6 ทิศทาง CSR ปี'63 สร้างภาวะผู้ประกอบความยั่งยืน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2563

6 ทิศทาง CSR ปี'63 สร้างภาวะผู้ประกอบความยั่งยืน


ในรอบปี 2562 ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในสังคมเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 และภัยแล้ง เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อแวดวงธุรกิจกับการพัฒนาสู่ความยั่งยืน จึงมีความจำเป็นที่ภาคธุรกิจต้องทบทวนการดำเนินงานซีเอสอาร์ (corporate social responsibility-CSR) ของตนเองว่าที่มีอยู่มีประสิทธิภาพเพียงใด แล้วจะต้องปรับปรุงใหม่อย่างไร คำถามเหล่านี้อาจกำลังเกิดขึ้นในใจของผู้บริหารองค์กรหลายแห่งที่ต้องรับผิดชอบนำองค์กร ฝ่าคลื่นแห่งความอึมครึม และความขัดแย้ง ที่กิจการกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
          ด้วยเหตุนี้ สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงประกาศแนวโน้ม CSR ปี 2563 ใน 6 ทิศทางสำคัญ พร้อมแนะภาคธุรกิจนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development GoalsSDGs) มาผนวกเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจในรูปแบบ SDG-in-process เพื่อส่งมอบคุณค่าให้แก่ธุรกิจ และ ผลกระทบที่ดีต่อโลกไปพร้อมกัน
          "ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ในปีนี้สถาบันไทยพัฒน์ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทาง CSR ปี 2563 The Year of Sustainpreneurship (ปีแห่งภาวะผู้ประกอบความยั่งยืน) โดยเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในภาคความมุ่งประสงค์ (purpose), ภาคปฏิบัติการ (performance) และภาคผลกระทบ (impact) ที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในทุกกลุ่ม โดยสถาบันไทยพัฒน์ เรียกรวมว่า เป็น "ภาวะผู้ประกอบความยั่งยืน" (sustainpreneurship) เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงาน และองค์กรธุรกิจ ในการใช้เป็นแนวทางเสริมสร้างภาวะผู้ประกอบความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ในอันที่จะส่งมอบคุณค่าร่วมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชนท้องถิ่น และสังคมโดยรวม
          "กิจการต้องสร้างความเชื่อมโยงระหว่างทั้ง 3 องค์ประกอบ และจำเป็นต้องสอดรับกับความเคลื่อนไหวของพัฒนาการด้านความยั่งยืนในระดับสังคม รวมถึงการตอบสนองต่อเป้าหมาย โลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ UN Sustainable Development Goals (UNSDGs) ผ่านกระบวนการทางธุรกิจในรูปแบบ SDGin-process โดยเฉพาะการดูแลจัดการผลกระทบที่กิจการส่งผ่านไปยังสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า corporate SDG impact อย่างไร"
          สำหรับ 6 ทิศทาง CSR ปี 2563 ประกอบด้วย
          หนึ่ง investing in employeesการลงทุนกับพนักงาน โดยการพัฒนาบทบาทพนักงานให้เป็นมากกว่าทรัพยากร (resource) แต่เปลี่ยนให้เป็นทุน (capital) ของกิจการ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้พนักงานมีบทบาทที่ไม่จำกัดเพียงแค่สถานะลูกจ้าง แต่สามารถเป็นหุ้นส่วน หรือเป็นผู้ประกอบการในสังกัดของกิจการ (intrapreneur) ที่ช่วยให้องค์กรเติบโตจากภายใน แต่มีความยืดหยุ่นเหมือนทำงานอยู่ภายนอกองค์กร โดยที่กิจการเป็นผู้ลงทุน และจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ให้กับพนักงานที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการ
          สอง delivering shared value to customers-การส่งมอบคุณค่าร่วมจาก กระบวนการธุรกิจในรูปแบบ CSR-inprocess มาสู่ตัวผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ CSR-in-product หรือการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในตัวผลิตภัณฑ์ ที่มาจากการปรับแกนหลักของธุรกิจ (core business) ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโต ในตลาดใหม่ ที่สามารถเป็นแหล่งรายได้ ใหม่ของกิจการในระยะยาว
          สาม dealing fairly and ethically with suppliers-การปฏิบัติต่อ คู่ค้าอย่างเป็นธรรม และมีจริยธรรม เพราะปี 2020 ขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ จะไม่ได้วัดกันที่ความสำเร็จขององค์กร แต่จะเป็นความได้เปรียบทางการแข่งขันที่เกิดจากห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่อยู่ภายใต้การกำกับของกิจการในทิศทางที่สอดคล้องกับความมุ่งประสงค์ขององค์กร
          สี่ supporting the local communities-การสนับสนุนชุมชน ท้องถิ่น จากรูปแบบ CSR-after-process มาสู่ CSR-in-process โดยนำกระบวนการหรือกิจกรรมทางธุรกิจมาใช้พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในแง่ของการสร้างงานแก่คนในท้องถิ่น ด้วยการมอบโอกาสให้แก่สมาชิกชุมชนในการเป็นผู้ส่งมอบ ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าปลีก ผู้ให้บริการในห่วงโซ่ธุรกิจ และในแง่ของ การพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของผู้บริโภคในชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
          ห้า valuing ESG investors for greater impact-การให้คุณค่ากับผู้ลงทุน ที่ใช้ปัจจัยด้าน ESG (environmental, social และ governance) โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จะมีการแนะนำหลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นด้าน ESG ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ ที่คำนึงถึงประเด็นด้าน ESG เพิ่มขึ้น สำหรับเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนสามารถได้รับผลตอบแทนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป และยังทำให้การลงทุนนั้นช่วยเสริมสร้างผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกในทางที่ดีขึ้นด้วย
          หก collaborating with local government-การทำงานร่วมกับภาครัฐ โดยกิจการที่ต้องการความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องแสวงหาการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ที่กิจการมีแหล่งดำเนินงาน หรือสถานประกอบการตั้งอยู่ ในทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ในข้อที่ 17 ที่กล่าวถึงการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (partnership for sustainable development)
          ขณะที่ "วรณัฐ เพียรธรรม"ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า สถาบันไทยพัฒน์พัฒนาเครื่องมือ SDG business model canvas ขึ้น เพื่อช่วยภาคธุรกิจให้สามารถเชื่อมโยงของการดำเนินงานซีเอสอาร์ไปถึงระดับ ตัวชี้วัด (indicator-level) ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติได้
          "แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในโลกยุคปัจจุบัน กำลังเปลี่ยนถ่ายจากการมุ่งสนองประโยชน์แก่เจ้าของทุน หรือเฉพาะผู้ถือหุ้นของกิจการ มาสู่การให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ภายใต้กระแสที่เรียกว่า stakeholder capitalism หรือวิถีทุนนิยมที่เอื้อต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในระบบเศรษฐกิจ ทั้งกลุ่มพนักงาน ลูกค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชนท้องถิ่น และสังคมโดยรวม ด้วยการผสานประโยชน์ที่แตกต่างของบรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ได้ดีที่สุด และให้เป็นไปในทิศทางที่เสริมความรุ่งเรืองของบริษัทในระยะยาว"
          "ธุรกิจที่จะดำเนินการตามวิถีนี้ จะต้องมีการกำหนดความมุ่งประสงค์ของกิจการ ซึ่งถือเป็นเจตจำนงที่องค์กรต้องแสดงให้สาธารณชนได้รับทราบว่าเหตุใดเราจึงยังคงอยู่ โดยที่ผ่านมาเราเห็นช่องว่างในการทำซีเอสอาร์ของหลายองค์กรในไทยว่า มักจะตอบสนองเพียงระดับเป้าประสงค์ (goal-level) 17 ข้อของ UNSDGs เท่านั้น และ มีเพียงบางส่วนแสดงความเชื่อมโยงไปได้ถึงระดับเป้าหมาย (target-level) แต่เครื่องมือ SDG business model canvas จะชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง purpose-performanceimpact ที่นำไปสู่ sustainpreneurship ของกิจการ"
          "SDG business model canvas และชุดตัวชี้วัดหลักจำนวน 15 รายการ (33 ตัวชี้วัด) จัดทำขึ้นเพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ภายใต้บริบทของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และใช้เป็นเครื่องวัดการดำเนินงานในระดับกิจการ เพื่อให้ได้ข้อมูลในระดับตัวชี้วัด (indicator-level SDGs) ที่มีความคล้องจองกับข้อมูล UNSDGs ที่รัฐบาลจัดเก็บในระดับประเทศ"
          นับเป็นเป้าหมายที่ผนวกการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจ และส่งมอบคุณค่าให้แก่ธุรกิจ และผลกระทบที่ดีต่อโลกไปพร้อมกัน
          "ปี 2020 ขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ จะไม่ได้วัดกันที่ความสำเร็จขององค์กร แต่จะเป็นความได้เปรียบทางการแข่งขันที่เกิดจากห่วงโซ่อุปทาน"

ที่มา: นสพ.ประชาชาติธุรกิจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad