3 ปัจจัยบวก ปลุกอุตสาหกรรม ฟื้นครึ่งปีหลัง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563

3 ปัจจัยบวก ปลุกอุตสาหกรรม ฟื้นครึ่งปีหลัง


 สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก มาตรการ "เว้นระยะห่างกายภาพ" (Physical distancing) และการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ เป็นเครื่องมือหลักที่เกือบทุกประเทศใช้เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโรค
ปัจจุบันประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการควบคุมการแพร่กระจายและความรุนแรงของโรค ดังจะเห็นจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ของไทยที่ลดลงเรื่อยๆ และอัตราการเสียชีริตที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการข้างต้นส่งผลต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2563 หดตัวร้อยละ 1.8% เป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2557 และหดตัวมากที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2554 ที่ไทยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ที่ประกาศออกมาล่าสุดคือ เดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ระดับ 79.04 หดตัว 17.21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 95.47 เนื่อง จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผล กระทบต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกและไทยหยุดชะงัก ต่อเนื่องมายังการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทอง ยุทโธปกรณ์ และอากาศยาน) หดตัว เพราะโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนมีการหยุดการผลิตชั่วคราว อาทิ กำลังการผลิตรถยนต์เหลือ 12.64% ทำให้ภาพรวมอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 51.87% ต่ำสุดในรอบ 8 ปี 5 เดือน นับจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่เดือนพฤศจิกายน 2554 เทียบกับเดือนก่อนหน้า 67.78%
"สุชาดา แทนทรัพย์" โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ได้หารือกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ถึงแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในช่วงที่เหลือของปี 2563 พบว่า ที่เหลือของปี 2563 คาดว่าเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมไทยมีแนวโน้มฟื้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ต้องอยู่บนสมมุติฐานว่าจะต้องไม่มีการระบาดอีกรอบของโควิด-19
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง เพราะขึ้นอยู่กับ 1.ความรุนแรงของการระบาด การผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่ และจำกัดการเดินทางในต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก 2.ทิศทางของสถานการณ์การระบาด การดำเนินมาตรการปิดสถานที่ และจำกัดการเดินทางในประเทศในช่วงที่เหลือของปี 3.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค รูปแบบการประกอบธุรกิจ และความเข้มข้นของมาตรการภาครัฐในการป้องกันและควบคุมภายหลังจากความรุนแรงของการระบาดลดลง และ 4.ความพร้อมของภาคธุรกิจในการ กลับมาดำเนินธุรกิจภายหลังจากการระบาดติดเชื้อความรุนแรงลดลง
จากภาวะถดถอยอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ มีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และผ่อนคลายการจำกัดการเดินทางเท่าที่จะเป็นไปได้อีกครั้ง
"คาดว่าสถานการณ์การระบาดในต่างประเทศจะลดความรุนแรงลงตามลำดับจนเข้าสู่ระดับที่สามารถทำให้พฤติกรรมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับใกล้เคียงกับภาวะปกติในไตรมาสที่สาม" โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรมระบุ
ขณะเดียวกัน การลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และลดการจำกัดการเดินทางอย่างช้าๆ ท่ามกลางมาตรการป้องกันและการควบคุมอย่างรัดกุม ซึ่งจะทำให้พฤติกรรมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจเริ่มกลับเข้าใกล้กาวะปกติในไตรมาสที่สาม
"สุชาดา" ระบุถึงบัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในช่วงครึ่งปีหลัง เช่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี อยู่ในช่วงของการปรับตัวลดลง 2.การผลิตและการส่งออกสินค้าสำคัญๆ ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเปลี่ยนแปลงทิศทางทางการค้า การย้ายฐานการผลิตในช่วงก่อนหน้าและปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความต้องการสินค้าในบางรายการเพิ่มขึ้น แม้ว่าการส่งออก (ไม่รวมทองคำ) และการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมจะปรับตัวลดลงในไตรมาสแรก แต่การผลิตและการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการยังคงขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและยา สินค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง กลุ่มสินค้าเครื่องจักรใช้งานทั่วไป ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และ 3.มาตรการและแรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐ อาทิ การเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และ 2564 งบประมาณภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท รวมถึง มาตรการสินเชื่อภายใต้พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 (ซอฟต์โลน)
แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่สามารถหยุดยั้งการปรับตัวลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ แต่มีบทบาทสำคัญในการที่จะบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและช่วยให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจในภาพรวมสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้นเมื่อสถานการณ์การระบาดผ่อนคลายลง
โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวด้วยว่า ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดประชุมหารือร่วมกับผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อรับฟังข้อเสนอ ความต้องการ ตลอดจนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และได้นำข้อเสนอจากการประชุมดังกล่าวมาจัดทำมาตรการ/แนวทางการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผล กระทบจากสถานการณ์โควิด-19
โดยในภาพรวมของความช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ มาตรการบรรเทาผล กระทบในระยะ 3-6 เดือน และมาตรการฟื้นฟูในระยะ 6-18 เดือน ครอบคลุม 6 กลุ่มมาตรการ ได้แก่ 1.การลดภาระการแบกรับต้นทุนที่เกิดจากผลกระทบโควิด-19 เพื่อการคงอยู่ของธุรกิจหรือการชะลอการเลิกจ้าง 2.การเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี 3.การลดภาระค่าใช้จ่าย 4.การยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และผ่อนคลายกฎระเบียบบางด้านเป็นการชั่วคราวเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการผลิต การนำเข้า-ส่งออก 5.การเร่งรัดนโยบายมาตรการเพื่อพัฒนา สร้างความเข้มแข็ง เพิ่มยอดขาย และ 6.การปรับโครงสร้าง เร่งส่งเสริม พัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน
มาตรการทั้งหมดเพื่อเป็นอีกเครื่องมือเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้เติบโตช่วงครึ่งปีหลัง!!

ที่มา: มติชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad