นักสู้แห่งแม่แจ่ม เนรมิตสวรรค์บนดิน ด้วยการจัดการ “น้ำ-ดิน-ป่า” - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

นักสู้แห่งแม่แจ่ม เนรมิตสวรรค์บนดิน ด้วยการจัดการ “น้ำ-ดิน-ป่า”


นักสู้แห่งแม่แจ่ม เนรมิตสวรรค์บนดิน ด้วยการจัดการ “น้ำ-ดิน-ป่า”
สู่ต้นน้ำผลิตอาหาร สู้ภัยแล้ง-ฝ่าโควิด

อ.แม่แจ่ม เมืองเล็ก ๆ ใน จ.เชียงใหม่ ที่ถูกโอบล้อมด้วยขุนเขา จากพื้นที่เขาเขียวขจีกลับต้องเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เพราะแม่แจ่มเป็น 1ใน 21 อำเภอ ที่ได้ผลกระทบจากภัยแล้งที่หนักสุดในรอบ 40 ปี
ทว่ามีเกษตรกรนักสู้อย่าง มนตรี ภาสกรวงศ์ เกษตรกรแห่งบ้านแม่ซา ที่อดีตเคยเป็นพ่อหลวง ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม ผู้นำชุมชนสู้ภัยแล้งต้นแบบในโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง” ผู้สืบสานพระราชปณิธานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเชื่อในหลักการพึ่งพาตนเอง ด้วยการลุกขึ้นมาบริหารจัดการน้ำ ไม่รอพึ่งพาเพียงแหล่งน้ำธรรมชาติ และทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ช่วยสร้างทางเลือกในการทำเกษตรได้หลากหลาย
พ่อหลวงมนตรีมีที่ดินมรดกกว่า 27 ไร่ แต่กลับเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมบนภูเขาหัวโล้น เพราะบอบช้ำจากการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่สามารถขายทำกำไรแต่ละปีแล้วขาดการบำรุงแร่ธาตุ จนผืนดินค่อย ๆ เสื่อมโทรมลง และถูกปล่อยให้รกร้างในที่สุด 

พ่อหลวงมนตรี ภาสกรวงศ์ คุณมนตรี ผู้นำชุมชนสู้ภัยแล้งต้นแบ

หันหลังจากแรงงานรับจ้าง สืบสานรากฐานเกษตรกรไทย
ก่อนผันตัวเองมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างจริงจัง พ่อหลวงมนตรีเคยทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดไปรับจ้างขายแรงงานในเมือง ด้วยเชื่อว่า จะเป็นทางออกที่ทำให้ชีวิตครอบครัวมีฐานะมั่นคงและมีความสุข เพราะจะสามารถหารายได้ได้เพียงพอ สุดท้ายก็พบว่า ค่าจ้างแรงงานที่แม้จะสูง ก็ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับต้นทุนชีวิตที่มีค่าใช้จ่าย ทั้งอาหาร และที่พัก จึงถึงเวลากลับภูมิลำเนา เพื่อสืบสานรากฐานที่เติบโตมาจากครอบครัวเกษตรกร
หลังจากกลับบ้านเกิด พ่อหลวงมนตรีได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้นำชุมชนเป็นเวลากว่า 9 ปี จึงทำให้เห็นวังวนปัญหาของวิถีเกษตรกรไทย ที่ต้องเผชิญกับสภาพดินเสื่อม น้ำไม่เพียงพอ ขาดแคลนเงินทุน จำต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยวแม้จะขาดทุน
พ่อหลวงมนตรีจึงลุกขึ้นมาสวนกระแสเกษตรกรส่วนใหญ่ ด้วยการทำ “เกษตรอย่างยั่งยืน” โดยหวังว่าจะมีรายได้เลี้ยงครอบครัว และคืนสมดุลธรรมชาติให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้สามารถพึ่งพาทรัพยากรได้ยืนยาว
“ถึงเวลาแล้วที่ตัวเองต้องทำการเกษตรเต็มตัว เป็นเกษตรกรรมที่มีความมั่นคง ไม่ใช่เพียงเพื่อเลี้ยงตัว แต่ต้องเลี้ยงครอบครัว คืนประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน แม้ผู้ริเริ่มจะยากที่จะได้รับการตอบรับก็ตาม” หลักคิดที่พ่อหลวงยึดถือสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรด้วยจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม

บ่อน้ำที่ขุดไว้ ขนาด 15×25 เมตร 
แปลงทฤษฎีการจัดการน้ำสู่ภาคปฏิบัติ
ด่านแรกของการเริ่มต้นคือ จัดสรรผืนดินแห้งแล้งให้มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับทำเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยมีพี่เลี้ยงที่ช่วยแนะนำความรู้เพื่อพลิกฟื้นผืนดินเสื่อมโทรม จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. รวมทั้งเครือข่ายแม่ละอุป และมูลนิธิรักษ์ไทย ด้วยการนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำมาใช้ในพื้นที่ และปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรไปเป็นรูปแบบของวนเกษตร
พ่อหลวงมนตรีใช้เวลา 3 ปี ในการพลิกฟื้นผืนดินมรดกเสื่อมโทรมถึงขั้นเป็นเขาหัวโล้น ให้เป็นพื้นที่ที่สามารถทำการเกษตรได้อย่างอุดมสมบูรณ์ด้วยการ “สร้างแหล่งน้ำ” ตั้งแต่ การสร้างฝายชะลอน้ำ ขุดสระน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เชื่อมต่อแหล่งน้ำด้วยท่อ เพื่อนำน้ำมาใช้หมุนเวียน พร้อมวางระบบน้ำแบบหยด เพื่อให้น้ำซึมไปตามร่องดินที่เก็บน้ำไม่อยู่ผ่านไปสู่พืช และให้มีน้ำหล่อเลี้ยงพืชได้ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็สร้างถังเก็บน้ำสำรองไว้ที่สูง เพื่อเป็นระบบการจัดการน้ำในพื้นที่ โดยใช้แรงดันน้ำดันให้น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เมื่อมีแหล่งน้ำไว้ใช้ก็มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยพี่เลี้ยงแนะนำให้ทำระบบโซล่าเซลล์ ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในการใช้เครื่องสูบน้ำ
“แทบไม่น่าเชื่อว่าจากพื้นดินแห้งแล้งกลับมาเพาะปลูกได้ จึงเริ่มจากปลูกผักใบช่วยบำรุงแร่ธาตุในดิน ให้พืชเจริญเติบโต ตามด้วยการปลูกไม้ผลอีกหลายชนิดพร้อมกันกับเลี้ยงสัตว์ ตามสัดส่วนของพื้นที่”

ติดตั้งโซลาร์เซลล์ช่วยลดต้นทุนในการใช้ไฟฟ้าสูบน้ำ

เศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กับการวางระบบเกษตรผสมผสาน ปรัชญาช่วยฝ่าทุกภัย
            การขยายพื้นที่แต่ละครั้งของพ่อหลวงมนตรียึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “ประมาณตน มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน” จึงค่อย ๆ ขยายพื้นที่ตามกำลัง เพราะไม่สามารถทำทีเดียวทั้งหมด 27 ไร่ โดยพ่อหลวงมนตรี มุ่งเน้นการจัดสรรพื้นที่การเกษตรให้เหมาะสมกับฤดูกาลและปริมาณน้ำ พร้อมกับจัดทำวนเกษตร คือการสร้างป่าในพื้นที่แปลงเกษตร ด้วยการปลูกพืชที่หลากหลายทั้งไม้ยืนต้น ไม้ผล พืชผักสวนครัว และพืชผักหมุนเวียน เช่น ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ซึ่งเป็นกลุ่มผักที่ใช้ระยะเวลาปลูกและเก็บเกี่ยวสั้น ส่วนระยะกลาง พ่อหลวงมนตรีเลือกปลูกไม้ผล เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ มะละกอ เสาวรส มะพร้าว เพราะไม้ผลจะมีรอบการผลิตปีต่อปี รายได้รายปีจึงเกิดจากไม้ผลเป็นส่วนใหญ่ และระยะยาว เป็นการปลูกไม้ยืนต้น เช่น ไม้สัก ไม้มะค่า ไม้มะฮอกกานี หรือไม้ยืนต้นชนิดอื่นที่ใช้ระยะเวลาการเจริญเติบโต
            “ผมใช้เวลา 3 ปี เริ่มจากไปเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำ สร้างแหล่งน้ำคู่กับการทำวนเกษตร ยามแล้งไม่ขาดน้ำ ในขณะที่ชุมชนโดยรอบยังคงทำการเกษตรปลูกพืชไร่ไม่สอดคล้องกับสภาพดิน แต่ผมปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ เป็นทุนต่อยอดปลูกพืชชนิดอื่น โดยทีละส่วน ทำเท่าที่มีเงินทุน ยังไม่สายหากชุมชนจะเริ่มมองการจัดการน้ำในพื้นที่อย่างเป็นระบบ และสร้างแหล่งอาหารของตัวเอง แม้จะมีวิกฤตเกิดขึ้น ก็จะผ่านพ้นไปได้อย่างแน่นอน” พ่อหลวงเล่าถึงรางวัลแห่งการเรียนรู้การพึ่งพาตนเอง

จัดสรรพื้นที่เพื่อเตรียมทำเกษตรผสมสาน

พ่อหลวงมนตรีย้ำว่า จากที่เริ่มต้นด้วยการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและทำเกษตรผสมผสาน จนสามารถพลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้งบนภูเขาหัวโล้นให้เป็นแดนสวรรค์ อุดมสมบูรณ์ พร้อมรับมือฝ่าฟันทุกภัยได้ทั้งวิกฤตภัยแล้ง หัวใจสำคัญคือการหาแหล่งน้ำ เมื่อน้ำธรรมชาติขาดแคลน แต่ท้องไร่แห่งนี้ยังมีบ่อน้ำสำรองเพียงพอสำหรับปลูกพืชเป็นแหล่งอาหารได้อย่างมั่นคง หรือแม้กระทั่งวิกฤตโรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ชีวิตเกษตรกรนักสู้ยังดำเนินต่อในวิถีเดิม เป็นต้นน้ำผลิตอาหาร ฟันเฟืองหนึ่งซึ่งขับเคลื่อนสังคม ช่วยลดการขาดแคลนอาหาร สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศในภาวะที่ต้องเผชิญกับวิกฤต

ขุดร่องน้ำในพื้นที่

“ไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่ว มีปัญหาการกักตุนสินค้าขยายวงกว้าง และเกษตรกรส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ผมกลับมั่นใจในการบริหารจัดการน้ำตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ว่าจะช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้ง สามารถปลูกพืชและมีผลผลิตที่ได้กินและใช้ในครัวเรือน เหลือก็จำหน่าย ไม่ต้องซื้อเพิ่มหรือกักตุนเหมือนคนอื่น ยังไม่สายไปหากชุมชนอื่นจะเริ่มหันมาบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อย่างเป็นระบบ เพื่อทำเกษตร สร้างแหล่งอาหารให้ตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นไปได้อย่างแน่นอน”

เสาวรส หนึ่งในไม้ผลที่สร้างรายได้ให้กับคุณมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad