ผู้ใหญ่ก็ต้องฉีดวัคซีน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ผู้ใหญ่ก็ต้องฉีดวัคซีน


ถึงแม้ว่าผู้ใหญ่จะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงกว่าเด็ก แต่สำหรับบางโรค แม้ว่าเราจะเคยฉีดวัคซีนแล้วตอนเด็กๆ ระดับภูมิคุ้มกันกลับค่อยๆ ลดลงจนไม่เพียงพอสำหรับการป้องกันโรคอีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีโรคที่อุบัติใหม่ขึ้นอยู่เสมอ ทำให้มีการค้นพบวัคซีนใหม่ๆ ดังนั้นวัคซีนจึงไม่ใช่สิ่งที่ใช้เฉพาะเด็กเล็กอีกต่อไป พญ.กฤดากร เกษรคำ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จาก Addlife Check-Up Center ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) จะมาเล่าถึงวัคซีนที่จำเป็นสำหรับผู้ใหญ่นะคะ ว่ามีอะไรบ้าง

  1. วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (Measles-Mumps-Rubella Vaccine : MMR) โดยปกติผู้ที่เคยฉีดวัคซีนครบ 2 ครั้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำอีก เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอที่จะป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต แต่ผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยป่วยเป็นโรคทั้ง 3 นี้มาก่อน รวมทั้งผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบ 2 ครั้ง ควรได้รับวัคซีนรวมอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยเฉพาะหญิงวัยเจริญเจริญพันธุ์ควรได้รับวัคซีนชนิดนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง และหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์เป็นเวลา 3 เดือนหลังฉีดวัคซีน
  2. วัคซีนอีสุกอีใส งูสวัด (Varicella Vaccine) ควรฉีดในผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่เคยเป็นอีสุกอีใสหรืองูสวัดมาก่อน โดยฉีด 2 ครั้งห่างกัน 4-8 สัปดาห์ หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์เป็นเวลา 1 เดือนหลังฉีดวัคซีน ผู้ที่สัมผัสโรคควรฉีดวัคซีนภายใน 72 ชั่วโมงหลังสัมผัสโรคจึงป้องกันได้ หากเกิน 5 วันไม่สามารถป้องกันโรคแต่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้
  3. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine) โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่มักมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดและหายใน 5-7 วัน แต่การติดเชื้อในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้มีโรคเรื้อรังในระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจเรื้อรัง ฯลฯ อาจมีอาการรุนแรง เกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้มีอัตราการเสียชีวิตสูง แนะนำให้ฉีดทุกปี เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปี โดยฉีดปีละ 1 ครั้ง ช่วงก่อนมีการระบาด ในประเทศไทยมักระบาด 2 ช่วงคือช่วงฤดูฝน และช่วงฤดูหนาว ทั้งนี้ห้ามฉีดในผู้ที่แพ้ไข่อย่างรุนแรง เนื่องจากไข่เป็นส่วนหนึ่งในขบวนการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่
  4. วัคซีนปอดอักเสบ (Pneumococcal Vaccine) เชื้อนิวโมคอคคัสเป็นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคติดเชื้อในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ฯลฯ โดยเฉพาะการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุกล้ำ (Invasive pneumococcal disease ย่อว่า IPD) ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ ในผู้ใหญ่ฉีดวัคซีนเพียงครั้งเดียว แต่อาจฉีดกระตุ้นอีกครั้งหลังฉีดครั้งแรก 3-5 ปี
เมื่อทราบดังนี้แล้วก็แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับวัคซีนให้ครบนะคะ เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษาค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad