สุริยะเร่งพัฒนา “อุตสาหกรรม 4.0” ยกระดับการผลิตอุตฯ ไทย ตอบสนองการบริโภคยุค New Normal - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2563

สุริยะเร่งพัฒนา “อุตสาหกรรม 4.0” ยกระดับการผลิตอุตฯ ไทย ตอบสนองการบริโภคยุค New Normal


สุริยะเร่งพัฒนา “อุตสาหกรรม 4.0” ยกระดับการผลิตอุตฯ ไทย 
ตอบสนองการบริโภคยุค New Normal

            กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยภาคอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องยกระดับเข้าสู่อุตสาหกรรม4.0 ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปหลังผู้บริโภคปรับตัวสู่ชีวิตวิถีใหม่New Normal ให้ทัน ชี้เป็นโอกาสดึงนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตหลังไทยสามารถควบคุมโควิด-19 ได้ดี
           นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมแผนการดำเนินงานเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้เร็วขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการยุคใหม่ที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยภาคอุตสาหกรรมจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยหลังแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีหลังฟื้นตัว อุตสาหกรรมหลักโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและการแพทย์จะยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก เกิดการลงทุนและการจ้างงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรมหลักอื่นจะค่อย ๆ ฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการและการใช้จ่ายภายในประเทศที่ดีขึ้น เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและยานยนต์ อุตสาหกรรมHard disk drive อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในต่างประเทศยังคงน่าเป็นห่วง พฤติกรรมการบริโภคทั่วโลกมีความเปลี่ยนแปลงจากเดิม มีการบริโภคสินค้าคงทนที่ลดลงตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ในขณะที่การบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคกลับเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ภาคอุตสาหกรรมจึงจำเป็นต้องยกระดับเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงนี้ให้ทัน และใช้โอกาสจากวิกฤตในครั้งนี้ดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาสร้างฐานการผลิตในไทย
สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำมาใช้ประกอบการทำงานและชีวิตประจำวัน ผู้บริโภคจำเป็นต้องปรับตัวสู่ชีวิตวิถีใหม่ New Normal ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คาด ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องยกระดับให้สามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงนี้ให้ทัน และต้องเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตต่อไป ด้วยเหตุนี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยจึงจำเป็นต้องยกระดับเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม มุ่งใช้เทคโนโลยีเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในสถานการณ์ต่างประเทศที่นักลงทุนต้องการย้ายฐานการผลิตเพื่อกระจายความเสี่ยง จึงจำเป็นต้องเร่งจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ และเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานเพื่อรองรับการทำงานในยุคอุตสาหกรรม 4.0” นายสุริยะกล่าวปิดท้าย


           นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)  กล่าวว่า การยกระดับอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 จะเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการทำงานผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายอัจฉริยะ พร้อมนำข้อมูลการทำงานไปวิเคราะห์และประมวลผลสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยทำให้อุตสาหกรรมการผลิตทำงานได้รวดเร็ว ยืดหยุ่น และสามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มศักยภาพให้อุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ประกอบกับสถานการณ์ต่างประเทศที่มีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในฐานการผลิตสำคัญ รวมทั้งสถานการณ์สงครามการค้าส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกต้องชะงักลง อุตสาหกรรมบางประเภทขาดชิ้นส่วนการผลิต เกิดปัญหาทางด้านการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มทบทวนแผนการผลิตใหม่และมีความต้องการย้ายฐานการผลิตออกเพื่อกระจายความเสี่ยง นับเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะดึงดูดผู้ให้ประกอบการเข้ามาลงทุน โดยที่ประเทศไทยมีจุดแข็งทางด้านของแรงงานที่มีฝีมือและมีการควบคุมโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ดี สอดรับกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มุ่งพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่จะย้ายเข้ามาใหม่ได้ รวมถึงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EECการเตรียมความพร้อมในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติได้ทันที ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ สศอเร่งจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ ต่อไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad