ยกระดับคุ้มครองตัวลิ่น จีนสั่งห้ามใช้เกล็ดตัวลิ่นในตำรับแพทย์แผนโบราณ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ยกระดับคุ้มครองตัวลิ่น จีนสั่งห้ามใช้เกล็ดตัวลิ่นในตำรับแพทย์แผนโบราณ

จีนยกระดับการคุ้มครองตัวลิ่นเทียบเท่าแพนด้า สั่งห้ามใช้เกล็ดตัวลิ่นสายพันธุ์จีนในแพทย์แผนโบราณทุกตำรับ องค์กรพิทักษ์สัตว์เผย เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ แต่อาจไม่ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ที่ถูกลอบค้าผิดกฎหมาย
วันที่ 9 มิถุนายน สำนักข่าว China Health Times รายงานว่า รัฐบาลจีนประกาศห้ามใช้เกล็ดตัวลิ่นในยาแพทย์แผนจีน เนื่องจากจำนวนประชากรลดลง งานวิจัยของ Wu Shibao อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย South China Normal ประเทศจีน เผย จำนวนตัวลิ่นในธรรมชาติภายในจีนลดลง 90% ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513
ลิ่น
ตัวลิ่นจีน (Manis pentadactyla) ถ่ายจากสวนสัตว์เมือง Leipzig ประเทศเยอรมนี //ขอบคุณภาพจาก: Wikicommons
ปัจจุบัน ทางการจีนยังไม่มีการประกาศเรื่องดังกล่าวเป็นทางการ ทว่าได้ยกระดับกฎหมายคุ้มครองตัวลิ่นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน โดยวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2563 สำนักงานป่าไม้และทุ่งหญ้าแห่งจีน (National Forestry and Grasslands Administration: NFGA) แถลง เตรียมยกระดับตัวลิ่นทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองระดับแรกของประเทศ โดยจะได้รับความคุ้มครองระดับสูงสุดตามกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า หากต้องการใช้เพื่อการวิจัยต้องขออนุมัติจากหน่วยงานสัตว์ป่าแห่งชาติเท่านั้น  นับว่าอยู่ในระดับสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เช่นเดียวกับแพนด้า
งานวิจัยหลายชิ้นได้สันนิฐานว่าตัวลิ่นอาจเป็นสัตว์พาหะที่นำเชื้อไวรัส COVID-19 จากค้างคาวมาสู่มนุษย์
เมธินีย์ ภัสสราอุดมศักด์ นักวิจัยจากองค์กรติดตามการค้าสัตว์ป่า (TRAFFIC) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความเห็นว่า
“ถือเป็นข่าวดีที่จีนจะยกระดับการคุ้มครองตัวลิ่น แต่ทั้งนี้ยังต้องรอการประกาศทางการอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และรอระบุว่าตัวลิ่นชนิดไหนบ้างที่จะยกระดับ เพราะว่าเท่าที่ ทาง TRAFFIC ทราบมา การยกระดับครั้งนี้มีเพียงแค่ตัวลิ่นสายพันธุ์จีน (Manis pentadactyla)  ซึ่งปัจจุบันมีเหลือเพียง  8 ชนิดทั่วโลก”
แม้ตัวลิ่นจะนับเป็นสัตว์ห้ามซื้อขายที่ได้รับการคุ้มครองจากอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์  (CITES) แต่ตัวลิ่นกลับเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกค้าชิ้นส่วนผิดกฎหมายมากที่สุดในโลก โดยประเทศไทยนับเป็นประเทศทางผ่าน ในปี พ.ศ. 2560 พบว่าเป็นปีที่กรมอุทยานและศุลากากรจับกุมคดีการลักลอบนำเข้าเกล็ดตัวนิ่มได้มากที่สุดปีหนึ่ง โดยส่งจากประเทศคองโก ผ่านมายังตุรกีเข้าสู่ไทย เพื่อนำส่งไปทางลาวแล้วเข้าสู่จีน
“จากรายงานของ TRAFFIC พบว่า 9 ปีที่ผ่านมา มีตัวลิ่นถูกตรวจและจับกุมยึด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 895,000 ตัว และเกล็ดลิ่นส่วนมากถึง 96,000 กิโลกรัมมาจากแอฟริกา” เมธินีย์ กล่าว
เมธินียังได้เสริมอีกว่า ตั้งแต่การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ประเทศจีนมีนโยบายห้ามใช้ห้ามบริโภคสัตว์ป่ามากขึ้น เพราะยังไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงเกิดโรคระบาดในตลาดค้าสัตว์ป่าได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่แออัดที่มีสัตว์หลายชนิด เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารคัดหลั่ง จนเชื้อโรคเดินทางข้ามสายพันธุ์ เธอยังเสริมว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคใหม่ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
เกล็ดตัวลิ่นสำหรับใช้ในตำรับยาจีนที่ถูกเจ้าหน้าที่ยึดไดั้้ที่ประเทศแคเมอรูน //ขอบคุณภาพจาก: Wikicommons
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทางการจีนได้สั่งแบนการใช้ชิ้นส่วนสัตว์อื่นๆ ในตำรับแพทย์แผนโบราณ เช่น ประกาศห้ามใช้กระดูกเสือและนอแรดในปีพ.ศ. 2536  อย่างไรก็ตาม ยังมีการใช้ชิ้นส่วนสัตว์อื่นๆ ทดแทน ในกรณีเกล็ดตัวลิ่นนี้ Wang Chengde ประธานคณะกรรมการสมัยสองและสามของสถาบันการแพทย์แผนจีนสาขาโรคไขข้ออักเสบ กล่าวว่า สามารถใช้ตีนหมูแทนได้ เพื่อ บรรเทาอาการฝี ต้านการอักเสบและกระตุ้นน้ำนม
เกล็ดตัวลิ่น มีลักษณะทางกายภาพเป็นเคราติน คล้ายเล็บหรือผมของคน สำหรับตัวลิ่นเกล็ดของมันเป็นเหมือนเกราะป้องกันชั้นดี  ตำราแพทย์จีนดั้งเดิมเชื่อว่าสามารถรักษาอาการเมาค้างและโรคตับ รวมถึงช่วยให้แม่ที่เพิ่งมีบุตรให้นมง่าย แม้ว่าการทดลองตามแพทย์แผนปัจจุบันที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีสรรพคุณต่อสุขภาพอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad