังติดแอร์และเครื่องกรองอากาศภายในอาคาร ลดการใช้ธูปในชุดเครื่องบูชาภายในพระอุโบสถ และยกเลิกการเผาเครื่องบูชากระดาษภายในวัดได้เป็นเวลา 4 ปี เนื่องจากส่งผลกระทบต่อชุมชนใกล้เคียง ปัจจุบันรวบรวมนำไปเผาในพื้นที่ต่างจังหวัด และจะมีการหารือเพื่อหาแนวทางใหม่หลังจากรัฐได้ออกมาตราการห้ามเผาใดๆ 
“อาตมาคิดว่ามันอยู่ที่เราตั้งจิตอธิฐานมากกว่า เครื่องไหว้เป็นแค่กุศโลบาย ในอนาคตถ้าจะมีการปรับเปลี่ยนเรื่องธูปมากกว่านี้ เช่น ไม่มีการใช้ธูปเลย ทุกวันนี้เราประชาสัมพันธ์และติดป้ายขอความร่วมมือ อาจจะมีปัญหากับคนอายุมากที่เคยมาแล้วสังเกตว่าเปลี่ยนไปไม่เหมือนสมัยก่อน แต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ อธิบายแล้วเขาก็เข้าใจ”
เครื่องถวายภายในพระอุโบสถ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
ผู้มาสักการะปักธูปในกระถางหน้าพระอุโบสถ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีศาลเจ้าราวสองหมื่นแห่งทั่วประเทศไทย โดยมี 261 แห่งในกรุงเทพฯ ย่านเยาวราช – เจริญกรุงเป็นย่านที่มีศาลเจ้ามากที่สุดเป็นจำนวน 22 แห่ง
วุฒิชัย นักวิจัยสายสังคมซึ่งยังมีความสนใจส่วนตัวด้านศาลและเทพเจ้าจีน เชื่อว่าวัดมังกรสามารถเป็นต้นแบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในศาลเจ้าให้แก่ศาลเจ้าแห่งอื่นๆ ในไทย งานวิจัยที่เขาและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรมีส่วนร่วมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนทุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อพัฒนาทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมในย่านเยาวราช โครงการระยะเวลา 15 เดือนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอแนวทางต่อให้สังคม 
เขาเล่าถึงแนวทางลดปัญหามลพิษจากพิธีกรรมที่เป็นไปได้ คือ การพัฒนาเครื่องบูชากระดาษที่ใช้ปริมาณกระดาษน้อยลง แต่มีรูปลักษณ์สวยงามเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบอาชีพขายสินค้าเหล่านี้ และการใช้เตาเผาแบบไร้มลพิษ โดยรัฐบาลอาจเป็นเจ้าภาพรับเครื่องกระดาษที่เสร็จจากการประกอบพิธีกรรมจากชาวบ้านเพื่อนำไปจัดการต่ออย่างเหมาะสม 
ร้านค้าในเยาวราชขายของสำหรับเทศกาลปีใหม่จีนและเผากระดาษเงินกระดาษทอง / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
นอกจากปัญหาฝุ่นควันจากการเผาแล้ว ทีมวิจัยยังได้ตรวจวัดความดังของการใช้เสียงและแหล่งกำเนิดในพื้นที่วัดและชุมชน ซึ่งหากดังมากเกินไปเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อระบบการฟัง
โครงการดังกล่าวกำลังขยายความร่วมมือกับหน่วยงานจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐสามารถเข้ามามีบทบาทผลักดัน เพราะกระทรวงมหาดไทยมีศาลเจ้าใต้ความดูแล 679 แห่งซึ่งสามารถนำร่องการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ 
  “เรากำลังแสวงหาแนวทางจัดการสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานวัฒนธรรมของเยาวราชที่ยังคงดำรงอยู่ งานวิจัยพวกเราไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงเยาวราชไม่ให้มีการไหวเจ้าอยู่ แต่จะไหว้อย่างไรให้ไม่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและกระทบต่อชุมชนกับสังคม”
วุฒิชัยชี้แจ้งจุดประสงค์โครงการ เขาทิ้งท้ายว่า
“เรากำลังสร้างการรับรู้แบบใหม่ให้คนในสังคมรับรู้ว่าเราจะไหว้เจ้าอย่างไรให้เหมาะสมและไม่สร้างผลกระทบในปัจจุบัน”

ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad