วิศวฯ ธรรมศาสตร์ ชี้เยาวชนพาร์ทไทม์ เสี่ยงอันตราย หากทำงานไม่เหมาะสม ชี้ผู้เกี่ยวข้อง ควรยึดหลัก Human Engineering Design - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

วิศวฯ ธรรมศาสตร์ ชี้เยาวชนพาร์ทไทม์ เสี่ยงอันตราย หากทำงานไม่เหมาะสม ชี้ผู้เกี่ยวข้อง ควรยึดหลัก Human Engineering Design


นักวิชาการวิศวฯ อุตสาหการ ผนึก กรมสวัสดิการฯ ผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม หนุนคุ้มครองเยาวชนทำงานพาร์ทไทม์ ให้มีสุขภาวะที่ดีตลอดการทำงาน

ทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยมนุษยปัจจัยทางวิศวกรรมและการยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) แนะนายจ้างควรให้ “เยาวชน” อายุต่ำกว่า 18 ปี ที่พบได้ในกลุ่มงานพาร์ทไทม์ ทำงานในลักษณะงานและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีระดับภาระงานไม่มากเกินกว่าความสามารถของเยาวชนและทำงานในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หลังพบกิจการการขายปลีกน้ำมัน การบริหารด้านอาหารและเครื่องดื่ม ก่อสร้าง งานบริการโรงแรม เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย อาทิ ยกหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก สัมผัสสารเคมีหรือความร้อนที่สูงเกินขีดจำกัดความสามารถของร่างกาย พร้อมเผยรายงานวิจัย พบการทำงานเสี่ยงกระทบอาการบาดเจ็บ ทางระบบกระดูก กล้ามเนื้อ และพัฒนาการทางร่างกายของเด็ก กรณีเยาวชนต้องยกของหนักในพื้นที่ทำงานอุณหภูมิสูง และการทำงานในช่วงกลางคืน ย้ำวิศวกรและนักออกแบบ ต้องยึดหลัก Human Engineering Design ลดเสี่ยงอาการบาดเจ็บสะสม และอำนวยความสะดวกตลอดการใช้งาน ทั้งนี้ ทีมวิจัย ได้ยื่นข้อเสนอแนวทางแก้ไขร่วมมือกับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เล็งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการแรงงานให้มีความเหมาะสม หนุนคุ้มครองสุขภาพและพัฒนาการของเยาวชนอย่างยั่งยืน
ผศ. นริศ เจริญพร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยมนุษยปัจจัยทางวิศวกรรมและการยศาสตร์ และที่ปรึกษาสมาคมการยศาสตร์ไทย เปิดเผยว่า “เยาวชนทำงานพาร์ทไทม์” อาจมีความเสี่ยงสูงต่ออาการบาดเจ็บสะสมบริเวณกล้ามเนื้อ ซึ่งปัจจุบันพบมากในประชากรกลุ่มวัยทำงานทั่วไป เนื่องจากการทำงานที่หนักเกินกว่าความสามารถทางร่างกายในรูปแบบเดิมอย่างต่อเนื่อง และเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในกิจการการขายปลีกน้ำมัน กิจการการบริหารด้านอาหารและเครื่องดื่ม กิจการก่อสร้าง กิจการงานบริการโรงแรม อีกทั้งปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมอย่าง “อุณหภูมิ” และ “ภาวะงาน” (Work load) รวมถึงช่วงเวลาการทำงานกลางคืน ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและพัฒนาการของเยาวชนได้ และผลกระทบอาจจะรุนแรงขึ้นหากสถานการณ์ในการทำงานเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน เช่น การสัมผัสสารเคมี อันตรายจากสารไวไฟ การยกหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของน้ำหนักมาก การขับขี่จักรยานยนต์ขนส่ง การทำงานในที่สูง การทำงานในเวลากลางคืน หรือแม้กระทั่งการสัมผัสความร้อนที่สูงเกินขีดจำกัดความสามารถของร่างกาย
ดังนั้น การออกแบบเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้งานตามหลักวิศวกรรม (Human Engineering Design) จึงเป็นหลักคิดสำคัญที่วิศวกรหรือนักออกแบบทุกคน ควรให้ความสำคัญกับงานออกแบบทุกชิ้น ก่อนนำไปใช้ในการทำงานของกระบวนการผลิตจริง เพื่อลดความเสี่ยงต่ออันตรายและจากการบาดเจ็บสะสม พร้อมอำนวยความสะดวกตลอดการใช้งานให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น
ทีมวิจัย ได้ชี้ให้เห็นตัวอย่างผลการจำลองสถานการณ์ในห้องปฎิบัติการมนุษยปัจจัยและการยศาสตร์ (human factors in engineering and ergonomics) ที่สามารถควบคุมสภาพอุณหภูมิได้ ซึ่งใช้ในการศึกษาเรื่อง “สภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน เพื่อหาขีดจำกัดและคำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ผ่านกลุ่มตัวอย่างทั้งเพศชายและหญิง ในช่วงวัย 15 – 17 ปี จำนวน 30 คน ด้วยการทดสอบสมรรถภาพร่างกายจากการปั่นจักรยาน ภายใต้ 3 เงื่อนไข ดังนี้ อุณหภูมิ ในระดับ 28 30 และ 32 องศาเซลเซียส (WBGT) ภาระงาน ในลักษณะงานเบามาก งานเบา และงานปานกลาง ด้วยจักรยานวัดงาน และ อัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งพบว่า เยาวชนอาจมีความเสี่ยงหากต้องทำงานต่อเนื่องที่สภาพแวดล้อมของอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และจะยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นหากต้องทำงานที่สภาพอุณหภูมิ 32 องศาเซลเซียส
จากผลการศึกษาครั้งนี้ยังพบว่า กฎหมายความปลอดภัยสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน ที่มีอยู่ในปัจจุบันของแรงงานทั่วไปยังไม่เหมาะสม ที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการทำงานเพื่อความปลอดภัยของเยาวชน กล่าวคือ เยาวชนพาร์ทไทม์ จะสามารถทำงานที่ระดับภาระงานเบามากและเบาได้ โดยมีความเสี่ยงต่ำตลอด 8 ชั่วโมง ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิไม่เกิน 28 องศาเซลเซียส และมีภาระงานที่ไม่หนักเกินขีดความสามารถของร่างกาย หากอุณหภูมิสูงถึง 30 หรือ 32 องสาเซลเซียส อาจเป็นอันตรายต่อเยาวชนได้หากต้องทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยอาจส่งผลต่ออาการบาดเจ็บทางระบบกระดูก และกล้ามเนื้อและพัฒนาการทางร่างกายของเด็กได้ กรณีเยาวชนต้องยกของหนักในพื้นที่ทำงานอุณหภูมิสูงและรวมถึงการทำงานในช่วงกลางคืน
“ทั้งนี้ ทีมวิจัย ยังได้ยื่นเสนอแนวทางแก้ไขร่วมกับ กรมสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านกระบวนการทำงาน และสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการ เพื่อคุ้มครองเยาวชนที่ทำงานพาร์ทไทม์ให้มีสุขภาวะที่ดีตลอดการทำงาน และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ผศ. นริศ กล่าว
อย่างไรก็ดี หลักความรู้ด้าน Human Engineering & Design ยังสามารถนำไปปรับใช้วิเคราะห์และเสนอปรับกระบวนการทำงานให้ได้มาตรฐานและความปลอดภัยที่สูงขึ้น ช่วยลดคาวมเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัยและส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต อาทิ การประเมินความเสี่ยงด้านการยศาสตร์ในโรงงานอุตสาหกรรม การเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงกาย (Ergonomics Guideline for Manual Handling) การออกแบบสถานีงานทำงานกับเครื่องจักร (design of workstations at machinery) รวมถึงการประยุกต์ใช้สำหรับการออกแบบอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรบผู้ที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกายและผู้สูงวัย ผศ. นริศ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. โทรศัพท์ 094-664-7146 ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT และ www.engr.tu.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad