กรมพัฒน์ฯ จับมือ ธ.ก.ส. มอบวงเงินให้เกษตรกรรายแรกในสุพรรณบุรี ใช้ไม้ยืนต้นค้ำกู้เงิน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2563

กรมพัฒน์ฯ จับมือ ธ.ก.ส. มอบวงเงินให้เกษตรกรรายแรกในสุพรรณบุรี ใช้ไม้ยืนต้นค้ำกู้เงิน

img

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจับมือ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ขับเคลื่อนการนำ “ไม้ยืนต้น” มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อขอกู้เงินจากแบงก์ พร้อมมอบวงเงินจดทะเบียนไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจรายแรกในจังหวัด มีต้นไม้มาค้ำรวม 44 ต้น หลากหลายชนิด เผยยังจะเดินหน้าลงพื้นที่ช่วยแนะนำเกษตรกรปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ตัวเอง เพื่อเป็นมรดก เพิ่มป่า และใช้ค้ำกู้เงินต่อ ส่วนยอดขอกู้โดยใช้ไม้ยืนต้นค้ำประกันล่าสุดยื่นคำขอแล้ว 56 คำขอ วงเงิน 130 ล้าน
        
นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ลงพื้นที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พบปะตัวแทนเกษตรกรและผู้นำชุมชนเพื่อขับเคลื่อนให้มีการนำไม้ยืนต้นที่ปลูกในพื้นที่มาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ และส่งเสริมให้ปลูกไม้ยืนต้นเพื่อการออมเป็นมรดกแก่ลูกหลานในอนาคต และได้ใช้โอกาสนี้ มอบวงเงินให้กับน.ส.ปราณี น้ำใจดี เกษตรกร อ.สองพี่น้อง จากการนำไม้ยืนต้นที่มีค่าที่ปลูกในบริเวณบ้านจำนวน 44 ต้น ได้แก่ มะขาม 9 ต้น มะกอกป่า 1 ต้น สะเดา 14 ต้น ตะโก 1 ต้น โมกมัน 1 ต้น งิ้วป่า 1 ต้น กระท้อน 1 ต้น  มะเกลือ 2 ต้น ยอป่า 1 ต้น มะม่วง 1 ต้น และไม้แดง 12 ต้น มาเป็นหลักประกันทางธุรกิจกับ ธ.ก.ส.ในวงเงิน 2.3 แสนบาท
        
“ถือเป็นเกษตรกรรายแรกใน จ.สุพรรณบุรี ที่ได้รับวงเงินจากการนำไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ และนับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับการใช้ไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ และเกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น”นางโสรดากล่าว
        
ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ ยังได้เดินทางไปที่ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ บ้านดอนศาลเจ้า โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับตัวแทนเกษตรกรและผู้นำชุมชนเกี่ยวกับการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เกษตรกรรมให้คุ้มค่ามากที่สุด รวมทั้งส่งเสริมให้ปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ของเกษตรกรเพื่อเป็นมรดกแก่ลูกหลาน เช่น มะขาม สะเดา ตะโก หรือไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าประเภทอื่นๆ ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ได้เริ่มปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าในพื้นที่ของตนเองบ้างแล้ว และเข้าใจถึงรายละเอียดการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจดีขึ้นผ่านการประชาสัมพันธ์ทั้งของกรมฯ และ ธ.ก.ส.

สำหรับแผนระยะต่อไป กรมฯ จะร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เกษตรกร ภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และพร้อมจะลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพื่อส่งเสริม ขับเคลื่อน ให้มีการปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่า เพื่อการออม เป็นมรดกแก่ลูกหลานในอนาคต สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการปลูกป่าของประเทศต่อไป
        
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ให้คำแนะนำการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่น โดยเน้นให้ปลูกพืชปลอดสารพิษ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและเป็นที่ต้องการของตลาด สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปให้มีความทันสมัยตรงความต้องการของตลาด พร้อมบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่มีความสวยงาม รวมถึงการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งกรมฯ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยพัฒนาสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าและอบรมการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยหลังจากที่ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว กรมฯ จะนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้ผู้แทนจำหน่าย ซัปพลายเออร์ มาคัดสรร เพื่อขึ้นจำหน่ายบนสนามบิน ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เป็นต้น เพื่อช่วยในการขยายช่องทางการตลาดให้มีความหลากหลายและเพิ่มรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นมากขึ้น
        
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มี.ค.2563) มีผู้ขอนำไม้ยืนต้นที่มีค่า มาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 56 คำขอ คิดเป็นร้อยละ 0.002 ของการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจทั้งหมด มูลค่ารวม 130,385,000 บาท
        
ส่วนสถิติการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ (4 ก.ค.2559-9 มี.ค.2563) มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 500,098 คำขอ จำนวนเงินสูงสุดที่ใช้ทรัพย์สินเป็นหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 7,840,107 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 77.20 (มูลค่า 6,052,907 ล้านบาท) รองลงมา สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบิน สัตว์พาหนะ คิดเป็นร้อยละ 22.76 (มูลค่า 1,784,051 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็นร้อยละ 0.03 (มูลค่า 1,985 ล้านบาท) กิจการ คิดเป็นร้อยละ 0.01 (มูลค่า 637 ล้านบาท) และอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 0.005 (มูลค่า 397 ล้านบาท)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad