PwC เผยผลสำรวจซีเอฟโอปรับแผนดูแลความปลอดภัยในที่ทำงานและสุขภาพ ของพนักงาน หลังหลายรัฐในสหรัฐฯ เตรียมเปิดให้ธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

PwC เผยผลสำรวจซีเอฟโอปรับแผนดูแลความปลอดภัยในที่ทำงานและสุขภาพ ของพนักงาน หลังหลายรัฐในสหรัฐฯ เตรียมเปิดให้ธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้



PwC เผยผลสำรวจซีเอฟโอปรับแผนดูแลความปลอดภัยในที่ทำงานและสุขภาพ

ของพนักงาน

หลังหลายรัฐในสหรัฐฯ เตรียมเปิดให้ธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้


กรุงเทพฯ, 5 พฤษภาคม 2563 – PwC เผยผลสำรวจความคิดเห็นของซีเอฟโอและผู้บริหารฝ่ายการเงินสหรัฐฯ และเม็กซิโกพบส่วนใหญ่เริ่มหันมาปรับมาตรการดูแลความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน และกำหนดระยะห่างระหว่างบุคคลในพื้นที่ทำงานใหม่ หลังหลายรัฐเตรียมใช้มาตรการคลายล็อกดาวน์ เช่นเดียวกับซีเอฟโอทั่วโลก ด้าน PwC ประเทศไทย ประเมินมีหลายบริษัทเริ่มวางแผนฟื้นฟูขององค์กรหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลายเพื่อกลับเข้าสู่ภาวะความปกติแบบใหม่ของการทำธุรกิจ ที่พึ่งพาเทคโนโลยีมากกว่าเดิม  รวมทั้งเร่งตรวจสอบความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจ
PwC เผยผลสำรวจ COVID-19 CFO Pulse Survey ครั้งที่ 4 พบว่า 77% ของประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน หรือ ซีเอฟโอ (Chief Financial Officer: CFO) ในสหรัฐอเมริกาคาดว่า จะต้องมีการวางมาตรการดูแลความปลอดภัยในสถานที่ทำงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อพนักงานเริ่มกลับเข้าไปทำงานในที่ทำงาน ขณะที่ 65% คาดว่า จะต้องมีการกำหนดพื้นที่ทำงานใหม่ เพื่อส่งเสริมการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลให้กับพนักงาน และ 52% คาดว่า จะต้องมีการปรับเปลี่ยน และ/หรือ สลับระยะเวลาทำงานเพื่อลดความเสี่ยง นอกจากนี้ ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจยังคาดว่า ความต้องการด้านการปกป้องคุ้มครองพนักงานจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ตามที่สหรัฐอเมริกาได้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการกักตัวอยู่ที่บ้านในหลาย ๆ รัฐ และเปิดให้ธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้งนั้น 52% ของซีเอฟโอกล่าวว่า ธุรกิจของพวกเขาจะสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ภายในระยะเวลาน้อยกว่า 3 เดือน หากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) สิ้นสุดลงทันที อย่างไรก็ดี มีผู้นำทางธุรกิจที่ต้องพิจารณาการปลดพนักงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อควบคุมต้นทุนในการรับมือกับการแพร่ระบาด โดยจากการสำรวจพบว่า 32% ของซีเอฟโอจะต้องมีการเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6 จุด เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ขณะที่มากกว่าครึ่งหนึ่ง (53%) คาดการณ์ว่า รายได้และกำไรจะลดลงมากกว่า 10% ในปีนี้
“ในขณะที่บางรัฐในสหรัฐฯ กำลังเปิดให้ธุรกิจกลับมาเปิดกิจการได้อีกครั้ง ผู้บริหารทราบดีว่า พวกเขาไม่เพียงแต่มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคงของพนักงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความรับผิดชอบต่อชุมชนที่พวกเขาดำเนินธุรกิจด้วย” นาย ทิม ไรอัน ประธาน และหุ้นส่วนอาวุโส PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าว “ในขณะที่เรายังคงเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ต่อไป ผมเชื่อว่า แม้ว่าผู้บริหารจะต้องมีการตัดสินใจในเรื่องที่ยากลำบากและมีความเป็นไปได้ที่องค์กรจะต้องสูญเสียผลกำไร แต่ผู้บริหารก็จะยังคงทำสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้ เพื่อให้ความสำคัญกับคนของพวกเขาเป็นอันดับแรก และในทางกลับกัน ก็เป็นการช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นและเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวด้วย”
ข้อมูลเชิงลึกใหม่จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า น้อยกว่า 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถาม (22%) ระบุว่า พวกเขามีแผนที่จะใช้การติดตามการติดต่อ (Contact tracing) ของบุคคลที่อาจมีการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อเพื่อให้ธุรกิจกลับมาเปิดกิจการได้ ขณะที่เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (49%) คาดว่า ควรจัดให้การทำงานทางไกล (Remote working) เป็นตัวเลือกถาวร สำหรับพนักงานที่มีตำแหน่งหน้าที่ที่สามารถทำได้
“ในขณะที่ผู้นำธุรกิจกำลังเริ่มวางกลยุทธ์เพื่อนำพนักงานกลับมาทำงานในที่ทำงาน และกลับไปพบปะกับลูกค้าได้ตามปกติ พวกเขาตระหนักว่า สถานที่ทำงาน และประสบการณ์ที่ส่งมอบให้กับลูกค้าจะแตกต่างไปจากช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19” นางสาว เอมิที มิลไฮเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายลูกค้า ของ PwC กล่าว “ผู้บริหารหลายรายหันไปใช้เทคโนโลยีและโซลูชั่นดิจิทัลใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาปรับตัวและรักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งจะเป็นความปกติในรูปแบบใหม่สำหรับอนาคตอันใกล้นี้”
เมื่อภาคธุรกิจกำลังกลับไปสู่การดำเนินงานตามปกติในสถานที่ทำงาน PwC ได้พัฒนาระบบการติดตามการติดต่อของบุคคลที่อาจมีการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อแบบอัตโนมัติ (Check-In with Automatic Contact Tracing) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้บริษัทสามารถระบุ และแจ้งเตือนพนักงานที่อาจมีการสัมผัส หรือใกล้ชิดกับผู้ร่วมงานในสถานที่ทำงานที่เคยผ่านการตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 มาก่อน
ด้าน นาย นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หัวหน้าสายงาน Clients and Markets หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจครอบครัว และหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับผลสำรวจความคิดเห็นของซีเอฟโอครั้งที่ 4 นี้ PwC ยังได้จัดทำผลสำรวจฉบับทั่วโลก (Global COVID-19 CFO Pulse report) ซึ่งได้ทำการสอบถามมุมมองความคิดเห็นของซีเอฟโอจำนวน 871 รายในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา โดยมีผู้ถูกสำรวจจาก 24 ประเทศและอาณาเขต ประกอบด้วย อาร์เมเนีย, อาเซอร์ไบจาน, บราซิล, ไซปรัส, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ไอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, คาซัคสถาน, มอลตา, เม็กซิโก, ตะวันออกกลาง, เนเธอร์แลนด์, ฟิลิปปินส์, โปรตุเกส, สิงคโปร์, สโลวาเกีย, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, ตุรกี, เวียดนาม, สหรัฐอเมริกา และ ไทย พบว่า ซีเอฟโอทั่วส่วนใหญ่เริ่มหันมาวางพิจารณาแผนดูแลความปลอดภัยของพนักงาน เพื่อให้กลับมาทำงานในสถานที่ทำงานได้ตามปกติด้วยเช่นกัน โดย 64% ของซีเอฟโอมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน (เช่น การต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือ การวัดอุณหภูมิก่อนเข้าทำงาน) ขณะที่ 55% ของซีเอฟโอมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่การทำงานเพื่อสนับสนุนการเว้นระยะห่างทางสังคม และ 47% กำลังพิจารณาว่า ควรจัดให้การทำงานทางไกล เป็นตัวเลือกถาวรของการทำงานของพนักงานในตำแหน่งที่สามารถทำได้
นอกจากนี้ จากการสำรวจพบว่า เกือบครึ่งหนึ่ง (49%) ของซีเอฟโอทั่วโลกยังเชื่อว่า องค์กรของพวกเขาจะสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติภายใน 3 เดือน หากวิฤตโควิด-19 สิ้นสุดลงทันที โดยซีเอฟโอในอุตสาหกรรมพลังงาน สาธารณูปโภคและทรัพยากร เป็นกลุ่มที่แสดงความเชื่อมั่นมากที่สุด (62%) ตามด้วย อุตสาหกรรมสุขภาพ (54%) และ อุตสาหกรรมค้าปลีก และ อุตสาหกรรมผู้บริโภค (51%)

“ในส่วนของไทยขณะนี้ความกังวลของซีเอฟโอต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีอยู่ แม้ไทยจะได้มีการผ่อนปรนมาตรการ
ล็อกดาวน์บางส่วน ซึ่งทำให้หลายองค์กรเริ่มหันมาจัดการแผนฟื้นฟูหลังวิกฤตเพื่อกลับเข้าสู่ภาวะความปกติแบบใหม่ ที่จะยิ่งมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น เมื่อคนเริ่มกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ นี่ยังรวมไปถึงการตรวจสอบความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดรอบใหม่ด้วย และเพื่อให้มั่นใจได้ว่า พนักงานและผู้มีส่วนได้เสียของธุรกิจจะได้รับความปลอดภัยที่ดีที่สุดจากมาตรการขององค์กร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผู้บริหารจะประมาทไม่ได้”
//จบ//
เกี่ยวกับผลสำรวจ
PwC ทำการสำรวจความคิดเห็นของซีเอฟโอและผู้บริหารฝ่ายการเงินของสหรัฐฯ จำนวนทั้งสิ้น 305 ราย ระหว่างวันที่ 20-22 เมษายน 2563 โดย 89% ของผู้ถูกสำรวจมาจากบริษัทเอกชนและบริษัทมหาชนใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ตลาดผู้บริโภค (14%) ธุรกิจบริการทางการเงิน (20%) อุตสาหกรรมสุขภาพ (12%) ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (23%) และเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม (20%) โดยผู้ถูกสำรวจ 57 รายมาจากบริษัทชั้นนำ 1,000 อันดับของนิตยสารฟอร์จูน ทั้งนี้ ผลสำรวจ PwC COVID-19 CFO Pulse Survey ถูกจัดทำขึ้นทุก ๆ 2 สัปดาห์เพื่อติดตามความคิดเห็นและลำดับความสำคัญของผู้บริหารต่อผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ซึ่งผลสำรวจครั้งแรกถูกจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคม ต่อมาครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 25-27 มีนาคม ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 6-8 เมษายน คุณสามารถอ่านผลจากการสำรวจและมุมมองของ PwC ได้ที่ pwc.com/us/covid-19-survey

เกี่ยวกับ PwC

ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า  เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 157 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 276,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com/th

เกี่ยวกับ PwC ประเทศไทย

PwC ประเทศไทย ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 61 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรมากกว่า 2,000 คนในประเทศไทย

PwC refers to the Thailand member firm, and may sometimes refer to the PwC network. Each member firm is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.

© 2020 PwC. All rights reserved

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad