ปิดอุทยานให้ธรรมชาติฟื้น ดีแต่ไม่ยั่งยืน นักอนุรักษ์แนะจัดท่องเที่ยวให้เหมาะสม - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ปิดอุทยานให้ธรรมชาติฟื้น ดีแต่ไม่ยั่งยืน นักอนุรักษ์แนะจัดท่องเที่ยวให้เหมาะสม

ฝูงช้างออกหากิน ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี // ขอบคุณภาพจาก: ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นักอนุรักษ์ชี้ นโยบายปิดอุทยานนั้นดี แต่ไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน แนะควรจำกัดจำนวนคนและส่งเสริมคุณภาพนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ หลังกรมอุทยานฯ ประกาศให้ 133 แห่งทั่วไทยต้องมีช่วงปิดฟื้นฟูธรรมชาติไม่น้อยกว่า 3 เดือนทุกปี ตามแนวคิดใหม่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2563  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ  ศิลปอาชา   เผยบนเพจเฟซบุ๊กถึงแนวคิดปิดอุทยานแห่งชาติ 133 แห่งทั่วไทย ไม่ต่ำกว่า 3 เดือนทุกปีเพื่อให้ธรรมชาติได้พักฟื้น หลังพบทรัพยากรธรรมชาติฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดเพราะปราศจากการรบกวนจากมนุษย์ในช่วงอุทยานปิดเพื่อลดการแพร่ระบาดไวรัสตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม
นับตั้งแต่กรมอุทยานแห่งชาติ ประกาศปิดอุทยานแห่งชาติทุกแห่งทั่วประเทศ เพจเฟซบุ๊กฝ่ายประชาสัมพันธ์ของอุทยานต่างๆ ได้เผยภาพและคลิปสัตว์ป่าในพื้นที่ออกหากินอย่างคึกคักอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอุทยานทางบก และอุทยานแห่งชาติทางทะเล เช่น พบฝูงช้างออกหากิน ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และฝูงโลมาปากขวดนับร้อยตัวบริเวณใกล้เกาะบอน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
“แนวคิดนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลร่วมกับนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการปิดอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งในช่วงเวลาที่เหมาะสม ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป” วราวุธ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวเป็นที่ตั้งคำถามของนักอนุรักษ์หลายรายถึงประสิทธิภาพ ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการทางทะเล โพสเฟซบุ๊กว่า เห็นด้วยกับนโยบายปิดอุทยาน แต่จะต้องปฏิบัติด้วยความรอบคอบและครบถ้วน เนื่องจากอุทยานแต่ละแห่งมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น บางแห่งมีการปิดอุทยานเป็นธรรมเนียมทุกปีอยู่แล้ว บางแห่งมีนักท่องเที่ยวมาตลอดทั้งปี แต่ละที่มีศักยภาพรับนักท่องเที่ยวได้แตกต่างกัน จึงมีรายละเอียดหลายประการต้องพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุทยานทางทะเล ซึ่งจะกระทบกับการท่องเที่ยวอันเป็นรายได้หลักของประเทศ นอกจากนี้ เขาย้ำว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องทำควบคู่คือการจำกัดจำนวนผู้มาเยือนในเวลาหนึ่งไม่ให้มากเกินไป
อย่างไรก็ดี เอกโชค บูรณอนันต์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจกรรมและการศึกษา สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปิดอุทยานจะปิดกั้นการมีส่วนร่วมดูแลธรรมชาติของภาคประชาชน โดยนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์นับเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเก็บข้อมูลและเฝ้าดูแลรักษาธรรมชาติ เห็นได้จากเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากเกาะเต่า จังหวัดสุราษฏร์ธานี เปิดให้นักท่องเที่ยวดำน้ำได้หลังการปิดเพราะสถานการณ์โควิด แทนที่จะพบภาพธรรมชาติฟื้นฟู นักดำน้ำกลับพบหลักฐานการลักลอบเข้ามาทำประมงบริเวณกองหินชุมพรช่วงไร้เรือนักท่องเที่ยว พวกเขาพบว่าปลาในบริเวณดังกล่าวหายไปผิดธรรมชาติ พร้อมพบซากลอบปลาและซากอวนในบริเวณ
เอกโชคยังเสริมว่า การปิดอุทยานอาจกระทบวัตถุประสงค์หลักของสถานที่ ซึ่งเป็นการเปิดให้ผู้คนเข้าไปสัมผัสและเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ โดยจะกระทบกับการจัดกิจกรรมเดินป่าเรียนรู้ธรรมชาติของนักเรียน ซึ่งเปิดโอกาสให้เยาวชนเรียนรู้ธรรมชาติจากของจริง
ฝูงโลมาปากขวดนับร้อยตัวบริเวณใกล้เกาะบอน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน // ขอบคุณภาพจาก: สำนักอุทยานแห่งชาติ – National Parks of Thailand
ทางออกที่ยั่งยืนสำหรับการฟื้นฟูธรรมชาติอาจไม่ใช่เพียงการปิดรับนักท่องเที่ยว นัท สุมนเตมีย์ ช่างภาพใต้น้ำ ให้ความเห็นว่า
“ผมว่าสิ่งที่เราควรจะต้องพิจารณามากกว่าคือ อุทยานแห่งชาติในแต่ละที่ได้มีการจัดการ หรือให้ความรู้ในด้านธรรมชาติกับนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในเชิงรุกมากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่”
เขายกตัวอย่างอุทยานในต่างประเทศซึ่งมีการอบรมนักท่องเที่ยวว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร เช่น อุทยานแห่งชาติในสหรัฐฯ บางแห่งที่เป็นถิ่นอาศัยของหมี นักท่องเที่ยวจะต้องเข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเวลาอยู่ในป่าก่อนเข้าชม นอกจากนี้อุทยานต่างๆ จะมีกิจกรรมนำโดยเจ้าหน้าที่ให้เลือกเข้าร่วมได้หลากหลายตามความสนใจ เช่น เดินชมอุทยาน ดูนก และถ่ายภาพ เป็นการส่งเสริมความรักและเข้าใจในธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
“จากประสบการณ์ที่ได้ไปอุทยานแห่งชาติอื่นๆ ในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลกมาสิ่งที่ผมพบเห็นอย่างหนึ่งก็คือ การทำสื่อเพื่อสื่อความหมายธรรมชาติของอุทยานไทยนั้นยังทำได้ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ และเราไม่เคยเน้นในเรื่องของความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ให้กับนักท่องเที่ยวเลย”
เจ้าหน้าที่อุทยานให้ความรู้เรื่องไฮยีน่าระหว่างกิจกรรมเดินชมอุทยาน ณ อุทยานแห่งชาติ Zion สหรัฐฯ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมได้ฟรีทุกวัย / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad