รู้ทัน พร้อมรับมือโรคที่มากับฤดูฝน “โรคไข้หวัดใหญ่ อันตรายถึงชีวิต แต่ป้องกันได้” - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

รู้ทัน พร้อมรับมือโรคที่มากับฤดูฝน “โรคไข้หวัดใหญ่ อันตรายถึงชีวิต แต่ป้องกันได้”


นายแพทย์พลากร ศรีนิธิวัฒน์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน เผยว่า โรคติดต่อที่พบบ่อยในฤดูร้อนและฤดูฝนที่มักพบบ่อย โรคติดเชื้อจากทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ (influenza) ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่พบบ่อยคือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A , สายพันธุ์ B, และสายพันธุ์ C แต่ที่เป็นสาเหตุในคนที่พบบ่อยคือ สายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B ผู้ป่วยจะมีอาการที่สำคัญคือ มีไข้สูงฉับพลันทันทีทันใด มีไข้สูงลอยเกินกว่า 39 - 40 องศาเซลเซียสติดต่อกัน 3 - 4 วัน ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ จาม คัดจมูก มีน้ำมูก การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป คือ ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอ หรือ จาม และการสัมผัสมือหรือสิ่งของต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วย  โรคมีระยะฝักตัวประมาณ 1 - 3 วัน ระยะติดต่อผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการจนถึง 7 วันหลังรับเชื้อ ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวบางรายจะหายภายใน 1 - 2 สัปดาห์ แต่บางรายมีอาการนานกว่านั้น วิธีแยกอาการไข้หวัดใหญ่กับไข้หวัดธรรมดาสังเกตุได้คือไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงและเป็นนานกว่าไข้หวัดธรรมดา  

รู้ทัน พร้อมรับมือโรคที่มากับฤดูฝน “โรคไข้หวัดใหญ่ อันตรายถึงชีวิต แต่ป้องกันได้”
สำหรับคนไข้บางรายที่มีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ ปอดอักเสบหรือปอดบวม หรือถ้ารุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้แก่ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป หรือเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี หรือ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอด โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ระยะที่ 2 – 3 หรือเด็กที่รับประทานยาแอสไพลินมาเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งผู้ใหญ่ที่รับประทานยากดภูมิมาเป็นระยะเวลานาน     การรักษาไข้หวัดใหญ่นั้นส่วนใหญ่ให้การรักษาตามอาการเนื่องจากเป็นการติดเชื้อไวรัส แต่มีผู้ป่วยบางรายที่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยาต้านไวรัสก้สามารถให้ยาต้านไวรัสได้โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หรือกลุ่มที่อาการค่อนข้างรุนแรง  สำหรับการป้องกันที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนป้องกันโดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรครุนแรงหรือเป็นอันตราย ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายการให้วัคซีนฟรีสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ร่วมกับการดูแลสุขภาพของตนเอง เช่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad