โครงการปลูกป่า 66 ล้านต้น ฟื้นฟูป่าหลังไฟเหนือส่อแววพิรุธ “ปลูกป่าลม” - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

โครงการปลูกป่า 66 ล้านต้น ฟื้นฟูป่าหลังไฟเหนือส่อแววพิรุธ “ปลูกป่าลม”

อดีตข้าราชการกรมอุทยานฯ ตั้งคำถาม โครงการส่อแววพิรุธ​ปลูกป่าฟื้นฟูหลังไฟป่าภาคเหนือ หากล้าจากไหน 66 ล้านต้นภายในหนึ่งเดือน ปลัดกระทรวงยืนยัน เตรียมมานานด้วยหลักวิชาการ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักอนุรักษ์
เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2563 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยสถานการณ์ไฟป่าจังหวัดภาคเหนือ ดีขึ้นมากทุกจังหวัดและอยู่ในขั้นตอนเตรียมกล้าไม้เพื่อปลูกฟื้นฟูป่าในเดือนพฤษภาคม จำนวน 66 ล้านกล้า โดย 50 ล้านเป็นของกรมป่าไม้  และอีก 16 ล้านกล้าอยู่ในความดูแลของกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นและเป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ประดู่ป่า สัก พะยูง ตะแบก มะค่าโมง ยางนา ตะเคียนทอง อินทนิล มะขามป้อม หว้า ขนุน สะเดา ฯลฯ รวมถึงพืชท้องถิ่น
จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผย หน่วยงานจะเริ่มปลูกกล้าวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ พร้อมกันทุกอำเภอในเชียงใหม่เพื่อนำร่อง ส่วนจังหวัดอื่นยังต้องศึกษาพื้นที่เพิ่มเติม พร้อมยืนยันว่าหน่วยงานได้ตระเตรียมโครงการมาล่วงหน้าเพราะเดือนพฤษภาคมเป็นฤดูฝน อีกทั้งยังมีวันป่าไม้แห่งชาติ จึงเป็นธรรมเนียมของหน่วยงานที่จะปลูกต้นไม้เป็นประจำทุกปี หน่วยงานได้ร่วมกับภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยแม่โจ้หาพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับระบบนิเวศตามหลักวิชาการ โดยจะส่งมอบให้หน่วยงานต่างๆ และประชาชนเพื่อร่วมปลูก แล้วจะติดตามผลสำเร็จหลังจากนั้น
อย่างไรก็ตาม สมัคร ดอนนาปี อดีตผู้อำนวยการ สำนักอุทยานแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตถึงการปลูกป่าครั้งนี้ว่าอาจไม่ชอบมาพากล กลายเป็นการ “ปลูกลม” จากความน่าจะเป็นในการจัดหากล้าไม้จำนวนมากในเวลาอันสั้น
กล้าสำหรับโครงการฟื้นฟู // ขอบคุณภาพ: กรมป่าไม้
ก่อนหน้านี้เมื่อปี พ.ศ. 2553 สมัครเป็นผู้ฟ้องร้องผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการปลูกป่า ด้วยข้อหาทุจริตโครงการเพาะกล้าหนึ่งร้อยล้านบาท ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการทางกฎหมาย
“ผมไม่เชื่อเด็ดขาดว่าปลูกได้ คำว่า 66 ล้าน น่าจะเป็นคำโฆษณามากกว่า ที่ผ่านมาไม่เคยปลูกเยอะเท่านี้ ทั่วประเทศไม่มีกล้าพอหรอก เพราะศูนย์เพาะจะเพาะตามแผนที่กำหนดไว้สำหรับแจกจ่ายประชาชนปลูกในที่ทำกิน เพราะฉะนั้นไม่น่ามีสต็อกกล้าไม้เยอะ” สมัคร กล่าว
เขายังให้เหตุผลว่าการเพาะกล้าใหม่นั้นต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 เดือนเพื่อให้ได้กล้าที่แข็งแรงตามมาตรฐานกรมป่าไม้ ได้แก่ สูง 30 เซนติเมตรจากปากถุงและผ่านการตรวจความแข็งแรง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องพันธุ์ไม้ เพราะเอกชนมักเพาะกล้าไม้ผล แต่กล้าไม้ป่าซึ่งใช้ปลูกฟื้นฟูป่าเป็นหน้าที่ของกรมป่าไม้
อดีตข้าราชการกระทรวงทรัพยากรฯ ตั้งคำถามถึงงบประมาณโครงการ เมื่อสี่ปีก่อนสมัยที่เขายังทำงานอยู่ กล้าหนึ่งต้นคิดเป็นงบราว 2.7 บาท ดังนั้นกล้าไม้ 66 ล้านต้นคราวนี้คงใช้งบไม่ต่ำกว่า 170 ล้านบาท
“โครงการปลูกกล้ามีช่องโหว่เยอะเพราะตรวจสอบหลักฐานไม่ได้ เขาอ้างว่าแจกประชาชนไปแล้ว ความคิดเห็นผม ทางแก้มันง่ายมาก เอางบไปให้ทำสัญญากับชาวบ้านให้ปลูกต้นไม้  ค่าใช้จ่ายอาจจะมากกว่าแต่ชาวบ้านมีรายได้ หรืออาจไปจ้างเอกชน”
นอกจากเรื่องความโปร่งใส โครงการปลูกป่า 66 ล้านต้นดังกล่าวยังเป็นที่วิจารณ์ของนักอนุรักษ์หลายรายถึงประสิทธิภาพ เนื่องจากไฟป่าปีนี้ได้ลามเข้าไปในพื้นที่ป่าดิบเขาซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากป่าเบญจพรรณ ดังนั้นการปลูกป่าจึงต้องทำโดยคำนึงถึงความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ และการปลูกป่าอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นเพราะป่าสามารถฟื้นฟูเองได้ตามธรรมชาติ
พื้นที่หลังเกิดไฟป่า // ขอบคุณภาพ: กรมป่าไม้
ปัจจุบัน สถานการณ์ไฟป่าจังหวัดภาคเหนือดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากฝนตกในหลายพื้นที่ กระทรวงทรัพยากรฯ รายงานว่าไม่พบจุดความร้อนในพื้นที่ป่าไม้ คุณภาพอากาศส่วนใหญ่ระดับดีมาก สอดคล้องกับการเฝ้าระวังสถานการณ์ไฟป่าในหมู่บ้าน 7 จังหวัดของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ พบว่าวันที่ 26 เมษายน หมู่บ้าน 34 แห่งในแม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน และน่าน อยู่ในสถานะควบคุมไฟป่าได้แล้ว 
ด้านภาคประชาสังคม สภาลมหายใจเชียงใหม่ที่รวมตัวประชาชนและนักวิชาการ ประกาศจัดตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันอย่างยั่งยืน พร้อมออกแผนการดำเนินการเตรียมรับมือสถานการณ์หมอกควันปีหน้า เช่น ผลักดันนโยบายสนับสนุนการกระจายอำนาจการจัดการเชื้อเพลิง และเปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบภัย โดยยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุไฟป่าตั้งแต่ต้นปีพ.ศ.2563 นี้มี 7 ราย รายล่าสุด คือ สิทธิชัย กองแก้วสีงาม เยาวชนกะเหรี่ยงวัย 21 ปี หมู่บ้านแม่โกปี้ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุไฟคลอกระหว่างการดับไฟ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad