ฤดูฝนมาแล้ว พยากรณ์ชี้ปีนี้ฝนหนักใต้เขื่อน กรุงเทพฯเสี่ยงท่วม แนะสร้างแหล่งเก็บน้ำท้องถิ่นแก้ท่วมแล้ง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ฤดูฝนมาแล้ว พยากรณ์ชี้ปีนี้ฝนหนักใต้เขื่อน กรุงเทพฯเสี่ยงท่วม แนะสร้างแหล่งเก็บน้ำท้องถิ่นแก้ท่วมแล้ง

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศ ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ (18 พฤษภาคม) ด้านนักวิชาการเผยผลการพยากรณ์อากาศของฤดูฝนปีนี้ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร จะได้รับปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ เสี่ยงเกิดภัยน้ำท่วม ไม่ช่วยเติมน้ำในเขื่อนหลักภาคเหนือ – ภาคอีสาน พร้อมชี้ว่าทุกภาคส่วนควรมุ่งเน้นสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กตามท้องถิ่นต่างๆ เพื่อเสริมความมั่นคงด้านการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ และสร้างศักยภาพชุมชนในการรับมือน้ำท่วม – น้ำแล้ง
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2563 กรมอุตุนิยมวิทยาได้เผยแพร่การประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2563 โดย น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตามเกณฑ์ทางอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม เป็นต้นไป จากการเปลี่ยนแปลงทิศทางลมชั้นบนตั้งแต่ระดับความสูง 5 กิโลเมตรขึ้นไปเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมระดับผิวพื้นถึงความสูง 3.5 กิโลเมตร เปลี่ยนเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมประเทศไทย ทำให้หลายพื้นที่ทั่วประเทศเริ่มมีฝนตกชุกต่อเนื่อง
ฝน
กรุงเทพมหานครเริ่มมีฝนตกมากขึ้น หลังจากสภาพอากาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการวันนี้ (18 พฤษภาคม) / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
น.อ.สมศักดิ์ เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์สภาวะอากาศในช่วงฤดูฝนนี้ ประเทศไทยจะยังคงได้รับปริมาณฝนรวมทั้งประเทศตลอดช่วงฤดูฝนน้อยกว่าค่าปกติ ประมาณ 5% แต่ก็ถือได้ว่าเป็นปริมาณน้ำฝนรวมสูงกว่าฤดูฝนปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าฤดูฝนปีนี้จะสิ้นสุดในพื้นที่ตอนบนของประเทศราวช่วงกลางเดือนตุลาคม ในขณะที่ภาคใต้จะยังคงมีฝนตกชุกต่อเนื่องจนกระทั่งราวกลางเดือนมกราคม พ.ศ.2564
“ในระยะแรกของฤดู (กลางเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน) ปริมาณและการกระจายตัวของฝนจะยังไม่สม่ำเสมอ แต่จะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ สำหรับช่วงปลายเดือนมิถุนายน – กลางเดือนกรกฏาคม จะเป็นช่วงในทิ้งช่วง มีปริมาณฝนตกน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรหลายพื้นที่โดยเฉพาะนอกเขตชลประทาน ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน จะเป็นเดือนที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ประมาณ 1-2 ลูก” เขาระบุ
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวทิ้งท้ายว่า จากปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าค่าปกติและไม่สม่ำเสมอ ขอให้เกษตรกรที่เพาะปลูกพืชในช่วงฤดูฝนวางแผนสำรองน้ำในช่วงที่มีฝนตกน้อย รวมทั้งวางแผนป้องกันผลผลิตทางการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในขณะที่ภาคส่วนต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว สาธารณสุข อุตสาหกรรม รวมทั้งประชาชนทั่วไป ควรวางแผนการดำเนินงานเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนนี้ รวมทั้งกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ภายหลังสิ้นสุดฤดูฝนต่อไปด้วย
ในขณะที่ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า การพยากรณ์อากาศในฤดูฝนของประเทศไทย โดย International Research Institute for Climate Society (IRI) แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ชี้ไปในทิศทางใกล้เคียงกันกับการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยพบว่า การเข้าสู่ฤดูฝนทำให้ประเทศไทยกลับมามีสภาพอากาศชุ่มชื้น และได้รับปริมาณฝนมากขึ้น ถือเป็นการสิ้นสุดสภาวะภัยแล้งรุนแรง แต่ในช่วงต้นฤดู หลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือ จะยังคงมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
“หากแต่หลังจากกลางเดือนมิถุนายน ผลพยากรณ์ของ IRI คาดการณ์ว่า บางพื้นที่ของประเทศไทยจะได้รับปริมาณฝนมากขึ้น ลากยาวไปจนถึงเดือนตุลาคม โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่าปริมาณฝนสะสมในพื้นที่ดังกล่าวจะเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ จนอาจทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เกษตรในที่ลุ่มภาคกลาง และในกรุงเทพฯ ได้ ชาวกรุงและภาคกลางเตรียมรับมือกับน้ำท่วมกันให้ดีนะครับ” รศ.ดร.วิษณุ กล่าว
ฝน
ผลการพยากรณ์ความปริมาณฝนในประเทศไทยช่วงฤดูฝนนี้ เทียบกับค่าเฉลี่ย โดย International Research Institute for Climate Society (IRI) //ขอบคุณภาพจาก: Witsanu Attavanich
เขาตั้งข้อสังเกตว่า ปริมาณฝนที่มากขึ้นในพื้นที่ภาคกลาง อาจไม่เป็นประโยชน์เท่าใดนัก ในการเติมน้ำในเขื่อนหลักต่างๆ ของประเทศ ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่ต่างมีปริมาณน้ำกักเก็บเหลือน้อยจนแทบแห้งขอด ภายหลังจากประสบสภาวะความแห้งแล้งรุนแรงหลายฤดูกาลติดต่อกัน ดังนั้นเราจึงไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า เขื่อนเหล่านี้จะสามารถกักเก็บน้ำระหว่างช่วงฤดูฝนได้เพียงพอ สำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งหน้า
ข้อมูลจากคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เผยว่า เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม เขื่อนขนาดใหญ่ 22 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การน้อยวิกฤต (น้อยกว่า 30%) ในจำนวนนี้รวมถึง 4 เขื่อนหลักทั้งหมดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล (4%) เขื่อนสิริกิติ์ (7%) เขื่อนขุนด่านปราการชล (12%) และเขื่อนป่าสักฯ (12%)
“ความผันผวนของสภาวะอากาศที่เราเผชิญนี้ มีสาเหตุมาจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ทำให้ฤดูฝนนี้เราต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากทั้งปัญหาน้ำท่วม และการขาดแคลนน้ำ แม้ว่าเราจะมี Climate Change Masterplan (แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) แล้ว แต่ว่าในทางปฏิบัติกลับไม่มีการดำเนินการตามแผนดังกล่าวอย่างจริงจังเท่าใดนัก ยิ่งไปกว่านั้น เกษตรกรไทยกว่า 70% ยังไม่เข้าถึงระบบชลประทาน และยังต้องเพิ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ในการทำเกษตร ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่เหล่านี้ยิ่งเปราะบางต่อภัยน้ำท่วม – น้ำแล้ง หนักขึ้นไปอีก” รศ.ดร.วิษณุ กล่าว
จากสภาพปัญหาดังกล่าว เขาเสนอว่า ภาครัฐ โดยเฉพาะกรมชลประทาน ควรปรับกระบวนคิดการบริหารจัดการน้ำใหม่ จากเดิมที่เน้นการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน แต่จากความผันผวนของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ทำให้ประสิทธิภาพของแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่เหล่านี้ลดลงอย่างมาก
ภัยแล้ง
ลำธารแห่งหนึ่งใน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ แห้งขอดจนไม่เหลือน้ำ ระหว่างสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กในชุมชน เช่น สระแก้มลิง ที่นอกจากจะเป็นพื้นที่รับน้ำ ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน ยังเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ในช่วงหน้าแล้งอีกด้วย อันจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงและศักภาพชุมชนในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้ง” เขาเสนอ
“ในขณะที่ในชุมชนเมือง ก็ควรมีการออกแบบผังเมืองให้สอดคล้องกับบริบทของน้ำในพื้นที่ ป้องกันปัญหาการก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ และขุดลอกทางระบายน้ำให้น้ำไหลได้สะดวก เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในเมือง”
เขายังแนะนำให้ ภาครัฐเน้นการจัดการน้ำที่อุปสงค์มากขึ้น โดยออกมาตรการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและประชาชนใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย ใช้เทคโนโลยีการบำบัดน้ำมาใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด สร้างความยั่งยืนในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ
 ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad