ไอบีเอ็มจับมือมหาวิทยาลัยมหิดล นำเทคโนโลยี HPC และ AI หนุนการศึกษาการวิจัยและการศึกษา ผลักดันธุรกิจไทยเดินหน้าในยุคนิวนอร์มัล - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ไอบีเอ็มจับมือมหาวิทยาลัยมหิดล นำเทคโนโลยี HPC และ AI หนุนการศึกษาการวิจัยและการศึกษา ผลักดันธุรกิจไทยเดินหน้าในยุคนิวนอร์มัล

ไอบีเอ็มจับมือมหาวิทยาลัยมหิดล นำเทคโนโลยี HPC และ AI หนุนการศึกษาการวิจัยและการศึกษา ผลักดันธุรกิจไทยเดินหน้าในยุคนิวนอร์มัล

ไอบีเอ็มและคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีการประมวลผลสมรรถนะสูง (HPC) และ AI Vision ของไอบีเอ็ม มาใช้สนับสนุนงานวิจัยและการพัฒนาทักษะที่สำคัญต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งความร่วมมือนี้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของประเทศในการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และการเร่งขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต S-Curve และ New S-Curve ตลอดจนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ความร่วมมือนี้นับว่าเป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับไอบีเอ็มและมหาวิทยาลัยมหิดลในการขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่สังคมดิจิทัลและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ไอบีเอ็มจะมอบสิทธิ์การใช้งานฮาร์ดแวร์ของ IBM Power Systems ซึ่งเป็นเทคโนโลยี HPC ของไอบีเอ็ม และซอฟต์แวร์ IBM Visual Insights เป็นเวลา 3 เดือน พร้อมทั้งจัด hands-on เวิร์คช็อปให้แก่คณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อใช้ในการวิจัยและการศึกษาในสามด้านต่อไปนี้
  • การวิจัยเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี Computer Vision บนพื้นฐานของ AI ในด้านการดูแลสุขภาพ อาทิ การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางการแพทย์ (Medical Imaging) เวชสารสนเทศ (Medical Informatics) เป็นต้น โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลอื่นๆ ในเครือของมหาวิทยาลัยมหิดล
  • การพัฒนาทักษะ ทั้งในแง่ Reskill และ Upskill ให้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมและการผลิต โดยโครงการนี้จะเริ่มต้นจากนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย
  • การวิจัยเพื่อนำแพลตฟอร์ม AI มาสร้างโมเดล Machine Learning และ Deep Learning เพื่อการวิเคราะห์และติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร รวมถึงการตรวจจับชิ้นส่วนที่มีตำหนิในโรงงานผลิต
ดิสรัปชันอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ได้กระตุ้นให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาทักษะที่สำคัญให้แก่บุคลากรเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน “สถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคน และองค์กรที่สามารถปรับตัวและฟื้นตัวได้เร็วที่สุดเท่านั้นที่จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีก้าวล้ำและความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรด้านวิชาการ จะช่วยให้เราสามารถสร้างทักษะที่จะเป็นที่ต้องการในอนาคต เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และช่วยให้เราเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในยุคนิวนอร์มัล” นางสิริกร บุญเสริมสุวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจดิจิทัลเซลล์และคอมเมอร์เชียล บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว
“ความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันนี้ จะเป็นการนำศักยภาพของเทคโนโลยีการประมวลผลสมรรถนะสูง (HPC) IBM Power Systems ซึ่งมีมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก และได้รับการออกแบบมาเพื่อการวิเคราะห์ขั้นสูงและการรองรับ AI รวมทั้งเทคโนโลยี IBM Visual Insights ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม AI ที่มี Deep Learning ในตัว สำหรับการวิเคราะห์วิดีโอและภาพนิ่ง มาสนับสนุนการทำงานของนักวิจัยและนักสร้างสรรค์นวัตกรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่ทำงานในด้านการดูแลสุขภาพและการผลิต” นางสิริกรกล่าวเสริม
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์ของเราให้ความสำคัญกับการสร้างงานวิจัยและการศึกษาแบบสหวิทยาการ เพื่อมุ่งสู่การก้าวเป็น “วิศวกรรมศาสตร์ระดับโลก”  เราพิจารณาถึงความต้องการของตลาด และในปี 2563 ยังมีแผนพัฒนาทักษะด้านวิศวกรรมเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 และวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย การพัฒนากำลังคนในภาคอุตสาหกรรมทั้งการ Reskill – Upskill เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถของคนไทยและการประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ (AI) จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง การ Re-Skill ช่วยพัฒนาทักษะเดิมด้วยองค์ความรู้ใหม่ที่จำเป็นเพื่อตอบรับกับงานใหม่หรืองานในอนาคตมากขึ้น ส่วนการ Up-Skill จะช่วยเสริมสร้างทักษะใหม่ที่สอดคล้องกับธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก ทักษะทางด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงการทำงานกับข้อมูลมหาศาลหรือ Big Data เป็นต้น”
จากข้อมูลการศึกษาโดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) พบว่าในอีกสองปีข้างหน้า บุคลากรมากถึง 120 ล้านคนในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก 12 ประเทศ อาจจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนทักษะใหม่ๆ และพัฒนาทักษะเดิมเพิ่มเติม อันเป็นผลมาจากการเข้ามามีบทบาทของ AI และ Automation อัจฉริยะ นอกจากนี้ มีซีอีโอของบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในการสำรวจเพียงร้อยละ 41 เท่านั้นที่ระบุว่าบริษัทของตนมีบุคลากร ทักษะ และทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานตามกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัท โดยการศึกษาวิจัยที่ได้มีการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารทั่วโลกกว่า 5,670 คนใน 48 ประเทศ ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการปัญหาด้านความต้องการแรงงานในทุกระดับชั้นขององค์กร
ในฐานะองค์กรด้านเทคโนโลยีระดับโลก ไอบีเอ็มมองว่าตลาดแรงงานกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การบริการแบบ value-added มากขึ้น และการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ในระยะยาวของไอบีเอ็ม ในแง่การช่วยสร้างทักษะที่จำเป็นเพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีล่าสุดเข้ามาใช้ในการปฏิบัติงานจริงในประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad