ชาวคลิตี้ยังเสี่ยงพิษตะกั่ว ชวนบริจาคช่วยชุมชนเฝ้าระวังตะกอนปนเปื้อน ระหว่างฟื้นฟูห้วยคลิตี้ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2563

ชาวคลิตี้ยังเสี่ยงพิษตะกั่ว ชวนบริจาคช่วยชุมชนเฝ้าระวังตะกอนปนเปื้อน ระหว่างฟื้นฟูห้วยคลิตี้

เครือข่ายภาคประชาชนชี้ ชาวบ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ยังเสี่ยงรับพิษสารตะกั่วจากการฟุ้งกระจายตะกอนตะกั่วระหว่างกระบวนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ หลังบริษัทผู้รับเหมาของกรมควบคุมมลพิษเริ่มดำเนินงานฟื้นฟูลำห้วยเมื่อเดือนที่ผ่านมา พร้อมเชิญชวนบุคคลทั่วไปร่วมสมทบทุนบริจาคเงินสนับสนุนโครงการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ธนกฤต โต้งฟ้า สมาชิกกลุ่มเยาวชนจากหมู่บ้านคลิตี้ล่าง กล่าวว่า แม้ว่าชุมชนจะประสบความสำเร็จในการเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากจากการรั่วไหลของหางแร่ปนเปื้อนตะกั่วจากการทำเหมือง ทำให้ลำห้วยที่ชุมชนใช้เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคและแหล่งอาหารปนเปื้อนสารตะกั่วอย่างรุนแรง จนส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่จำนวนมากเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการได้รับพิษตะกั่ว จนมีการดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมลำห้วยคลิตี้ในที่สุด

ห้วยคลิตี้
การดำเนินงานฟื้นฟูห้วยคลิตี้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ฺที่ผ่านมาโดยกรมควบคุมมลพิษ และ บริษัท เบทเทอร์ เวิร์ล กรีน เป็นผู้รับเหมา //ขอบคุณภาพจาก: Tanapon Phenrat

อย่างไรก็ดี ธนกฤต เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ ชาวชุมชนคลิตี้ล่างยังคงไม่ปลอดภัยจากการรับสัมผัสสารตะกั่ว ที่อาจกลับมาปนเปื้อนในน้ำและอากาศอีกครั้ง จากการฟุ้งกระจายของตะกอนปนเปื้อนตะกั่ว ระหว่างกระบวนการดูดตะกอนตะกั่วจากท้องห้วย และการขนย้ายตะกอนปนเปื้อนไปยังหลุมฝังกลบ ซึ่งอาจก่ออันตรายต่อชาวบ้านที่ยังจำเป็นต้องใช้น้ำจากลำห้วยเพื่อการอุปโภคและการเกษตรได้
เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายภาคประชาชนได้มีการประสานงานกับ นักวิชาการ, หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน ผู้รับเหมาโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ในการติดตามการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยอย่างใกล้ชิด หากแต่ชาวบ้านยังมีความกังวลต่อผลกระทบการฟุ้งกระจายของตะกอนตะกั่วที่อาจเกิดขึ้น เพราะการดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ยังเริ่มดำเนินการช้ากว่ากำหนดการไปมาก ทำให้ชุมชนกังวลว่า กระบวนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอาจกระทำอย่างเร่งรีบ เพื่อให้สามารถดำเนินการฟื้นฟูให้เสร็จทันระยะเวลาในสัญญา ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนสิงหาคมนี้
โดยในรายงานการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ครั้งที่ 25/2563 เมื่อวันที่ 28 มกราคม บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน ได้ชี้แจงว่า บริษัทมีขั้นตอนการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยการใช้เรือดูดตะกอน ดูดตะกอนที่ปนเปื้อนตะกั่วทั้งในลำห้วยคลิตี้บนและคลิตี้ล่าง จากนั้นจึงนำตะกอนมาบรรจุถุง Geotextile และชั่งน้ำหนัก ก่อนจะนำถุงบรรจุตะกอนปนเปื้อนไปฝังกลบยังหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย บริเวณหน้าฝาย KC4 นอกจากนี้ยังมีมาตรการป้องกันการฟุ้งกระจายของตะกอนปนเปื้อนได้แก่ การติดตั้งรั้วสูง 2 เมตรรอบพื้นที่ดำเนินงาน, ฉีดพรมน้ำลดฝุ่น, และให้มีผู้ดูแลตรวจสอบการดูดตะกอนในลำห้วยอย่างใกล้ชิด
“จากข้อกังวลดังกล่าว กลุ่มเยาวชนจากหมู่บ้านคลิตี้ล่าง และคณะทำงานติดตามการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ภาคประชาชน จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการการเฝ้าระวังผลกระทบจากการดำเนินการฟื้นฟูห้วยคลิตี้ โดยการติดตั้งเครื่องตรวจเซ็นเซอร์วัดการฟุ้งกระจายของตะกอนตะกั่วในระหว่างดูดตะกอนท้องน้ำ และเครื่องตรวจวัดฝุ่นจากการขนส่ง เพื่อให้ชุมชนสามารถเฝ้าระวังความเสี่ยงในพื้นที่ด้วยตนเอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านบุคลากร การติดตั้งอุปกรณ์ โดยทีมนักวิจัยจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร” ธนกฤต กล่าว
“โครงการนี้จะเป็นโครงการคู่ขนานไปกับการทำงานของกรมควบคุมมลพิษและบริษัทรับเหมา ช่วยให้เกิดการตรวจสอบการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขมาตรการการดูดตะกอน และการขนย้ายตะกอนให้มีผลกระทบน้อยลง รวมถีงยังสามารถประเมินความจำเป็นของมาตรการจ่ายน้ำทดแทนการใช้น้ำในลำห้วยได้อย่างทั่วถึงในระหว่างการฟื้นฟูต่อไป”

มหาวิทยาลัยนเรศวร
ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวรกำลังติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับเฝ้าระวังความเสี่ยงตะกอนตะกั่วฟุ้งกระจาย จากกระบวนการฟื้นฟูห้วยคลิตี้ //ขอบคุณภาพจาก: Tanapon Phenrat

อย่างไรก็ดี เขาเปิดเผยว่า การติดตั้งอุปกรณ์ติดตามการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้มีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐไม่ได้มีงบสนับสนุนในส่วนนี้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดย อ.ธนพล เพ็ญรัตน์ จึงได้สำรองจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการ เป็นจำนวน 180,826 บาท
ดังนั้นกลุ่มเยาวชนและคณะทำงานภาคประชาชนจึงขอเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าว เพื่อให้ชุมชนมั่นใจว่าระหว่างการฟื้นฟูชาวบ้านจะมีเครื่องมือวัดความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต และให้การฟื้นฟูลำห้วยในครั้งนี้สำเร็จตามค่าเป้าหมายที่ชาวบ้านต้องการ คือ ไม่มีสารตะกั่วเหลืออยู่ในลำห้วย สัตว์น้ำ พืช และในร่างกายของชาวบ้าน โดยยอดบริจาค ณ วันที่ 18 มีนาคม มีจำนวนเงินทั้งหมด 41,077 บาท ยังขาดอีก 139,749 บาท
ผู้ที่สนใจร่วมสมทบทุนโครงการการเฝ้าระวังผลกระทบจากการดำเนินการฟื้นฟูห้วยคลิตี้ สามารถร่วมบริจาคได้ตามช่องทางดังนี้
บัญชีธนาคารกรุงไทย (ออมทรัพย์) ชื่อบัญชีร่วม: น.ส.ชลาลัย นาสวนสุวรรณ หรือนายธนกฤต โต้งฟ้า เลขที่บัญชี: 960-0-46991-1
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad