นักวิชาการ ม.อ. แนะโมเดลพลิกฟื้นเศรษฐกิจใต้รับยุค New Normal ชูเทคโนโลยีขับเคลื่อนฐานราก หนุนวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

นักวิชาการ ม.อ. แนะโมเดลพลิกฟื้นเศรษฐกิจใต้รับยุค New Normal ชูเทคโนโลยีขับเคลื่อนฐานราก หนุนวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง


นักวิชาการ ม.อ. แนะโมเดลพลิกฟื้นเศรษฐกิจใต้รับยุค New Normal ชูเทคโนโลยีขับเคลื่อนฐานราก หนุนวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง ปักธงสร้างจุดขายท่องเที่ยวรับ Medical Tourism

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ระดมนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ทั้ง 5 วิทยาเขต เสนอโมเดลพลิกฟื้นเศรษฐกิจใต้หลัง COVID-19 รับยุค New Normal ชูเศรษฐกิจฐานรากต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชน สร้างสมดุลรายได้สินค้าเกษตรและรายได้ภาคอุตสาหกรรมบริการท่องเที่ยว ผ่านเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนทุกธุรกิจทุกภาคส่วน เน้นสร้างจุดขายด้านการท่องเที่ยวกลุ่ม Medical Tourism เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน  
ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะการบริการและการท่องเที่ยว วิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจภาคใต้ขับเคลื่อนผ่าน 4 กลุ่มหลักได้แก่ ภาคบริการการท่องเที่ยว การเกษตร การค้าและการผลิต และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการท่องเที่ยว โดยผู้ประกอบการโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร ต้องหยุดกิจการจากมาตรการ Lock Down ซึ่งประเมินความเสียหายจากการใช้โมเดลเศรษฐศาสตร์ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ พบว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ภาคการท่องเที่ยวได้รับความเสียหายกว่า 127,000 ล้านบาท โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตเกิดความเสียหายถึง 65,000 ล้านบาท เป็นผลให้ GPP ของจังหวัดในปีนี้ คาดว่าจะหดตัวถึงร้อยละ 20 ถือว่ารุนแรงกว่าช่วงที่เกิดเหตุการณ์สึนามิที่ GPP หดตัวไป 15%

“Covid-19 กระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวภาคใต้ บางรายต้องปิดกิจการหรือต้องลดคนเพื่อประคับประคองธุรกิจให้ผ่านวิกฤตไปได้ ส่งผลให้ภาคแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภาคใต้ มีรายได้หายไปเฉลี่ย 12,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งจะกระทบกับการบริโภคต่อไปในอนาคต” ดร.ชยานนท์ กล่าว
ทั้งนี้ การพลิกฟื้นเศรษฐกิจของภูเก็ต ต้องนำจุดแข็งด้านการป้องกันการแพร่ระบาดโรคที่ประเทศไทยทำได้ดี มาเป็นจุดขายเปิดรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามารักษาพยาบาล (Medical Tourism) นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและโรงแรมจำนวนมาก ทำให้จังหวัดภูเก็ต มีศักยภาพก้าวสู่การเป็นฮับ work from Hotel เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจจากบริษัทข้ามชาติได้
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ คงฤทธิ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิจัย วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ม.อ. กล่าวว่า ภาคเกษตรกรรมและภาคการผลิตเพื่อการส่งออกสินค้าเกษตร ยางพารา อาหารทะเล น้ำมันปาล์มดิบ ในเขตภาคใต้ได้รับผลกระทบน้อยกว่าสาขาอื่น และยังมีโอกาสที่ดีในการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พืชผลการเกษตร ได้แก่ การนำยางพาราไปผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข  เช่น การผลิตถุงมือยางเพื่อใช้ในการแพทย์ กลุ่มสินค้าอาหารทะเลกระป๋อง ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีจากความต้องการเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศยุโรป  
ส่วนธุรกิจการท่องเที่ยวนั้น มองว่าพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบเฉพาะเจาะจงที่เป็นรายบุคคล แทนการเดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์จากความกังวลการติดเชื้อ ทำให้ต้องเว้นระยะห่าง (Social Distancing)  ดังนั้นการให้บริการจะเน้นความเป็นส่วนตัว ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและภาคบริการ ต้องสร้างความเชื่อมั่นถึงสุขอนามัย ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับมาใช้บริการ
ผศ.ดร.จรีรัตน์ รวมเจริญ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบริการวิชาการ วิทยาเขตปัตตานี ม.อ. กล่าวว่า  COVID-19 ทำให้ประชาชนหันมาสร้างกลไกภูมิคุ้มกันเพื่อเผชิญกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น โดยให้ความสำคัญของเศรษฐกิจฐานรากมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตนเอง จากการศึกษาหาทักษะเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตเพิ่มเติม เช่น การทำธุรกิจออนไลน์ ที่คาดว่าได้รับนิยมมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำให้เกิดวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็งและสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจชุมชนต่อไปในระยะยาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad