เอสซีจี ผนึกกำลัง สถาบันปาสเตอร์ ฝรั่งเศส และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิจัยและพัฒนานวัตกรรมป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เอสซีจี ผนึกกำลัง สถาบันปาสเตอร์ ฝรั่งเศส และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิจัยและพัฒนานวัตกรรมป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมกับสถาบันปาสเตอร์ ฝรั่งเศส และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าวิจัยและพัฒนา “นวัตกรรมกับดักยุงลาย” หรือ “The Mosquito Trap” เพื่อป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออกซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก โดยนวัตกรรมนี้จะช่วยลดปริมาณการแพร่พันธุ์ยุงลายที่เป็นพาหะสำคัญของโรค ส่งผลให้การระบาดของโรคไข้เลือดออกลดลง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเฉลี่ยปีละ 100,000 คน และเสียชีวิตกว่า 100 คน ทั้งนี้ งานวิจัยและพัฒนาดังกล่าวอยู่ในระหว่างการวิจัยภาคสนาม โดยทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานกับ “ยุงลายสวน” ในพื้นที่ จ.จันทบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่สวนป่าใกล้ชุมชน และทดสอบกับ “ยุงลายบ้าน” ในพื้นที่ จ. ระยอง ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอัตราผู้ป่วยไข้เลือดออกมากเป็นอันดับสองของประเทศ โดยเอสซีจี ร่วมกับเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง นำร่องทดสอบกับชุมชนกว่า 50 ครัวเรือนในชุมชนตลาดมาบตาพุดและชุมชนบ้านบน คาดว่าการทดสอบจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม และมีแผนจะขยายการใช้งานในวงกว้างภายในปี 2563

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เปิดเผยว่า “นวัตกรรมกับดักยุงลาย หรือ The Mosquito Trap เป็นความร่วมมือระหว่างธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และสถาบันปาสเตอร์ ฝรั่งเศส โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะหานวัตกรรมเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก โดยเฉพาะในพื้นที่เขตร้อนอย่างเอเชียและแอฟริกา ทั้งนี้ในประเทศไทย เราได้รับความร่วมมือจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในการทดสอบทั้งในห้องปฏิบัติการและภาคสนาม เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของกับดักยุงนี้ก่อนนำไปใช้อย่างแพร่หลายต่อไป”
“นวัตกรรมกับดักยุงลาย เป็นหนึ่งในนวัตกรรมเพื่อสังคมที่เอสซีจีมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพด้านสาธารณสุขและสุขภาพ ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศไทยซึ่งมีจำนวนมากโดยเฉลี่ยถึงปีละ 100,000 คน  โดยนวัตกรรมดังกล่าวมีการทำงานสองส่วนหลัก ๆ คือ ส่วน “กับดักยุง” ทำหน้าที่ดึงดูดยุงลายให้เข้ามาวางไข่ในกับดัก และ “สารเติมแต่งพิเศษที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยเอสซีจีพัฒนาต่อยอดการใช้สาร BTI (Bacillus thuringiensis israelensis) ซึ่งเป็นสารกำจัดลูกน้ำยุงลายที่ใช้กันอยู่เดิม โดยคิดค้นสารเติมแต่งเพื่อเสริมให้ BTI มีคุณสมบัติสามารถเกาะติดกับขายุงได้ดี เมื่อยุงลายบินไปเกาะในแหล่งน้ำแห่งใหม่ สารพิเศษที่ติดมากับขายุงจะละลายลงในน้ำ ช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลายในแหล่งเพาะพันธุ์แหล่งใหม่ โดยไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในแหล่งน้ำนั้น ๆ”
ล่าสุด เอสซีจี ได้นำร่องทดสอบประสิทธิภาพของนวัตกรรมกับดักยุงลาย ในส่วนของ “ยุงลายบ้าน” ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตชุมชนและครัวเรือน โดยได้รับความร่วมมือจากเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ในการนำนวัตกรรมดังกล่าวไปทดสอบใช้งานจริงในพื้นที่ชุมชนตลาดมาบตาพุดและชุมชนบ้านบน จ.ระยอง จำนวนกว่า 50 ครัวเรือน ทั้งนี้จะใช้เวลาในการเก็บข้อมูลรวม 3 เดือน เพื่อนำไปพัฒนากับดักยุงลายก่อนที่จะเผยแพร่ใช้งานต่อไป  โดยก่อนหน้านี้ ได้ทดสอบการใช้งานนวัตกรรมกับดักยุงลายทั้งในห้องทดลองและภาคสนาม จำนวน 200 จุด โดยวิจัยภาคสนามที่ จ.จันทบุรี  ซึ่งมี “ยุงลายสวน” ชุกชุมตลอดปี เนื่องจากเป็นพื้นที่สวนป่าใกล้ที่พักอาศัย ซึ่งได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ  
เอสซีจี ผนึกกำลัง สถาบันปาสเตอร์ ฝรั่งเศส และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิจัยและพัฒนานวัตกรรมป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออก

ด้าน ดร.อภิวัฏ ธวัชสิน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้เลือดออกเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขของไทยที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะ จ.ระยอง ที่อัตราผู้ป่วยสูงเป็นอันดับสองของประเทศ ดังนั้น ชุมชนจึงควรมุ่งเน้นการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกล่วงหน้า โดยการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน โดยมุ่งเน้นดำเนินการควบคุมอย่างเข้มข้นในพื้นที่เสี่ยงสูงและในช่วงฤดูฝน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ออกมาตรการในการป้องกันควบคุมไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง อาทิ การวิจัยพัฒนาสารดึงดูดให้ยุงลายมาวางไข่ และการใช้สารกำจัดลูกน้ำยุงลายชนิดใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนานวัตกรรมกับดักยุงลายจากเอสซีจี และสถาบันปาสเตอร์ ฝรั่งเศส ถือว่าช่วยตอบโจทย์ด้านการสาธารณสุขเป็นอย่างมาก หากสามารถนำไปใช้แพร่หลายในชุมชน เชื่อมั่นว่าจะช่วยยกระดับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของชุมชนได้อย่างยั่งยืน”
ในขณะที่ นายถวิล โพธิบัวทอง นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “เทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง เห็นความสำคัญของการรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกแก่ประชาชน โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ออกให้ความรู้กับประชาชนถึงวิธีป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะไข้เลือดออก สำหรับครั้งนี้ ขอขอบคุณที่ทางเอสซีจี มอบ “นวัตกรรมกับดักยุงลาย” โดยเลือกนำร่องทดลองที่ชุมชนตลาดมาบตาพุด และชุมชนบ้านบนจำนวนกว่า 50 ครัวเรือน นับเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก”
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากไข้เลือดออกโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยมากกว่า 1 แสนรายต่อปี และอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 100 รายต่อปี ในปี 2563 มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศกว่า 25,000 ราย เสียชีวิต 15 ราย โดย 5 จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ ชัยภูมิ ระยอง ขอนแก่น แม่ฮ่องสอน และนครราชสีมา
บุคคลในภาพข่าว (เรียงจากซ้ายไปขวา)
  1. นายกังวาล หงส์วลีรัตน์               ประธานชุมชนตลาดมาบตาพุด
  2. นายประชา ทิพนาค                     ประธานชุมชนบ้านบน
  3. นายถวิล โพธิบัวทอง                   นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองมาบตาพุด
  4. ดร.สุรชา อุดมศักดิ์                      ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี
  5. ดร.อภิวัฏ ธวัชสิน                        ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์   
  6. นางสาวน้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ   ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี
  7. นางสาวกาญจนา เตลียะโชติ        ผู้อำนวยการสำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมือง มาบตาพุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad