ไทย-อินเดียจับมือใช้ช่องทางออนไลน์ ช่วยอัญมณีและเครื่องประดับฝ่าวิกฤตโควิด-19 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ไทย-อินเดียจับมือใช้ช่องทางออนไลน์ ช่วยอัญมณีและเครื่องประดับฝ่าวิกฤตโควิด-19

img

ไทย-อินเดียจับมือดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับฝ่าวิกฤตโควิด-19 ร่วมมือใช้ช่องทางออนไลน์ในการขยายตลาดระหว่างกัน เผยยังได้ปรับโฉมการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นงานออนไลน์ มั่นใจยังใช้โชว์สินค้าฝีมือคนไทย และดึงชาวอินเดียมาซื้อได้เหมือนเดิม

น.ส.จิตติมา นาคมโน ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน ประเทศอินเดีย เปิดเผยถึงผลการสัมมนาออนไลน์ในรูปแบบ Webinar ในหัวข้อ “การจัดการวิกฤติ และการบรรเทาผลกระทบกับกลยุทธ์ฟื้นฟูอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับหลัง COVID-19” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า การจัดงานครั้งนี้ ได้รับการตอบรับทั้งจากผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการอินเดียเข้าร่วมหารือเป็นจำนวนมาก เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยทุกฝ่ายเห็นด้วยที่จะใช้ช่องทางออนไลน์ในการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างกัน เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมนี้เกิดการหยุดชะงัก

ทั้งนี้ ผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 4 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 1,770 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 25.31% โดยการส่งออกไปตลาดอินเดีย ลดลง 2.34% ซึ่งถือว่าไม่มาก และมีโอกาสที่จะฟื้นตัวกลับมาได้ โดยช่องทางออนไลน์ จะเป็นช่องทางสำคัญที่จะขยายการส่งออกได้ เพราะปัจจุบันอินเดียยังมีการล็อกดาวน์

สำหรับช่องทางการขยายตลาด ล่าสุดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ปรับรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ Bangkok Gems & Jewelry Fair (BGJF) 2020 ในรูปแบบใหม่ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ภายใต้แนวคิด Thailand's Magic Hands ซึ่งยังคงตอกย้ำถึงฝีมือและความเชี่ยวชาญของช่างฝีมืออัญมณีและเครื่องประดับ และให้ความความสำคัญเป็นพิเศษกับพลอยสี พลอยเนื้ออ่อน พลอยเนื้อแข็ง และเครื่องประดับเงิน โดยจะเป็นเวทีการค้าออนไลน์ที่น่าจับตาที่สุดในอาเซียน และมั่นใจว่าจะดึงให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้าอินเดียเข้ามาซื้อสินค้าได้เพิ่มขึ้นเหมือนเดิม รวมถึงผู้ซื้อจากประเทศอื่นๆ

นายภูเก็ต คุณประภากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจมส์บุรี จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดพลอยจันทบุรี เป็นตลาดค้าอัญมณีแห่งแรกที่กลับมาเปิดบริการอีกครั้ง นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ตอนนี้ตลาดกลับสู่สภาวะปกติ 80% แล้ว โดยช่วงนี้ได้ใช้ช่องทางออนไลน์ในการติดต่อเจรจากับลูกค้า และกำลังรอโอกาสส่งออกอัญมณีไปยังประเทศอินเดีย

นาย Mithun Sancheti ประธานกรรมการบริหาร CaratLane.com กล่าวว่า ผู้บริโภคหันไปซื้อเครื่องประดับออนไลน์กันมากขึ้น หากผู้ผลิตของไทยและผู้ซื้อ ผู้นำเข้าของอินเดียร่วมมือกันในการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ก็สามารถที่จะพลิกสถานการณ์ได้  

นาย Sanjay Kothari อดีตประธานสภาส่งเสริมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอินเดีย (GJEPC) และประธานสภาทักษะฝีมือแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับแห่งอินเดีย (GJSCI) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียลดลง แต่การใช้ช่องทางออนไลน์ จะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ และทำให้มีการนำเข้า ส่งออกมากขึ้น

นาย Mehul Shah รองประธาน Bharat Diamond Bourse ซึ่งตลาดเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในเมืองมุมไบ กล่าวว่า สหพันธ์ตลาดค้าเพชรโลก (WFDB) เป็นองค์กรค้าเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมีสมาชิก 30 รายทั่วโลก ได้หยุดการผลิตเพชรชั่วคราวในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากการล็อกดาวน์ในประเทศอินเดีย ทำให้ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ดีสำหรับการลงทุนในเพชร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad