สองปีหลังเขื่อนแตก ชาวบ้านยังไร้ที่อยู่ ยูเอ็นจี้ผู้ลงทุนเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยเร่งรับผิดชอบ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สองปีหลังเขื่อนแตก ชาวบ้านยังไร้ที่อยู่ ยูเอ็นจี้ผู้ลงทุนเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยเร่งรับผิดชอบ

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) เรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการดังกล่าวเร่งเยียวยาผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกอย่างเหมาะสมโดยไว ภายหลังพบว่าบริษัทผู้ลงทุนละเลยการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัย ทำให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากยังต้องทนอาศัยในค่ายพักชั่วคราวที่มีสภาพแวดล้อมย่ำแย่ ขาดแคลนปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต แม้เหตุภัยพิบัติจะผ่านไปแล้วถึง 2 ปี
เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2563 กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน จาก UNHRC ออกจดหมายถึงบริษัทผู้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้อย รัฐบาลลาว เกาหลีใต้ และไทย ตลอดจนธนาคารผู้ปล่อยเงินกู้ เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการในโครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยเคารพหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และเร่งผิดชอบความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ประสบภัย
อัตตะปือ
ซากบ้านที่ถูกแรงน้ำท่วมจากเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ซัดจนตั้งตะแคงยังคงไม่ได้รับการซ่อมแซม ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2561 //ขอบคุณภาพจาก: วิศรุต แสนคำ
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ UNHRC ระบุในจดหมายว่า แม้ว่าเหตุการณ์พิบัติภัยเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก จะผ่านมาเป็นเวลาเกือบสองปีแล้วก็ตาม ผู้รอดชีวิตจากเหตุสะเทือนขวัญครั้งดังกล่าวนับหมื่นคนกลับยังถูกละเลย ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากบริษัทผู้ลงทุนโครงการเขื่อน และหน่วยงานรัฐเท่าที่ควร ทำให้พวกเขายังคงต้องดำรงชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้นยากลำบากในค่ายพักพิงชั่วคราว ไม่สามารถเข้าถึงอาหาร น้ำสะอาด และยารักษาโรค ไร้ซึ่งความมั่นคงในชีวิต
โศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรงนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2561 หลังจากหนึ่งในสันเขื่อนปิดช่องเขาต่ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เกิดการทรุดตัวจนถล่มลงมา เป็นเหตุให้มวลน้ำมหาศาล ปริมาตรกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทะลักไหลบ่าลงมาท่วมพื้นที่ท้ายน้ำอย่างรวดเร็ว คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 71 ราย สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับบ้านเรือนประชาชนกว่า 1,611 ครัวเรือน ในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน เขตเมืองสะหนามไชย แขวงอัตตะปือ ทางตอนใต้ของประเทศลาว และส่งผลให้ประชาชนมากกว่า 7,000 คน ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน
“แม้ว่าเหยื่อภัยพิบัติครั้งร้ายแรงจากการพัฒนาโครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยต้องสูญเสียแทบทุกสิ่ง แต่สำหรับบริษัทผู้ลงทุนโครงการ รัฐบาลประเทศแม่ และธนาคารผู้ปล่อยเงินกู้ พวกเขายังคงกอบโกยกำไรและผลประโยชน์จำนวนมหาศาลจากโครงการดังกล่าว เหลือทิ้งไว้แต่เพียงสัญญาลมๆ แล้งๆ ต่อการชดเชยเยียวยาที่พวกเขาเคยรับปากกับชาวบ้าน” กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ UNHRC กล่าว
“รายงานจากหลายแหล่งระบุตรงกันว่า จนถึงขณะนี้ชีวิตของประชาชนผู้ประสบภัยเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกยังคงตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากนานัปการในการดำรงชีวิต ขัดแย้งกับข้อกล่าวอ้างของรัฐบาลลาวที่ได้ออกมาแถลงก่อนหน้านี้ว่า ได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ ทั้งยังฟ้องให้เห็นว่า บริษัทผู้ลงทุนโครงการเขื่อนได้ละเลยภาระความรับผิดชอบ ต่อหน้าที่ที่จะต้องเยียวยาฟื้นฟูผลกระทบความเสียหายจากการดำเนินธุรกิจของตน ตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน”
บ้านชั่วคราว
หมู่บ้านชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัยเขื่อนแตก ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2561 //ขอบคุณภาพจาก: วิศรุต แสนคำ
จากรายงานข่าวของ สำนักข่าวชายขอบ เมื่อวันที่ 24 เมษายน ระบุว่า แม้ว่าจะเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เขื่อนวิบัติเมื่อ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2561 หากแต่ขณะนี้ยังมีผู้ประสบภัยที่ยังต้องทนอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพผู้ประสบภัยชั่วคราวเป็นจำนวนมาก จากปัญหาความล่าช้าของทั้งภาครัฐและบริษัทผู้ลงทุนโครงการ ในการให้ความช่วยเหลือและจ่ายเงินชดเชยเยียวยาความเสียหาย และความไม่พร้อมของทรัพยากรและสาธารณูปโภคของหมู่บ้านและที่ดินที่ทางการจัดสรรให้ใหม่
ผู้ได้รับผลกระทบรายหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะออกนาม ซึ่งขณะนี้อาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพบ้านดงบาก เปิดเผยว่า แม้ว่าครอบครัวของเขาจะได้รับการจัดสรรให้ย้ายไปอยู่ที่บ้านชั่วคราวแล้ว แต่ก็พบว่าบ้านชั่วคราวที่ได้รับร้อนและสกปรกมากจนอยู่ไม่ได้ อีกทั้งยังขาดแคลนน้ำใช้ ห้องน้ำก็อยู่ในสภาพย่ำแย่ จนชาวบ้านต่างเกรงว่าอาจก่อให้เกิดโรคระบาด เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ได้มาตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่เลย จนชาวบ้านหลายคนที่อยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านดงบาก ตัดสินใจหนีออกไปจากศูนย์แห่งนี้
“คนที่ออกไป ก็ไปสร้างกระท่อมหรือบ้านหลังเล็กๆอยู่ในที่ดินที่รัฐจัดสรรให้เป็นค่าชดเชย หรือกลับไปยังที่ดินทำกินเดิมของพวกเขาที่ถูกน้ำท่วม หรือบางคนก็ต้องกลับไปยังบ้านหลังเก่าในหมู่บ้านเดิมที่ประสบภัย“ เขากล่าว
ในขณะที่ผู้ประสบภัยที่ไม่ประสงค์ออกนามอีกราย ระบุว่า พวกเขาประสบปัญหาได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลล่าช้าอีกด้วย จนหลายๆ ครอบครัวต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
“เราควรได้รับเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือนๆละประมาณ 400 บาท ต่อคน และ 20 บาท ต่อวัน แต่เงินนั้นมาช้ามาก เราถามเจ้าหน้าที่ระดับสูง เขาบอกว่า จ่ายผ่านเจ้าหน้าที่ระดับล่างมาแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ระดับล่างหรือส่วนท้องถิ่นกลับว่า เขายังไม่ได้รับเงิน เขาโกหกเรา” เขากล่าว
กะตุ๊ก สีบุนเฮือง อาสาสมัครภาคประชาชนชาวเมืองอัตตะปือ ผู้ที่คอยดำเนินการช่วยเหลือแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ประสบภัยมาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ เปิดเผยว่า แม้ว่าผู้ประสบภัยหลายรายจะได้รับเงินชดเชยเยียวยาความเสียหายต่อทรัพย์สินแล้ว 50% ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด แต่ยังมีผู้ประสบภัยอีกหลายครัวเรือนที่ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาแต่อย่างใด
อัตตะปือ
ชาวบ้านบางส่วนเลือกที่จะซ่อมแซมและย้ายกลับไปอยู่ในถิ่นอาศัยเดิม จากปัญหาต่างๆในการดำรงชีวิตในค่ายอพยพ ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2561 //ขอบคุณภาพจาก: วิศรุต แสนคำ
นอกจากนี้ การก่อสร้างหมู่บ้านแห่งใหม่ที่บริษัทเขื่อนสร้างทดแทนให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบก็ดำเนินการล่าช้า จนบัดนี้ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ชาวบ้านไม่สามารถเข้าอยู่ได้ ชาวบ้านที่ได้รับเงินเยียวยาแล้วบางส่วนจึงตัดสินใจย้ายกลับบ้านเดิม นำเงินไปซ่อมแซมบ้านเก่าของตนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง 4 บริษัท จาก 3 ประเทศ ได้แก่ บริษัท SK Engineering and Construction และบริษัท Korea Western Power จากประเทศเกาหลีใต้ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จากประเทศไทย และ บริษัท Lao Holding State Enterprise ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลลาว มีมูลค่าการลงทุน 3.24 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารธนชาต, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, และ Export-Import Bank of Korea เป็นผู้สนับสนุนเงินกู้สำหรับพัฒนาโครงการ
โครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 410 เมกกะวัตต์ โดยจะขายให้ประเทศไทย 370 เมกะวัตต์ ตามกำหนดการเดิม เขื่อนแห่งนี้มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี พ.ศ.2562

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad