เลื่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นเขตอุตสาหกรรมจะนะไม่มีกำหนด หลังชาวบ้านประท้วงข้ามคืน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เลื่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นเขตอุตสาหกรรมจะนะไม่มีกำหนด หลังชาวบ้านประท้วงข้ามคืน

ภาพวาด ไครียะห์ ระหมันยะ ณ ศาลากลางจังหวัดสงขลา เรียกร้องให้ยกเลิกการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะนะกลางเดือนพฤษภาคม // ขอบคุณภาพจาก: Supaporn Malailoy
ศอ.บต.เลื่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นเขตอุตสาหกรรมจะนะ ออกไปไม่มีกำหนด เตรียมปรับเป็นออนไลน์และให้ส่งหนังสือ หลังประชาชนและภาคประชาสังคมเรียกร้องให้ยกเลิก ชี้ลักไก่สิทธิแสดงความเห็นของประชาชนในยามวิกฤต
วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2563 สำนักข่าว The Reporters รายงานว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เลื่อนจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งมีกำหนดจัดในวันที่ 14 – 20 พฤษภาคมนี้ อย่างไม่มีกำหนด ด้วยเหตุอยู่ในช่วงโควิด – รอมฎอน ทำให้คนในพื้นที่ไม่สะดวกเข้าร่วม อีกทั้งเกิดความไม่สบายใจ โดย ศอ.บต. เตรียมปรับรูปแบบการรับฟังความคิดเห็นเป็นออนไลน์และให้ส่งหนังสือ พร้อมย้ำว่าได้ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการต่างๆ กับประชาชนถึงครัวเรือน พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อหาแนวทางทำงานร่วมกันต่อไป
มติเลื่อนจัดเวทีรับฟังความเห็นดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก นักกิจกรรม เยาวชนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น “ยะห์” ไครียะห์ ระหมันยะ วัย 17 ปี ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการจัดเวทีดังกล่าว
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ENLAW) ซึ่งติดตามการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤตโควิด ชี้ว่ากรณีจัดเวทีรับฟังความเห็นที่วางแผนจะจัดขึ้นนั้นเร่งรัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและไม่เป็นธรรม นับเป็นการจัดเพียงเพื่อให้กระบวนการทางกฎหมายเสร็จสิ้นเพื่อดำเนินโครงการต่อได้ โดยมีข้อบกพร่องสามประการต่อไปนี้
1.วิธีประชาสัมพันธ์การเปิดรับฟังความคิดเห็นของศอ.บต.ไม่อาจทำให้ประชาชนเข้าถึงเพื่อใช้สิทธิมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างแท้จริง เนื่องจากศอ.บต.ได้ปิดประกาศไว้ที่ทำงานและเว็บไซต์ส่วนราชการต่างๆ ซึ่งประชาชนไม่เข้าถึงหากไม่มีเหตุจำเป็น ยิ่งไปกว่านั้น ศอ.บต.ยังได้กำหนดวันรับฟังความคิดเห็นวันสุดท้ายเป็นวันที่ 20 พฤษภาคม ซึ่งเร่งรัดประชาชนที่ไม่อาจทราบข้อมูลมาก่อน แม้กฎหมายจะไม่ได้ระบุกรอบเวลา
2. การจัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นช่วงเวลานี้ขัดแย้งต่อมาตราการของรัฐช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การจำกัดการเดินทาง การจัดประชุมเสวนา และการรวมกลุ่มจัดกิจกรรมของประชาชนในพื้นที่สาธารณะ เป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมบำรุงรักษาและจัดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
3. เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็นสร้างภาระกับประชาชนเกินสมควรและไม่ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทุกคน ศอ.บต.ได้กำหนดให้เฉพาะผู้มีที่อยู่อาศัยในสามตำบล (สะกอม/ตลิ่งชัน/นาทับ) มีสิทธิแสดงความคิดเห็น โดยต้องแนบสำเนาเอกสารแสดงถึงการมีที่อยู่อาศัยประกอบ พร้อมกำหนดให้ระบุข้อเท็จจริง เหตุผล และแนวทางการแก้ปัญหา อย่างไรก็ตามหน้าที่รับเอาความคิดเห็นของประชาชนไปพิจารณาเพื่อหาทางแก้ไขเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐและเอกชน ยิ่งไปกว่านั้น โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะจะกระทบอย่างกว้างขวางและหลายมิติแก่คนหลายพื้นที่มากกว่าสามอำเภอ ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชน
ด้าน “ยะห์”​ ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกสาวชาวประมงบ้านสวนกง ต.นาทับ ยืนยันว่า คนในพื้นที่ไม่ทราบถึงการจัดเวทีประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง เธอได้เขียนจดหมายจ่าหัวถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมปักหลักหน้าศาลากลางจังหวัดสงขลาตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการจัดเวทีและทบทวนโครงการ
“หนูเติบโตมากับทะเล ไม่อยากให้นิคมอุตสาหกรรมเกิดในพื้นที่เพราะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล เพราะเมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรมที่มาตพุด จังหวัดระยองแล้วมีผลกระทบต่อสุขภาพคนในพื้นที่ อีกทั้งจะนะยังเป็นแหล่งผลิตอาหารในสงขลาและส่งออกสู่อาเซียน อาหารที่นี้ปลอดสารพิษเพราะไม่มีโรงงาน” ไครียะห์ กล่าว
โครงการเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นหนึ่งในพื้นที่ “เมืองต้นแบบแห่งที่สี่” ในโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ได้รับการอนุมัติในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2562 โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 18,680 ล้านบาท
ปีนี้ เพื่อย้ำเตือนถึงการมีอยู่ของโครงการ ประชาชนได้จัดกิจกรรม Mob From Home แสดงความคิดเห็นคัดค้านโครงการดังกล่าวบนโลกออนไลน์ผ่าน #SaveChana และ #Saveยะห์
ที่มาGreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad