น้ำมันฉุดเงินเฟ้อเม.ย.63 ลด 2.99% ต่ำสุด 10 ปี 9 เดือน ยันยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

น้ำมันฉุดเงินเฟ้อเม.ย.63 ลด 2.99% ต่ำสุด 10 ปี 9 เดือน ยันยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด

img

“พาณิชย์”เผยเงินเฟ้อเดือนเม.ย.63 ลดลง 2.99% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน จากการลดลงของราคาน้ำมันสูงถึง 30.85% ลดต่ำสุดในรอบ 11 ปี 2 เดือน แถมได้อานิสงค์จากนโยบายรัฐ ลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา ลดราคาสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ ยันยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด แต่ต้องหาทางหลีกเลี่ยง รัฐบาลควรผ่อนคลายการทำธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนระยะต่อไป ต้องมีมาตรการกระตุ้นการบริโภค การท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อฟื้นกำลังซื้อ  
        
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเม.ย.2563 เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.2563 ที่ผ่านมา ลดลง 2.03% เทียบกับเม.ย.2562 ลดลง 2.99% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน จากการลดลงของสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงสูงถึง 30.85% ต่ำสุดในรอบ 11 ปี 2 เดือน และยังมีการลดลงของค่าไฟฟ้า น้ำประปา และสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพบางรายการที่ลดลงจากมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ที่ได้ร่วมมือกับผู้ผลิต ห้างสรรพสินค้าปรับลดราคาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เงินเฟ้อในภาพรวมลดลง ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.) ลดลง 0.44%

ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนเม.ย.2563 ที่หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงานออก เทียบกับเดือนมี.ค.2563 ลดลง 0.07% เทียบกับเม.ย.2562 เพิ่มขึ้น 0.41% และเฉลี่ย 4 เดือน เพิ่มขึ้น 0.50%

สำหรับรายละเอียดของเงินเฟ้อที่ลดลง มาจากสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลด 5.28% จากการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิง 30.85% เคหสถาน ลด 4.56% การสื่อสาร ลด 0.05% แต่เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เพิ่ม 0.08% การรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.16% ค่าโดยสารสาธารณะ เพิ่ม 4.29% บันเทิง การอ่าน การศึกษา เพิ่ม 0.34% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.02% ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.04% จากการเพิ่มของ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 7.36% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ เพิ่ม 1.37% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 5.52% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 3.16% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 2.32% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.58% นอกบ้าน เพิ่ม 0.32% แต่ผักสด ลด 9.58% ผลไม้สด ลด 1.71%

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า การที่เงินเฟ้อติดลบ จะเป็นภาวะเงินฝืดหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่ฝืด แม้เงินเฟ้อจะติดลบมาแล้ว 2 เดือนติดต่อกัน เพราะตามทฤษฎี การเกิดเงินฝืด เงินเฟ้อต้องติดลบติดต่อกัน 3 เดือน สินค้าลดลงหลายประเภทและส่วนใหญ่ลดลงติดต่อกัน แต่ตอนนี้ไม่ใช่ โดยเงินเฟ้อลด จากน้ำมันลด และได้รับผลดีจากมาตรการของรัฐ หากถามว่าต่อไปมีสิทธิ์เกิดเงินฝืดหรือไม่ ก็มีสิทธิ์ ต้องหาทางหลีกเลี่ยง ซึ่งนโยบายของรัฐบาล จะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนมาก เช่น การผ่อนปรนการทำธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศขับเคลื่อนได้ และต้องเร่งส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวไทย กินของไทย ใช้ของไทย เป็นต้น
        
ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนพ.ค.2563 ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แม้สถานการณ์ด้านราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ และความต้องการใช้น้ำมันของจีนและบางประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ภาพรวมก็ยังถือว่ายังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ และสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น จากภัยแล้ง แต่ราคาก็ถูกกดดันจากความต้องการที่ลดลง และฐานราคาสินค้าเกษตรในปีก่อนสูงมาก ทำให้เงินเฟ้อยังไม่เพิ่ม โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 2 เงินเฟ้อจะยังติดลบ 2.28% ส่วนไตรมาสที่ 3 และ 4 น่าจะดีขึ้น และเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ที่ลบ 1.0% ถึงลบ 0.2% มีค่ากลางอยู่ที่ 0.6%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad