สรรพากร ชู “เลื่อน-เร่ง-ลด-จูงใจ” เพิ่มเงินในมือประชาชนแสนล้าน ฝ่าโควิดฯ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563

สรรพากร ชู “เลื่อน-เร่ง-ลด-จูงใจ” เพิ่มเงินในมือประชาชนแสนล้าน ฝ่าโควิดฯ


ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร
อธิบดีกรมสรรพากร ชู “เลื่อน-เร่ง-ลด-จูงใจ” เพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชนกว่าแสนล้านบาท ฝ่าโควิด – 19 เปิดให้หักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า แลกไม่ปลดคนงาน
ท่ามกลางวิกฤติโรคไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลก นอจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหดตัวลงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน หลังจากที่รัฐบาลประกาศปิดประเทศ ตามด้วยมาตรการล็อกดาวน์ และประกาศเคอร์ฟิว กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆหยุดชะงัก หลายภาคธุรกิจต้องหยุดกิจการชั่วคราว บางรายก็ปิดกิจการ เกิดภาวะคนว่างงานตามมา รัฐบาลจะเร่งออกพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน คนละ 15,000 บาทแล้ว และกอบกู้เศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง พร้อมกับเครื่องมือทางการคลังอีกตัวหนึ่งที่ไม่ค่อยคนพูดถึงกันมากนักคือ มาตรการภาษี
4 เดือนที่ผ่านมา กรมสรรพากร จัดเยียวยาธุรกิจและประชาชนอะไรบ้าง ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้อธิบายแนวคิดนโยบายภาษีของกรมสรรพากร เพื่อสนับสนุนมาตรการทางการคลังของรัฐบาลในการแก้ปัญหาโควิดฯ แต่ละเครื่องมือมีความสำคัญอย่างไร
ดร.เอกนิติกล่าวว่า หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก จากที่เคยเติบโต ตอนนี้ติดลบ ในส่วนของการดำเนินนโยบายภาษี ก็ต้องปรับให้เร็วเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม การใช้นโยบายภาษี ก็มีข้อจำกัด
“วิกฤติโควิด-19 ผมคิดว่ามีความรุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ตอนนั้นความเสียหายเริ่มจากระบบธนาคาร สถาบันการเงินแล้วค่อยๆ ลุกลามเข้าไปกระทบที่ภาคธุรกิจและแรงงาน ซึ่งเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นสิ่งรัฐบาลต้องเร่งแก้ไขในสมัยนั้น คือ ต้องหยุดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบสถาบันการเงินและการธนาคาร เพื่อยับยั้งไม่ให้ลุกลามไปที่ภาคธุรกิจขาดสภาพคล่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน โดยออกมาตรการ “14 สิงหาคม” แยก Good Bank และ Bad Bank ออกจากกัน มิฉะนั้นคนดี ๆที่เคยขอสินเชื่อแบงก์ได้ ก็อาจจะขอสินเชื่อไม่ได้”
ส่วนวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ผลกระทบมันพุ่งตรงไปที่หัวใจของเศรษฐกิจเลย คือ ภาคธุรกิจ และแรงงาน มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก โดยไม่ต้องรอธุรกิจขาดสภาพคล่อง ดังนั้นนโยบายต่าง ๆของรัฐบาล จึงต้องเข้าแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดทันที เช่น แจกเงินเยียวยา หรือ ปล่อยเงินกู้ Sotf Loan เสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ
เครื่องมือของรัฐบาลที่ใช้แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ หลัก ๆหนีไม่พ้นนโยบายการคลัง อาทิ มาตรการภาษี,มาตรการงบประมาณ และมาตรการสินเชื่อ
“แต่การแก้ปัญหาภาคธุรกิจกับแรงงาน ผมคิดว่าควรใช้เครื่องมือด้านงบประมาณรายจ่ายน่าจะตรงจุดมากกว่า”
ทั้งนี้ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาฐานภาษีของเราแคบมาก ซึ่งตอนนี้กรมสรรพากรพยายามขยายฐานภาษี และสร้างความเป็นธรรม ปัจจุบันมีผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ในฐานภาษีของกรมสรรพากร 11 ล้านคน ในจำนวนนี้เสียภาษีจริงๆ 4 ล้านคน แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 เช่น คนตกงาน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในฐานภาษีของกรมสรรพากร นี่คือปัญหาโครงสร้างภาษี
“สิ่งที่ผมพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร คือ เร่งวางระบบ Data Analytics และ Digital Transformation ซึ่งผมได้วางรากฐานไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว”
แต่ผลกระทบโควิดฯ ตอนนี้ยังไม่รู้คนตกงานมีจำนวนเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆคนเหล่านี้อยู่ในฐานภาษีของกรมสรรพากรน้อยมาก หากจะใช้มาตรการลดภาษี ก็จะช่วยได้เฉพาะคนที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น ดังนั้นประเทศต่าง ๆจึงใช้นโยบายการคลังผ่านกลไกงบประมาณ พุ่งตรงเข้าไปช่วยผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและประชาชน
ภาษีเงินได้นิติบุคคลก็เช่นกัน ปัจจุบันกรมสรรพากรมีนิติบุคคลอยู่ในฐานภาษี 6 แสนราย ซึ่งในนี้เป็นเอสเอ็มอีมีการจ้างงานประมาณ 2-3 ล้านคน ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหาต้อง “เกาให้ถูกที่คัน” การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักชั่วคราว ธุรกิจขาดรายได้ ปลดคนงาน แนวทางให้ความช่วยเหลือจึงควรมุ่งไปที่เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณและจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเข้าไปดูแลภาคธุรกิจและแรงงาน ซึ่งเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจ

เครื่องมือ “เลื่อน-เร่ง-ลด-จูงใจ” เพิ่มเงินในประเป๋าแสนล้าน

ในส่วนของกรมสรรพากร เราเลือกใช้วิธีที่ 1 “เลื่อน”การชำระภาษีออกไป รวมทั้งเร่งคืนภาษี เพื่อเพิ่มเม็ดเงินหรือเติมสภาพคล่องในกระเป๋าของผู้ประกอบการและประชาชน ซึ่งกรมสรรพากรดำเนินการได้เร็วมาก
“ครั้งแรก เราเลื่อนการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปก่อน คือเลื่อนจากภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ไปเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ผลกระทบโควิดฯ มันจะนานแค่ไหน ต่อมาเมื่อเรารู้แล้วว่าโควิดฯจะอยู่กับเรานานแน่นอน ก็เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เหตุที่เลื่อน ก็เพราะต้องการให้สภาพคล่องอยู่กับผู้เสียภาษีนานขึ้น”
อย่างที่กล่าวไปแล้ว มาตรการภาษีจะช่วยได้เฉพาะคนที่อยู่ในฐานภาษีเท่านั้น ส่วนคนที่ไม่ได้เสียภาษี เลื่อนออกไป ก็ไม่ได้ช่วยอะไร นี่คือ ข้อจำกัดของมาตรการภาษี ผู้เสียภาษีบางรายได้รับผลกระทบจากโควิดฯ การที่กรมสรรพากรเลื่อนชำระภาษีออกไป ก็ช่วยเขาได้เยอะ จริงๆบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีแค่มนุษย์เงินเดือนเท่านั้น มีบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจ ตามาตรา 40(8) ด้วย
ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล ปกติต้องเสียภาษีภายในเดือนพฤษภาคม 2563 เราเลื่อนออกไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 ยกเว้นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีประมาณ 500 บริษัท กลุ่มนี้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่เสียภาษีให้กรมสรรพากร คิดเป็นสัดส่วน 25% ของภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหมด (ภ.ง.ด. 50-51) เหตุที่ไม่เลื่อนให้ เพราะเราต้องรักษาเสถียรภาพทางการคลังด้วย
“อย่าลืมว่านโยบายภาษีทุกชนิด มีต้นทุน หากลดภาษีให้ทั้งหมด ทุกคนได้ประโยชน์ แต่ก็ต้องมองฐานะการคลังของรัฐบาลด้วย นี่คือสาเหตุที่ไม่ขยายเวลาเสียภาษีให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เหตุผลอีกอย่าง คือ บริษัทจดทะเบียนก็ต้องจัดทำระบบบัญชีรายงานต่อผู้ถือหุ้นทุกไตรมาส รวมทั้งเตรียมเงินไว้จ่ายภาษีอยู่แล้ว”
โดยสรุป มาตรการเลื่อนชำระภาษี ก็คือ แทนที่เงินรายได้จะเข้ารัฐ ก็ยังไม่เข้า อย่างเช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แทนที่เม็ดเงินภาษีจะเข้ารัฐภายในเดือนมีนาคม ก็จะมาชำระกันภายในเดือนสิงหาคม 2563 (ภ.ง.ด. 90-91) คิดเป็นเงินประมาณ 13,000 ล้านบาท ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) จะต้องมาชำระภายในเดือนกันยายน คิดเป็นเงินประมาณ 83,000 ล้านบาท ถือเป็นการเพิ่มเงินในกระเป๋าผู้ประกอบการและประชาชน

คืนภาษีเงินได้อีก 5.8 หมื่นล้าน

ตัวที่ 2 “เร่ง”คืนภาษี มาตรการภาษีนี้แตกต่างจากมาตรการทางด้านงบประมาณ คือ ถ้าเขาอยู่นอกระบบภาษี อยู่ดี ๆจะเอาเงินภาษีไปจ่ายให้เขาไม่ได้ แต่มาตรการทางด้านงบประมาณทำได้ รัฐบาลสามารถนำเงินไปช่วยเหลือคนที่อ่อนแอในสังคมได้ แต่สำหรับกรมสรรพากรช่วยได้ โดยการเร่งคืนภาษี อย่าง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย หรือชำระภาษีมาเกิน เราต้องเร่งคืนภาษีให้เขา ที่ผ่านมากรมสรรพากรเร่งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้วกว่า 2.8 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 95% ของจำนวนผู้ที่ขอคืนภาษี คิดเป็นวงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท ส่วนนิติบุคคลปีนี้กรมสรรพากรคืนภาษีไปแล้วกว่า 28,000 ล้านบาท
ตัวที่ 3 “ลด”อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย มาตรการนี้ช่วยได้ทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา ปกติผู้ที่จ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการมีหน้าที่ ต้องนำส่งกรมสรรพากร 3% ของมูลค่า ช่วงโคววิดฯ กรมสรรพากร ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายเหลือ 1.5% เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงเดือนกันยายน 2563 มาตรการนี้ก็จะช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าผู้ประกอบการและประชาชนเช่นกัน
“ยกตัวอย่าง ผมจ้างนักประชาสัมพันธ์เขียนบทความ ถ้าผู้รับจ้างเป็นบุคคลธรรมดา เงินที่จ่ายไป 100 บาท ผมต้องหักนำส่งกรมสรรพากร 3% หมายความว่าผู้รับจ้างได้เงินแค่ 97 บาท แต่ตอนนี้กรมสรรพากรลดภาษีให้เหลือ 1.5% ผู้รับจ้างจะได้รับเงิน 98.5 บาท ซึ่งมาตรการนี้จะได้รับประโยชน์ทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา”
“นอกจากเลื่อนชำระภาษี เพื่อให้เงินอยู่ในกระเป๋าผู้ประกอบการและประชาชนนานขึ้นแล้ว ผมยังลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายช่วยอีก และยังขยายเวลาการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายด้วย ปกติต้องมายื่นภาษีทุกวันที่ 7 ของเดือน แต่ถ้ายื่นภาษีผ่านอินเตอร์เน็ตยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้ถึงวันที่ 15 ของทุกเดือน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ต้องมายื่นในเดือนมีนาคมและเมษายน 2563 กรมสรรพากรยืดเวลาให้ถึงเดือนพฤษภาคม 2563 นอกจากจะได้รับเงินค่าจ้างเพิ่มมาขึ้นแล้ว ผมยังให้เก็บเงินไว้ในกระเป๋าผู้เสียภาษีนานขึ้นอีก มาตรการนี้เปรียบเสมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว การออกแบบนโยบายภาษี เราก็ต้องเข้าใจเรื่องเครื่องมือ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันมีต้นทุน คือ รัฐบาลได้รับเงินช้าหน่อย”

“จูงใจ”ร่วมแก้ปัญหา

ตัวสุดท้าย “จูงใจ” ให้ผู้เสียภาษี หันมาใช้อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว ลดต้นทุนกระดาษ สรรพากรไม่ได้ทำเฉพาะภาษีหัก ณ ที่จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า “E – Withholding Tax” เท่านั้น ทำในเรื่องของการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ด้วย หรือที่เรียกว่า “E- Tax Invoice”
VAT กรมสรรพากรไม่ได้ลดอัตราภาษี แต่ใช้วิธีเลื่อนการชำระภาษี เสมือนเป็นการเพิ่มเงินในกระเป๋าผู้ประกอบการอีกเช่นเดียวกัน สมมุติ ผมขายสินค้าให้ประชาชน 100 บาท ผมเก็บ VAT มา 7 บาท ปกติผมต้องนำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน เงินนี้ไม่ใช่เงินของผู้ประกอบการ แต่เป็นเงินของประชาชนที่จะต้องนำส่งกรมสรรพากร มาตรการคือให้เงินจำนวนนี้อยู่ในกระเป๋าผู้ประกอบการจนถึงสิ้นเดือน
“เงินจะอยู่ในกระเป๋าผู้ประกอบการนานขึ้น จะเห็นว่าเรื่องของภาษีมันมีรายละเอียด มีที่มาที่ไป และมีหลักการออกแบบ ทำอย่างไรถึงจะยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว และต้องให้ได้ผลระยะยาวด้วย การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดฯ ทุกคนก็กลัวตัดเชื้อ ทุกเดือนจะมีผู้เสียภาษีจำนวนมากเดินทางมายื่นแบบเสียภาษีที่สรรพากรพื้นที่ เจ้าหน้าที่ของก็กลัว ผู้เสียภาษีก็กลัว สรรพากรจึงออกแบบการยื่นภาษีใหม่ที่เรียกว่า “Tax From Home” เพื่อตอบโจทย์เรื่อง New Normal แต่ขออธิบายเรื่องแรงจูงใจก่อน”
คอนเซปต์ของแรงจูงใจ คือการ “เลื่อน-เร่ง-ลด” โดยใช้นโยบายภาษีเป็นแรงจูงใจ อย่างที่กล่าวข้างต้น เครื่องมือทางด้านภาษีมันมีข้อจำกัด จะนำไปใช้แก้ปัญหาทุกอย่างคงเป็นไปไม่ได้ เพราะโครงสร้างภาษีของประเทศไทย มันเป็นแบบนี้ แต่สามารถนำมาใช้เป็นแรงจูงใจในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 หรือปัญหาอื่น ๆได้ดังนี้
1.จูงใจให้ปรับโครงสร้างหนี้ อย่างที่ทราบ การแพร่ระบาดของโควิดฯ ทำให้คนต้องหยุดงาน ไม่มีเงินมาชำระหนี้ ไม่มีเงินผ่อนรถ ไม่มีเงินจ่ายค่าบัตรเครดิต ไม่มีเงินไปผ่อนแบงก์ ถามว่าภาษีไปเกี่ยวข้องอะไร สรรพากรจึงใช้มาตรการภาษีเข้าไปเพิ่มแรงจูงใจให้ทั้งแบงก์และนอนแบงก์ ปรับลดหนี้ให้ลูกค้า ปกติแบงก์หรือนอนแบงก์ลดหนี้ให้ลูกค้า กว่าจะนำส่วนลดมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ ต้องรอส่งฟ้องศาลก่อน แต่ตอนนี้ไม่ต้องรอสามารถตัดเป็นค่าใช้จ่ายได้ทันทีที่ลดหนี้ให้ลูกค้า
ส่วนลูกหนี้ได้รับการลดหนี้จากแบงก์ หรือ นอนแบงก์ ปกติกรมสรรพากรถือเป็นรายได้ ต้องนำมาเสียภาษี เช่นเป็นหนี้ 100 บาท แบงก์ลดหนี้ให้ 50 บาท เงินส่วนลดหนี้ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้ แต่ตอนนี้ ไม่ต้องนำมาเสียภาษี อันนี้คือแรงจูงใจให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ได้ง่ายขึ้น
หากลูกหนี้ไม่มีเงินจะชำระหนี้แล้ว ขอให้แบงก์ หรือ นอนแบงก์ยึดบ้าน ยึดรถยนต์ไปเลย หรือที่เรียกว่า “ตีทรัพย์ชำระหนี้” ตอนนี้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีให้ทั้งหมด ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าธรรมเนียมการโอน ลดภาระให้กับลูกหนี้ เพื่อจูงใจให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้

ชูหักค่าใช้จ่าย 3 เท่า แลกไม่ปลดคนงาน

2.จูงใจให้นายจ้างคงสภาพการจ้างงาน การแพร่ระบาดของโควิดฯ ทำให้มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีบางธุรกิจไม่ไล่คนออก เพื่อรักษาธุรกิจให้ดำเนินการได้ต่อไปในอนาคต เราจึงจำเป็นต้องให้แรงจูงใจผู้ประกอบการจ้างแรงงานต่อไป ซึ่งมาตรการนี้กรมสรรพากรทำเร็วมาก เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบการ หรือ SMEs รายใดที่คงสภาพการจ้างแรงงานเอาไว้เป็นจำนวนเท่ากับช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2562 (ฐาน) ผู้ประกอบการสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่าของค่าจ้างแรงงานตามที่จ่ายไปจริง แต่ให้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อราย เท่ากับมาตรการช่วยเหลือของสำนักงานประกันสังคม
ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าการแพร่ระบาดมันจะยาวนานมาถึงวันนี้ จึงใช้ฐานจำนวนลูกจ้างในช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2562 แต่ตอนนี้ขยับมาใช้ฐานจำนวนลูกจ้างในเดือนมีนาคม 2563 เป็นเกณฑ์ในการคำนวณยอดที่จะนำไปหักเป็นค่าใช้จ่าย โดยการปรับปรุงประกาศกรมสรรรพากรใหม่ ผู้ประกอบการรายไหน คงสภาพการจ้างงานเอาไว้เท่ากับจำนวนการจ้างคนงาน ณ สิ้นมีนาคม 2563 ค่าจ้างที่จ่ายนำมาหักภาษีได้ 3 เท่าของที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อราย ทั้งนี้เพื่อรักษาอัตราการจ้างงานเอาไว้
3.จูงใจ SMEs กู้ซอฟท์โลน โดยเปิดให้ SMEs นำรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่าของดอกเบี้ยที่จ่ายไปจริง นอกจากจะได้ดอกเบี้ยต่ำแล้ว ยังช่วยลดภาระภาษีให้ด้วย
4.จูงใจประชาชนดูแลสุขภาพ ลดภาระค่ารักษาพยาบาลให้รัฐบาล โดยการเพิ่มค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพ เดิมนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิต หรือ เงินฝากสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท มาตรการนี้สนับสนุนคนที่พอที่มีเงิน ช่วยเหลือตัวเองได้ทำประกันสุขภาพ กรณีเจ็บป่วยสามารถเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนได้ ไม่ต้องมาแย่งกับคนที่ไม่มีเงิน ซึ่งเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐ
5.จูงใจนำเข้าเวชภัณฑ์ ยารักษาโควิดฯ เพื่อการบริจาค โดยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้นำเข้า ขอย้ำว่าต้องนำมาบริจาคให้กับสถานพยาบาลของรัฐเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันเชื้อโรค และยารักษาไวรัสโควิด-19
6.ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลให้บุคลากรทางการแพทย์ กรณีที่ได้รับค่าตอบแทน ไม่ต้องนำมาเสียภาษี
โดยสรุป มาตรการภาษีเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ช่วงที่ผ่านมาจะมี “เลื่อน-เร่ง-ลด-จูงใจ” นี่ก็คือ บทบาทของกระทรวงการคลังในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ คือต้องลดรายได้ เพิ่มรายจ่าย เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม
ที่มา ไทยพับลิก้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad