ส.อ.ท.ยื่นข้อเสนอ “สนธิรัตน์” เฉือนรายได้ 3 การไฟฟ้าที่นำส่งคลัง มาอุ้มค่าไฟ เยียวยาผลกระทบโควิด-19 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ส.อ.ท.ยื่นข้อเสนอ “สนธิรัตน์” เฉือนรายได้ 3 การไฟฟ้าที่นำส่งคลัง มาอุ้มค่าไฟ เยียวยาผลกระทบโควิด-19



สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ยื่นข้อเสนอถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เฉือนรายได้ของ กฟผ. กฟน.และ PEA ที่นำส่งกระทรวงการคลัง มาอุ้มค่าไฟฟ้า แทนการปรับค่าเอฟที พร้อมขอให้ขยายระยะเวลาการผ่อนผันการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ 70%(Demand Charge)ออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 เพื่อ บรรเทาผลกระทบ 32 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19  จากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์
วันนี้ (30 เม.ย. 63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ได้ส่งรายละเอียดข้อเสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการพลังงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 โดยปริมาณการผลิตคำสั่งซื้อและผลประกอบการลดลงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์  และต้องแบกภาระรับค่าใช้จ่ายอย่างเช่น ค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง  จึงมีข้อเสนอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือ 32 กลุ่มอุตสาหกรรม เพิ่มเติมจากมาตรการที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการไปแล้ว  อาทิ 1.ขอให้ขยายระยะเวลาการผ่อนผันการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ 70%(Demand Charge)ออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 แก่ผู้ประกอบการประเภทที่ 3-7 จากเดิมที่กำหนดมาตรการช่วยเหลือเป็นเวลา 3 เดือน (เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 63)
2.เห็นด้วยกับความช่วยเหลือจากกระทรวงพลังงาน ในการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ภาคประชาชน แต่ขอให้พิจารณาเรื่องเงินที่ช่วยเหลือดังกล่าวต้องไม่ส่งผลกระทบค่า FT ในอนาคต โดยเสนอให้ หักเงินช่วยเหลือส่วนนี้จากรายได้ของการไฟฟ้าแทนที่จะนำส่งกระทวงการคลัง
3.เรื่องการคำนวนค่าFTเสนอให้มีการประเมินด้วยวิธีการที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเร็วขึ้น โดยใช้วิธีการคำนวณแบบ 3 Month Moving Average และเทียบเป็นรายไตรมาส
“สำหรับมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เสนอหารือกับ ทางกระทรวงพลังงานนั้น ในเรื่อง Demand Charge ทางกกพ.ได้ดำเนินการแล้วโดยจะเร่งออกประกาศเพื่อทราบ ในสัปดาห์หน้า ส่วนในเรื่องค่าFT และเงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้า กระทรวงพลังงานจะพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”นายสนธิรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้  32 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เครื่องสำอาง   สิ่งทอ หนังและผลิตภัณฑ์หนัง รองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก ปูนซีเมนต์ หลังคาและอุปกรณ์ แกรนิตและหินอ่อน แก้วและกระจก เซรามิค โรงเลื่อยและโรงอบไม้ ไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรกลและโลหะการ เครื่องจักรกลการเกษตร ต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก หล่อโลหะ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สมุนไพร น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ก๊าซ  พลังงานหมุนเวียน หัตถกรรมสร้างสรรค์ การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีชีวภาพ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad