กรมเจรจาฯ ชี้อาหารสัตว์เลี้ยงยังเติบโตดี ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 แนะใช้เอฟทีเอเพิ่มยอด - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

กรมเจรจาฯ ชี้อาหารสัตว์เลี้ยงยังเติบโตดี ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 แนะใช้เอฟทีเอเพิ่มยอด

img

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศติดตามสถานการณ์การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงช่วงวิกฤตโควิด-19 พบมีแนวโน้มเติบโตสูง หลังคนเลี้ยงสัตว์ซื้อสำรองเก็บไว้เหมือนสินค้าจำเป็นอื่นๆ แนะผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอเพิ่มยอด เหตุปัจจุบันคู่เจรจา 15 ประเทศลดภาษีให้ไทยหมดแล้ว เหลือแค่ 3 ประเทศที่เก็บบางรายการ พร้อมขอให้ศึกษาแนวโน้มตลาด เพิ่มปริมาณ แปรรูป ช่วยยืดระยะเวลาเก็บรักษา
        
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาหารสัตว์เลี้ยงเป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่ตลาดยังคงมีความต้องการและเติบโตได้ดี แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากสัตว์เลี้ยงมีการบริโภคเป็นประจำ ประกอบกับผู้เลี้ยงมีความเอาใจใส่ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว ทำให้มีการซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงสำรองไว้เช่นเดียวกับสินค้าจำเป็นอื่นๆ ทำให้การส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) ส่งออกได้ถึง 466.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10%
        
“ความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น แม้อยู่ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสขยายการส่งออกได้ โดยเฉพาะในตลาดคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอด้วย เพราะสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากไทยได้แต้มต่อในการแข่งขันจากการปลดล็อกกำแพงภาษีศุลกากร โดยปัจจุบัน 15 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรูและฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยทุกรายการแล้ว มีเพียงญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ที่ยังคงการเก็บภาษีนำเข้ากับไทยในบางรายการสินค้า”

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตและผู้ส่งออกควรศึกษาแนวโน้มและวางแผนการผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยในช่วงโควิด-19 อาจเพิ่มปริมาณ เช่น ขยายขนาดบรรจุภัณฑ์ และแปรรูปสินค้า เช่น ผลิตเป็นอาหารสัตว์กระป๋อง เพื่อเพิ่มความสะดวกและยืดระยะเวลาในการเก็บรักษา และต้องคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการ ใช้วัตถุดิบคุณภาพดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง รวมถึงต้องรักษามาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับหลักการสากลด้านสุขอนามัย และปฏิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยสามารถครองใจผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน การส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงในช่วง 3 เดือนของปี 2563 มีตลาดสำคัญ 5 อันดับแรก ทั้งที่เป็นคู่เจรจาเอฟทีเอและไม่เป็น ได้แก่ อาเซียน มูลค่า 111 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 13% สหรัฐฯ มูลค่า 104 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 19% ญี่ปุ่น มูลค่า 77 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.62% สหภาพยุโรป มูลค่า 67 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.05% และออสเตรเลีย มูลค่า 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% โดยอาหารสำหรับสุนัขและแมว ส่งออกมูลค่า 377 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วน 81% ของการส่งออกทั้งหมด ที่เหลือเป็นการส่งออกอาหารสัตว์อื่นๆ มูลค่า 89 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 19%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad