นำเข้าข้าวภายใต้ AFTA ไม่กระทบชาวนา - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

นำเข้าข้าวภายใต้ AFTA ไม่กระทบชาวนา

img

ทันทีที่กรมการค้าต่างประเทศ เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำข้าวเข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน พ.ศ.2563

ปรากฏว่า โรงสี ชาวนา ไม่เห็นด้วย
         
บอกว่า จะกระทบกับข้าวในประเทศ เพราะไม่ได้กำหนดโควตานำเข้าเอาไว้ และทำไมต้องนำเข้า ในเมื่อไทยเป็นประเทศผู้ผลิตข้าว
         
จริงๆ แล้ว ประกาศฉบับนี้ เป็นประกาศฉบับใหม่ ที่จะออกมาใช้แทนฉบับเดิม ปี 2553 ซึ่งใช้มาแล้วเกือบ 10 ปี และเนื้อหาสาระส่วนใหญ่ก็คล้ายๆ กับฉบับเดิม

ไปดูกัน ประกาศฉบับนี้ มีกฎ กติกา อะไร ทำไมถึงมีคนออกมาคัดค้าน
         
เหตุผลที่ต้องรู้ก่อน ไทยจำเป็นต้องเปิดตลาดข้าว เพราะต้องปฏิบัติตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ที่ไทยได้ไปผูกพันไว้
         
ในการเปิดตลาด กำหนดให้ข้าวตามพิกัดอัตราศุลกากรขาเข้าประเภท 10.06 ที่มีถิ่นกำเนิดจากอาเซียนเข้ามาได้ แต่ต้องมีหนังสือรับรองแสดงต่อกรมศุลกากรในการนำเข้ามาในประเทศไทย เพื่อประกอบการใช้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร ดังนี้
         

1.หนังสือรับรองถิ่นกําเนิดสินค้า (Form D) ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่มีอํานาจออกหนังสือรับรองดังกล่าวของประเทศผู้ส่งออก
         
2.หนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิ์ในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วน ที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบหมาย
         
3.หนังสือรับรอง ใบรับรอง หรือเอกสารหลักฐานอื่นใด ซึ่งแสดงว่าสินค้าที่นําเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นสินค้าที่มีความปลอดภัยต่อชีวิตหรือสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ หรือพืช และเป็นสินค้าที่ปลอดจากการตัดต่อพันธุกรรม (GMOs) ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นที่มีอํานาจออกหนังสือรับรองดังกล่าวของประเทศที่ส่งออก
         
ทั้งนี้ วันบังคับใช้ จะเริ่มตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
         
แต่ตอนนี้ยัง เพราะอยู่ในขั้นตอนเปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.2563 จะปิดรับฟังความคิดเห็นวันที่ 22 ก.ค.2563
         
ใครที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ยังสามารถแสดงความคิดเห็นได้
         
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดความไม่สบายใจ และเกิดความเข้าใจผิดไปมากกว่านี้ นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้ออกมาชี้แจงในทันที
         
ย้ำว่า การยกร่างประกาศดังกล่าว ได้ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการบริหารการนำเข้าข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน เพื่อให้เป็นไปตามความตกลง AFTA ซึ่งตั้งขึ้นโดยมติของคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา
        
ในคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ มีผู้แทนจากภาครัฐ เช่น กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงการคลัง กรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย รวมทั้งตัวแทนเกษตรกร เช่น สมาคมชาวนาข้าวไทย และสมาคมส่งเสริมชาวนาไทย เป็นต้น เข้ามาร่วมกำหนดกฎ กติกา หลักเกณฑ์และเงื่อนไข
         
สรุปแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ การนำเข้าข้าว จะต้องนำมาแปรรูปในกิจการของตนเองเท่านั้น มิใช่อนุญาตให้นำข้าวสารเข้ามาขายต่อเป็นเมล็ดอย่างที่กังวล โดยการนำเข้าข้าวภายใต้ AFTA ต้องได้รับอนุญาตจากคณะอนุกรรมการฯ ก่อน จึงจะนำเข้าได้ ไม่ใช่ใครก็สามารถนำเข้าได้ และจะอนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้น โดยไม่รวมถึงการสีข้าวของโรงสี เช่น นำมาทำเส้นก๋วยเตี๋ยว ทำแป้งข้าวเจ้า เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ได้กำหนดช่วงเวลานำเข้าไม่ให้ตรงกับช่วงเวลาที่ผลผลิตข้าวในประเทศออก คือ ระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ย. ของแต่ละปี ลดเหลือเพียงช่วงเดียว จากเดิม 2 ช่วงระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ค. และส.ค.-ต.ค.ของแต่ละปี และกำหนดให้นำเข้าได้ 6 ด่านเหมือนเดิม คือ ด่านศุลกากรอรัญประเทศ หนองคาย แม่สาย แม่สอด ระนอง และท่าเรือกรุงเทพ

แต่ที่เพิ่ม จะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากคณะอนุกรรมการฯ ทั้งก่อนการนำเข้าและตรวจสอบว่านำเข้ามาใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ขออนุญาตแปรรูปไว้อย่างเคร่งครัดหรือไม่ โดยกรมศุลกากรจะเป็นผู้กำกับดูแลการนำเข้าข้าวอย่างเข้มงวด และปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และยังมีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าข้าว เช่น พ.ร.บ.กักพืช ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาดูแลด้วย

“สรุปได้ว่าการนำเข้าข้าว มีการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจน ไม่ใช่ใครก็นำเข้าได้ และไม่ใช่นำเข้าเป็นข้าวสารมาขายต่อ อย่างที่มีการเข้าใจผิดกันอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งการนำเข้า ก็มีกฎระเบียบ มีขั้นตอนการกำกับดูแลชัดเจน”นายกีรติระบุ
         
ขอให้พี่น้องเกษตรกรคลายความกังวลได้
         
ส่วนใครที่ยังสงสัย ติดใจ ก็สามารถไปแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ เขายังเปิดโอกาสให้อยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad