จัด “ตะกร้อไทยลีก” เล็งโมเดล “อเมริกันฟุตบอล” เผยแพร่วัฒนธรรม + สร้างรายได้เป็นนักกีฬาอาชีพ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563

จัด “ตะกร้อไทยลีก” เล็งโมเดล “อเมริกันฟุตบอล” เผยแพร่วัฒนธรรม + สร้างรายได้เป็นนักกีฬาอาชีพ

  • จากการสำรวจตลาด พบว่า กีฬายอดนิยมของผู้คนทั่วโลกคือ ฟุตบอล มีผู้ชมมากถึง 3,500 ล้านคน และมีรายได้มากถึง 19,000 ล้านยูโร หรือประมาณร้อยละ 43 ของตลาดกีฬาโลก ขณะที่กีฬาสุดฮิตอื่นที่มีรายได้แตะหลักพันล้านยูโร ได้แก่ อเมริกันฟุตบอล เบสบอล บาสเก็ตบอล ฮ็อคกี้ เทนนิส และกอล์ฟ
  • “การพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬา เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ” ถูกกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์ที่4 ของแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ( พ.ศ 2560 –2564 ) จึงได้ยกระดับให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอยู่ในกลุ่มกระทรวงเศรษฐกิจ ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันยุทธศาสตร์ให้การกีฬาสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างต่อเนื่องของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP: Gross Domestic Product )
  • อุตสาหกรรมกีฬา หมายถึง การประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือการให้บริการในกลุ่มกีฬาและสุขภาพ อาทิ ธุรกิจการจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬา ธุรกิจสโมสรกีฬา หรือโรงเรียนสอนกีฬา ฯลฯ
ล่าสุดมีการจัด “เดอะ ตะกร้อ ลีก” พร้อมนำระบบการดราฟต์ตัวผู้เล่น แบบเดียวกับอเมริกันฟุตบอลเข้ามาใช้ เริ่มวันที่ 15 ส.ค. ถึง 12 ธ.ค. 63 พร้อมถ่ายทอดสดในระบบสองภาษา พร้อมกันทั่วโลก เพื่อผลักดันกีฬาตะกร้อไทยไปสู่สากล และสร้างค่านิยมใหม่ให้ธุรกิจกีฬาตะกร้อ สามารถสร้างรายได้หากพัฒนาเป็นอาชีพ
“หากเรามองประเทศไทยเสมือนองค์กรๆ หนึ่ง จะเห็นว่าเรามีสินทรัพย์ที่มีศักยภาพมากมาย ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ หนึ่งในนั้นคือกีฬาที่เป็นมรดกตกทอดของบ้านเราอย่างตะกร้อ” “ครีม-ศุภากร หล่อพิพัฒน์” ซีอีโอ ของ บริษัท สปอร์ต เซ็ท จำกัด เผยถึงที่มา ของการจัดการแข่งขัน ตะกร้อไทยแลนด์ ลีก หรือ “เดอะ ตะกร้อ ลีก” ฤดูกาล 2020 เผยถึงนโยบายชัดเจน สร้างความตื่นตัวให้กับแวดวงนักกีฬาตระกร้อ วัตถุประสงค์ เพื่อผลักดันกีฬาพื้นบ้านของไทยให้เป็นที่รู้จักระดับโลก พร้อมผลักดันให้นักกีฬาสามารถเล่นเป็นอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตัวเหมือนกับนักกีฬาสากลในประเภทอื่นๆ
มองกีฬาพัฒนาทุนมนุษย์
“ประเทศเราในปัจจุบันมีนักกีฬาตะกร้อที่เก่งๆ อยู่มาก แต่เนื่องจากไม่มีระบบเส้นทางอาชีพ ทำให้แม้มีฝีมือดี ก็เล่นตะกร้อได้แค่พาร์ทไทม์ และไม่สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง จากอาชีพนี้ได้ ยกตัวอย่าง เราเห็นกีฬาอเมริกันฟุตบอลเกิดและเติบโตอยู่ในประเทศๆ เดียว แต่สามารถสร้างอาชีพ สร้างมูลค่า และพัฒนาทุนมนุษย์ในประเทศของเขาได้อย่างมหาศาล หากจะแย้งว่าเขาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วจึงทำได้ เราก็เห็นกีฬามวยไทยเกิดและเติบโตไป สู่ตลาดโลกได้เช่นกัน”
“ประสบการณ์ที่ผ่านมา ในงานตะกร้อคิงส์คัพ ทำให้รู้ว่า ยังมีอีกกว่า 30 ประเทศที่ส่งนักกีฬามาแข่งขันกับเรา แม้แต่ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ หรือประเทศในแถบยุโรปอย่าง เยอรมณี และ ฝรั่งเศสก็เล่นตะกร้อกับเราเช่นกัน แถมยังส่งนักกีฬามาฝึกกับโค้ชไทยอีกด้วย ทำให้โค้ชไทยของเรามีรายได้เพิ่มไม่น้อยเลย ฉะนั้นเรามีทรัพยากรมนุษย์ที่ดีมากๆ อยู่แล้ว ในวงการตะกร้อบ้านเรา ขาดก็แต่ระบบลีกที่จะสามารถทำหน้าที่เป็นหมือนเส้นเลือดที่จะส่งเลือด ไปเลี้ยงจังหวัดต่างๆ ที่ส่งทีมมาเข้าร่วม ซึ่งจะทำให้แต่ละจังหวัดและชุมชนในประเทศของเรา มีอาชีพและรายได้มากขึ้น เกิดการท่องเที่ยวเชิงกีฬา และหากกีฬาเป็นที่นิยมมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้สุขภาพของคนที่หันมาเล่นตะกร้อดีมากขึ้น ตามไปด้วย เป็นการเสริมสร้างทุนมนุษย์ทางด้านกีฬา สุขภาพ และธุรกิจท้องถิ่นไปด้วยในคราวเดียวกัน
นี่เป็นภาพความสำเร็จที่อยากเห็นเกิดกับขึ้นกับประเทศไทย และเป็นนิยามของงานที่มีความหมาย หากในอนาคตต่างชาติหันมาเสพหรือแม้แต่ฝึกเล่นกีฬาที่เกิดในบ้านเรา คงเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่เราอยากทำให้กับประเทศไทย เมื่อลองให้เพื่อนต่างชาติและอาจารย์มหาวิทยาลัยดูคลิปการแข่งขันเซปักตะกร้อ ต่างก็บอกว่าน่าสนใจ แปลกใหม่ และเป็นกีฬาที่น่าติดตามมาก
จากตัวอย่าง คลิปวิดิโอ 10 นักตะกร้อชาย เป็นหลักฐาน คนดู 475k แต่ reach ประมาณ 800k โดยที่ไม่ได้ boost ยอดวิวใดๆ https://www.facebook.com/takrawworld/videos/2498436950430267/
ใช้ประสบการณ์ในสายงาน
สิ่งที่ภูมิใจและสนุกมากที่สุด คือการได้ไปฝึกงานกับทีมฟุตบอล New York Red Bulls ทำงานเป็นนักวิเคราะห์ด้านกลยุทธ์ โดยการประเมินข้อมูลเชิงลึกต่างๆ จาก data และ feedback ที่เราได้เก็บมา และกำหนดกลยุทธ์ที่ทางสนามและทีมจะใช้ต่อไปในอนาคต ซึ่งรวมไปถึงปัจจัยต่างๆ เราจับต้องไม่ได้ แต่มีนัยสำคัญมากๆ เช่น ผลการแพ้ชนะ อุณหภูมิสภาพอากาศของสนาม การตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค กระแสสังคม และ สังคมศาสตร์ ทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมดเลย ทำให้เราเรียนรู้สไตล์การบริหารและทำงานของทีมกีฬาที่เป็นที่นิยมในตลาดคนรุ่นใหม่
ดีลสโมสรต่างๆ ทำให้ธุรกิจกีฬาตะกร้อ สามารถสร้างรายได้
ในศึกตะกร้อไทยแลนด์ ลีก “เซปักตะกร้อ” เป็นผลผลิตร่วมระหว่าง “ลีก” และ “สโมสรตะกร้ออาชีพ” ที่ต้องอาศัยกันและกัน เพราะตะกร้อลีกอาชีพจะเล่นกันเอง ดูกันเอง ทีมเดียวไม่ได้ ต้องมีคู่แข่งขันมาร่วมด้วย และมีการจัดการลีกที่ดี เป็นไปในทิศทางเดียวกันตามหลักเกณฑ์จากฝ่ายจัดการแข่งขัน บริษัท สปอร์ต เซ็ท จำกัด จึงเข้ามาดูแลในด้านการบริหารจัดการของตะกร้อไทยแลนด์ ลีก ฤดูกาล 2020 กับนโยบายที่ชัดเจน ยกระดับมาตรฐานของตะกร้อไทยลีก ให้มีความเข้มข้นในการแข่งขัน เผยแพร่กีฬาไทยไปสู่ตลาดโลก และผลักดันพัฒนานักกีฬาไปสู่อาชีพ
ปัจจุบัน สโมสรต่างๆ ในต่างจังหวัด สามารถทำได้แล้วในการหารายได้เข้าสู่สโมสร ตั้งแต่ การขายบัตรเข้าชม การขายเสื้อแข่งขัน ผ้าพันคอ ของที่ระลึกต่างๆ ที่ทำเป็นแบรนด์ของสโมสร รวมถึงการเปิด คาเฟ่ โฮสเทล และร้านอาหาร ในละแวกสนาม ส่งผลให้เกิดรายได้ในทุกมิติ ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ตามไอเดียของแต่ละสโมสรที่จะหาสปอนเซอร์เข้าสู่ทีม
ระบบบริหารจัดการกีฬาที่ดี ลีกอยู่ได้ สโมสรอยู่ได้ เริ่มต้นทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ปรึกษา หาแนวทาง เมื่อลีกบูม กระแสคนดูเพิ่มมากขึ้น เม็ดเงินเหล่านี้จะตามมา ดังนั้นการบริหารจัดการที่ดี เป็นสิ่งสำคัญ และฝ่ายจัดการแข่งขัน กำลังหาสปอนเซอร์จากภาคเอกชนที่เชื่อมั่นในศักยภาพของกีฬาไทยเข้ามาช่วยยกระดับลีก เป็นพาร์ทเนอร์การแข่งขันด้วยเช่นกัน
เสน่ห์เฉพาะที่ต้องชมตระกร้อลีกไทย
ตะกร้ออาชีพ จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีคนดู ผู้ชม คือ ส่วนสำคัญอย่างยิ่ง กับการขับเคลื่อนตะกร้อไทยแลนด์ ลีก ให้ก้าวเดินไปข้างหน้า ด้านความสนุกของเกมการแข่งขันตะกร้อ ลุ้นกันทุกจังหวะ แฟนคลับมาดูนักกีฬาที่เขาชื่นชอบ แฟนคลับเข้ามาดูซุปเปอร์สตาร์ของแต่ละทีม หรือ ผู้เล่นดีกรีทีมชาติ และ ผลงานของทีมก็เป็นส่วนสำคัญ ที่จะดึงคนดูเข้าสนาม แต่มีจุดเด่นตรงที่แฟนคลับเชียร์ทีมไหนทีมนั้น เพราะเป็นบ้านเกิด และระบบการดราฟต์ตัวจะส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนนักกีฬาในทุกฤดูกาล ทำให้ลุ้นมากยิ่งขึ้นว่าทีมไหนจะได้ครองแชมป์แห่งฤดูกาลใหม่
พัฒนาเป็นเกมกีฬาอาชีพ
ตามแผนผลักดันกีฬาตะกร้อให้เป็นกีฬาอาชีพ การแข่งขัน “เดอะ ตะกร้อ ลีก 2020” นำระบบการดราฟต์ตัวผู้เล่น แบบเดียวกับอเมริกันฟุตบอล NFL เข้ามาใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ด้วย
ถือเป็นมิติใหม่ของวงการตะกร้อเมืองไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการนำเอาระบบดราฟต์ตัวผู้เล่น แบบเดียวกับอเมริกันฟุตบอล NFL และ บาสเกตบอล NBA ของประเทศสหรัฐอเมริกา มาใช้กับการแข่งขันตะกร้ออาชีพของไทย
การแข่งขันตะกร้อไทยแลนด์ลีก จะเปิดศึกกันในช่วงกลางเดือนสิงหาคม จนถึง กลางธันวาคม เป็นระยะเวลา 4 เดือน แข่งขันแบบเหย้า-เยือน เพื่อชิงถ้วยรางวัลประจำฤดูกาลและเงินรางวัล เป็นการแข่งเก็บคะแนนตลอดทั้งฤดูกาล โดย 4 คู่ในอาทิตย์สุดท้ายจะแข่งขันกันใน 4 สนามจาก 4 จังหวัดและถ่ายทอดสดพร้อมกัน ทำให้ผลคะแนนรวมมีโอกาสพลิกโผได้แม้นาทีสุดท้าย
ความน่าสนใจของการแข่งขันตะกร้อไทยแลนด์ลีกปีนี้ คือระบบการดราฟต์ตัวผู้เล่น โดยเป็นการคัดเลือกตัวนักกีฬาเข้าสู่ทั้ง 9 สโมสร โดยจะเริ่มจากทีมใหม่ที่เพิ่งเข้ามาปีนี้ เช่น เลย และ ชัยภูมิได้เลือกเป็นทีมแรก ต่อมาคือทีมที่ได้อันดับสุดท้ายในฤดูกาลที่แล้วไล่ไปตามลำดับ ซึ่งรายชื่อนักกีฬาที่อยู่ใน Athlete Pool มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 409 คน ให้แต่ละทีมได้คัดเลือกกันในปีนี้ (ซึ่งได้เกิดขึ้นไปในวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา และสามารถดูรายชื่อนักกีฬาที่ถูกดราฟต์ของแต่ละทีมได้ที่ https://www.facebook.com/takrawworld/)
ใช้กีฬาส่งเสริมการท่องเที่ยวได้?
ปัจจุบัน ตะกร้อคิงส์คัพ ล่าสุด (2019) ทางสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้เป็นการแข่งขันระดับนานาชาติมีการเชิญประเทศ มีการเล่นตะกร้อจากทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขันซึ่งมีกลุ่มประเทศสมาชิกสหพันธ์เซปักตะกร้อตอบรับและส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 31 ประเทศ ประกอบด้วย อัฟกานิสถาน, ออสเตรเลีย, บราซิล, บรูไน, กัมพูชา, สาธารณรัฐประชาชนจีน, ไต้หวัน, เยอรมนี, เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิรัก, อิหร่าน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์, เนปาล, นิวซีแลนด์, โอมาน, ปากีสถาน, ศรีลังกา, สิงคโปร์, สหรัฐอเมริกา, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, สวิตเซอร์แลนด์, บังกลาเทศ, ฝรั่งเศส, มาเลเซีย และประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันและที่ผ่านมา มีทีมที่เคยมาเก็บตัวประเทศไทยมี เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน อินโดนีเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ถ้ามีการพัฒนาอย่างจริงจัง มีโอกาสและแนวโน้มสูงที่จะพัฒนาเป็น อะแคเดมี่ฝึกตะกร้อ ส่งเสริมด้านกีฬาและการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad