‘เสียงกรีดร้อง’ บนโลกออนไลน์: พลังเคลื่อนไหวยุคใหม่ ขับเคลื่อนนโยบายสิ่งแวดล้อมชาติ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

‘เสียงกรีดร้อง’ บนโลกออนไลน์: พลังเคลื่อนไหวยุคใหม่ ขับเคลื่อนนโยบายสิ่งแวดล้อมชาติ

งานวิจัยหาความสัมพันธ์ของค่าฝุ่น PM2.5 กับจำนวนข้อความบนโลกออนไลน์และการออกมาตราการรับมือของกรมควบคุมมลพิษ โดยธิติ พรโกศลสิริเลิศ // ขอบคุณภาพ: พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล
อาจารย์นิเทศเผย มาตรการรัฐรับมือ PM2.5 เป็นผลผลิตจากกระแสเรียกร้องออนไลน์ ชี้ช่องใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก จุดกระแสสิ่งแวดล้อมในยุคดิจิทัลสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2563 รองศาสตราจารย์ พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศและสื่อใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Global media specialist) อธิบายถึงทิศทางสื่อดังกล่าวในงานเสวนาออนไลน์เรื่อง “Digital Disruption และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม” ชี้ปัจจุบัน สื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นช่องทางใหม่สำหรับสื่อสารและขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายหลายครั้ง 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค “Digital Disruption” เมื่อการนำเสนอข้อมูลข่าวสารแนวเดิมได้ถูกแทรกแซงจากการเกิดขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้พฤติกรรมการรับข่าวสารปรับจากการรับสารทางเดียวผ่านหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ สู่การเสพสื่อบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสื่อได้โต้ตอบความคิดเห็น รวมถึงสวมบทบาทผู้ผลิตเนื้อหา 
เธอชี้ให้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของอิทธิพลสื่อโซเชียลในการขับเคลื่อนประเด็นฝุ่น PM2.5 โดยอ้างอิงงานวิจัย ของธิติ พรโกศลสิริเลิศ นักศึกษาปริญญาโทคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บข้อมูลโดยเครื่องมือติดตามบทสนทนาบนโลกโซเชียล (Social Listening) พบว่า ระหว่างปีพ.ศ.2561-2563 ช่วงเวลาที่ค่าความเข้มข้น PM2.5 เพิ่มขึ้น จำนวนข้อความที่พูดถึงเรื่องดังกล่าวบนโลกโซเชียลจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน อีกทั้งยังสอดคล้องกับช่วงเวลาออกประกาศมาตารกรรับมือฝุ่นของกรมควบคุมมลพิษอย่างมีนัยยะสำคัญ
นโยบายเรื่องฝุ่นไม่ได้มาเพราะรัฐ แต่มาเพราะสังคมกรีดร้อง” พิจิตรา กล่าว
กรณี #SaveChana  กระแสคัดค้านโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นการ Mob From Home บนโซเชียลที่ได้ผลสำเร็จเช่นกัน แม้ตอนนี้จะมีเรื่องโรคระบาดทำให้ชุมชนไม่สามารถรวมตัวคัดค้านโครงการได้ดังเดิม ทว่าได้ปรับตัวมาสู่การเคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์แทน เป็นผลให้เวทีการรับฟังความคิดเห็นช่วงกลางเดือนพฤษภาคมซึ่งชุมชนมองว่าไม่เป็นธรรมถูกเลื่อนออกไป
“การเปลี่ยนแปลงฉับพลันของโลกดิจิทัลมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือเราเห็นข่าวปลอมเยอะขึ้นมาก รวมถึงเกิดคำถามเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลและอาชญกรรมไซเบอร์ แต่ขณะเดียวกัน ข้อดีคือเกิดเสียงสาธารณะ เปิดพื้นที่ให้เสียงท้องถิ่นพูดในเรื่องราวของตน วงการสิ่งแวดล้อมมีโอกาสเล่นได้อีกเยอะ จะต้องจับจริตกระแสสังคมให้ได้แล้วสื่อสารไปให้ไกล” พิจิตรา กล่าว
เธอชี้ว่าคนไทยและเพื่อนบ้านเอเชียใช้งานสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ Gen Y อายุ 19-38 ปี มีสถิติใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก 2-3 ชั่วโมงต่อวัน
สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.เพชร มโนปวิตร ผู้ร่วมก่อตั้ง ReReef และอดีตรองหัวหน้ากลุ่มส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN SE ASIA)  เขาตระหนักถึงอิทธิพลของสื่อโซเชียลโดยตนเองจากกรณีเมื่อปีพ.ศ.2557 เมื่อเขาได้โพสเฟซบุ๊กรูปภาพปลานกแก้วที่พบขายในตลาด พร้อมตั้งคำถามถึงความนิยมทาน ซึ่งปลานกแก้วเป็นสัตว์กินพืชที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศปะการัง จุดกระแสให้เกิดการลงชื่อออนไลน์ เรียกร้องจนห้างร้านขนาดใหญ่เลิกขายปลาชนิดดังกล่าวภายในเวลาหนึ่งเดือน 
เขาชี้ว่า สื่อสังคมออนไลน์มีประโยชน์ เพราะบุคคนทั่วไปสามารถช่วยรวบรวมข้อมูลต่างๆ และใช้ข้อมูลดังกล่าวตรวจสอบหน่วยงานรัฐและเอกชน พร้อมทั้งขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุควิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต้องรับมืออย่างเร่งด่วนเพื่อรักษาอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสในอีกสิบปี โลกออนไลน์จึงเป็นกุญแจสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลงที่ทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม เพชรเน้นว่า กระแสโซเชียลมักกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมของปัจเจก แต่สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกันคือนโยบายสาธารณะจากรัฐที่จะรองรับการปรับเปลี่ยนสู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ตัวอย่างที่เห็นชัดคือขยะพลาสติก ช่วงสองปีที่ผ่านมา ผู้คนเห็นภาพวาฬเกยตื้นมีถุงพลาสติกแปดสิบถุงในท้องและพยูนมาเรียม พากันเรียกร้องบนออนไลน์ จนรัฐบาลพัฒนาโร้ดแมพจัดการขยะพลาสติก แต่ต้องพึงระลึกว่า เราจะเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าไม่มีระบบจัดการขยะรองรับต่อ ปัญหาหลายๆ อย่างไม่ได้แก้ได้ด้วยแค่จิตสำนึก จะต้องมีนโยบายและระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพควบคู่เพื่อแก้ปัญหาให้ถึงที่สุด”
เวทีเสวนาดังกล่าวจัดโดย Bangkok Tribune ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และเครือข่าย สนับสนุนโดย Konrad Adenauer Stiftung ผู้สนใจสามารถติดตามกิจกรรมเสวนาและวงคุยรายเดือนอื่นๆ ของ Bangkok Tribune ได้ทางเว็บไซต์ และเพจเฟซบุ๊ก
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad