Tesla ช่วยให้จีน ครองโลกยานยนต์ไฟฟ้า (2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

Tesla ช่วยให้จีน ครองโลกยานยนต์ไฟฟ้า (2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

สนนราคาของรถยนต์รุ่นแรก...เย้ายวนใจ
เหตุผลสำคัญเบื้องหลังการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีนก็คือ มาตรการส่งเสริมของภาครัฐ อาทิ มาตรการด้านภาษีแก่ผู้ผลิตภายในประเทศ ซึ่งนอกจากไม่ต้องเสียอากรนำเข้าที่สูงแล้ว รถยนต์ที่ผลิตในจีนยังได้รับประ โยชน์จากต้นทุนการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ในประเทศที่ตํ่ากว่า และการได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากราคาที่ดินที่ถือครองที่สูงขึ้น
ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนก็ยังให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคที่ซื้อหารถยนต์ไฟฟ้า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า จำนวนป้ายทะเบียนรถในเมืองใหญ่ของจีนถูกควบคุมโดยรัฐบาล การจะเป็นเจ้าของรถยนต์ในจีนจำเป็นต้องมีป้ายทะเบียนรถ บ่อยครั้งเรื่องเงินจึงไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่ผู้ต้องการเป็นเจ้าของรถในเมืองใหญ่ต้องประมูลแข่งราคาบ้าง หรือรอโชคจากการหมุนลอตเตอรี่ป้ายทะเบียนบ้าง ซึ่งบางคนไม่มีโชคก็ต้องรอกันหลายปีก็มี
นับแต่ปี 2014 นครเซี่ยงไฮ้ได้นำร่องมาตรการส่งเสริมการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าชุดใหญ่ โดยอนุญาตให้ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้รับป้ายทะเบียนรถโดยอัตโนมัติ (โดยไม่ต้องรอคิว) และยกเว้นภาษีป้ายที่มีมูลค่าสูงถึงราว 400,000 บาท แถมยังสามารถใช้รถดังกล่าวได้ในทุกพื้นที่ (แม้กระทั่งพื้นที่ที่มีปัญหามลพิษทางอากาศสูง)
หลังจากนั้นไม่นาน เมืองหลักอื่นๆ อันได้แก่ ปักกิ่ง เสินเจิ้น หังโจว กวางโจว และเทียนจิน ก็ออกมาตรการที่คล้ายคลึงเช่นกัน ซึ่งเมืองเหล่านี้ล้วนกลายเป็นเมืองที่ Tesla มียอดจำหน่ายรถจำนวนสูงสุดในเวลาต่อมา สิ่งนี้สะท้อนว่ามาตรการดังกล่าวโดนใจเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ดี มัสก์ทราบ ดีว่า มาตรการดังกล่าวไม่ใช่มาตรการเฉพาะสำหรับ Tesla และเป็นมาตรการที่จะไม่อยู่ถาวร แถมสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มปะทุในเดือนกรกฎาคม 2018 ก็ทำให้รถยนต์นำเข้าของ Tesla ก็ต้องเสียอากรนำเข้าที่สูงขึ้น บริษัทจึงตัดสินใจงัดเอากลยุทธ์การส่งเสริมการขายมาเป็นตัวชูโรง โดยประกาศลดราคาถึง 2 ครั้งในปีดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบด้านราคาต่อผู้บริโภคและการรักษาเสถียรภาพในตลาดจีน
โดยที่ปี 2019 ดูจะเป็นปีที่ Tesla อุดมไปด้วยข่าวเชิงบวก กล่าวคือในเดือนตุลาคม 2019 Tesla ได้รับการประเมินว่าได้ก้าวแซงหน้าบีวายดี (BYD) ขึ้นเป็นผู้นำของวงการรถยนต์ไฟฟ้าในเวทีโลก ตามด้วยการเปิดตัวรถชุดแรกที่ผลิตจากโรงงานเซี่ยงไฮ้
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อให้มั่นใจว่าราคาเปิดตัวรถรุ่นแรกที่ผลิตในจีนเร้าใจคนจีนอย่างแท้จริง มัสก์ก็เดินทางเข้าพบท่านหลี เสี่ยวเผิง (Li Xiaopeng) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการขนส่ง และท่านซิน กั๋วปิน (Xin Guobin) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อขอรับคำยืนยันเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีการบริโภค แก่ผู้ซื้อรถยนต์ Tesla ในจีน
หลังจากนั้นไม่นานบริษัทก็ประกาศราคาขายรถยนต์โมเดล 3 ซีดาน (Model 3 Sedan) ที่ 299,500 หยวน ภายหลังการลดราคาครั้งใหม่ (9%) และการอุดหนุนของภาครัฐ (16%) พูดง่ายๆ ว่า หากจ่าย 3 แสนหยวนก็จะมีเงินทอนมากพอที่จะพาสมาชิกครอบครัวไปฉลองรถคันใหม่กันได้สักมื้อ
การเปิดตัวด้วยระดับราคาดังกล่าวนำไปสู่กระแส 2 ด้านในตลาดจีน ในด้านหนึ่ง ผู้บริโภคชาวจีนต่างยิ้มรับราคาที่เย้ายวนใจอย่างมีความสุข Tesla ยังประเมินว่าจะสามารถเพิ่มความสุขให้แก่ลูกค้าในจีนได้อีกมากทั้งในเชิงราคาและคุณภาพ โดยผ่านหลากหลายวิธีการ อาทิ การเพิ่มปริมาณการผลิตจนเกิดความประหยัดอันเนื่องจากขนาด (Economy of Scale) และการขยายสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์จากผู้ผลิตภายในประเทศ
ตัวอย่างเช่น แบตเตอรี่ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้า มีต้นทุนการผลิตที่ลดลงราว 1 เท่าตัวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และมีกำลังความจุกระแสไฟฟ้ามากขึ้นจนทำให้รถยนต์สามารถวิ่งได้ ถึง 600 กิโลเมตรในปัจจุบัน ซึ่งตอบสนองต่อพฤติกรรมการชอบขับรถระยะทางไกลของคนจีน
แถมคลัสเตอร์อุตสาหกรรม ยานยนต์ไฟฟ้าจีนเกือบทั้งหมดก็กระจุกตัวอยู่บริเวณพื้นที่ปากแม่นํ้าแยงซีเกียง ซึ่งครอบคลุมเซี่ยงไฮ้-เจียงซู-อันฮุย-เจ๋อเจียง ทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์และบริการของเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นายชุย ตงฉู่ (Cui Dongshu) เลขาธิการสมาคมรถยนต์ผู้โดยสารแห่งชาติจีนประเมินว่า Tesla จะสามารถเพิ่มระดับการใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ภายในประเทศจากระดับ 30% ของทั้งหมด ณ สิ้นปี 2019 เป็น 70% ได้ในช่วงกลางปี 2020 ซึ่งจะทำให้สนนราคารถรุ่น Model 3 นี้อาจลดลงเหลือไม่เกิน 250,000 หยวน
นอกจากนี้ผู้บริหารโรงงานผลิต Tesla ในเซี่ยงไฮ้ยังให้ข้อมูลอีกว่า บริษัทจะสามารถใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ภายในประเทศได้ 100% ภายในสิ้นปี 2020 สิ่งนี้สะท้อนว่าขนาดของตลาด และมาตรการส่งเสริมด้านภาษีของรัฐบาลจีนที่มีต่อการใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์จากผู้ผลิตภายในประเทศมีส่วนสำคัญที่ช่วยลดต้นทุนการผลิต และราคาจำหน่ายของ Tesla ในตลาดจีนได้เป็น อันมาก
ทั้งนี้ บางคนในวงการยานยนต์ของจีนเปิดเผยว่า ต้นทุนการผลิตรถรุ่น Model 3 ในจีนตํ่ากว่าของที่ผลิตใน สหรัฐฯ ถึง 65% จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นราคารถยนต์ที่ผลิตในจีนสวนทางกับทิศ ทางราคารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นอื่นของบริษัทในตลาดโลก
ในทางตรงข้าม Tesla กลับปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจมากมายในตลาดสหรัฐฯ และประเทศอื่น โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2019 บริษัทประกาศปรับขึ้นราคารถยนต์รุ่นพิเศษ อาทิ Model S  และ Model X ในตลาดโลกขึ้นไปอีก 3% จากราคาเดิม และวางแผนปิดโชว์รูมบางส่วนในหลายประเทศ พร้อมกับหันไปขายออนไลน์มากขึ้นเพื่อหวังลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและสร้างผลกำไร
ที่มา - คอลัมน์มังกรกระพือปีก ฐานเศรษฐกิจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad