“อาร์เซ็ป” เอฟทีเอน้องใหม่ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2563

“อาร์เซ็ป” เอฟทีเอน้องใหม่

img

สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ กับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้เริ่มเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) มาตั้งแต่ปี 2555 และมาปิดดีลกันได้ในช่วงการประชุมสุดยอดอาร์เซ็ป ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเดือนพ.ย.2562 หลังจากใช้เวลาเจรจามายาวนานถึง 7 ปี
         
ในครั้งนั้น สมาชิก 15 ประเทศ สามารถปิดการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดในส่วนที่สำคัญได้ทุกประเด็น และมอบให้คณะกรรมการเจรจาอาร์เซ็ปไปขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในปี 2563
         
ทว่า ในส่วนของอินเดีย ยังไม่เข้าร่วม เพราะมีประเด็นคงค้างที่จะต้องเจรจาต่อ ซึ่งสมาชิกอาร์เซ็ปบอกว่าจะทำงานร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียต่อไป

นั่นคือ สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2562 ช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพ พอมาถึงปี 2563 ที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพ การประชุมคณะกรรมการเจรจาอาร์เซ็ป เพื่อขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายยังคงเดินหน้าต่อ

โดย 20 บท ที่จะต้องขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย ได้แก่ 1.บทบัญญัติพื้นฐานและคำนิยามทั่วไป 2.การค้าสินค้า 3.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 4.พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 5.สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6.มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง 7.การเยียวยาทางการค้า 8.การค้าบริการ ภาคผนวกบริการการเงิน ภาคผนวกบริการโทรคมนาคม ภาคผนวกบริการวิชาชีพ 9.การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา 10.การลงทุน 11.ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ 12.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 13.ทรัพย์สินทางปัญญา 14.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 15.การแข่งขัน 16.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 17.บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน 18.บทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น 19.การระงับข้อพิพาท 20.บทบัญญัติสุดท้าย
ช่วงโควิด-19 เดิมมองกันว่า จะกระทบต่อการเจรจา แต่ไม่ได้ทำให้การเจรจาต้องหยุดชะงัก และกลับเป็นผลดี ทำให้การเจรจามีความคืบหน้าต่อเนื่อง เพราะแทนที่สมาชิกจะต้องนัดก่อนกัน แล้วบินไป บินมา เพื่อร่วมประชุม ก็นั่งอยู่ที่ออฟฟิศ ประชุมกันผ่านทางออนไลน์ ทำให้เกิดความสะดวก และการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย ก็เดินหน้าได้เรื่อยๆ สามารถสรุปผลทั้ง 20 บทได้ในช่วงเดือนก.ค.2563 โดยยังเหลือประเด็นคงค้างในเรื่องการเปิดตลาดให้รัฐมนตรีพิจารณาอีกเล็กน้อย

จากนั้นรัฐมนตรีอาร์เซ็ป ได้นัดประชุมผ่านทางไกลในวันที่ 27 ส.ค.2563 สามารถสรุปการเจรจาประเด็นคงค้างได้ทั้งหมด และยืนยันพร้อมลงนามความตกลงในการประชุมสุดยอดอาร์เซ็ป ครั้งที่ 4 ในเดือนพ.ย.2563 นี้ ที่เวียดนาม
ส่วนประเด็นอินเดีย ยังคงต้อนรับกลับเข้าร่วมความตกลง เนื่องจากอินเดียเป็นสมาชิกสำคัญที่เข้าร่วมเจรจาตั้งแต่เริ่มแรก เมื่อปี 2555 และเชื่อว่าการเข้าร่วมของอินเดียจะช่วยสร้างความเติบโตให้กับภูมิภาคได้

แต่ก็ไม่รู้ว่าท่าทีของอินเดียจะเป็นอย่างไร ต้องรอดูกันในช่วงการประชุมสุดยอดอาร์เซ็ป น่าจะเห็นทิศทางชัดเจนมากขึ้น
         
ทั้งนี้ หากมีการลงนามอาร์เซ็ปในเดือนพ.ย.2563 จะทำให้อาร์เซ็ปเป็นเอฟทีเอ (ความตกลงการค้าเสรี) ฉบับที่ 14 ของไทย หลังจากก่อนหน้านี้มีมาแล้ว 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ
         
เป็นเอฟทีเอน้องใหม่ ที่มีคุณสมบัติคับแก้ว มีประโยชน์กับไทยแบบเนื้อๆ เน้นๆ
         
เริ่มจากตัวอาร์เซ็ปเอง จะเป็นเอฟทีเอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย มีประชากรรวมกันเกือบ 3,600 ล้านคน คิดเป็น 48.1% ของประชากรโลก โดยในปี 2562 ประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปมีมูลค่าจีดีพีกว่า 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 32.7% ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 29.5% ของมูลค่าการค้าโลก
        
ถ้าไม่รวมอินเดีย อาร์เซ็ปก็ยังเป็นเอฟทีเอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเหมือนเดิม มีประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน หรือประมาณ 30% ของประชากรโลก มีมูลค่าจีดีพีกว่า 25.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 29.3% ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ากว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 27.4% ของมูลค่าการค้าโลก

โดยไทยค้าขายกับสมาชิกอาร์เซ็ปประมาณ 60% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย มีมูลค่าการส่งออก 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 57% ของการส่งออกทั้งหมด

ส่วนประโยชน์ของอาร์เซ็ป มีนับไม่ถ้วน ไล่จากด้านการค้าสินค้าเกษตร พบว่า สมาชิก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จะเปิดตลาดโดยลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรให้ไทยเพิ่มเติมมากกว่าที่ลดให้ในเอฟทีเอที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ผักผลไม้แปรรูปและไม่แปรรูป น้ำมันที่ได้จากพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืชและแป้ง แป้งมันสำปะหลัง แป้งสาคู สินค้าประมง อาหารแปรรูป น้ำผลไม้ เป็นต้น

จึงเป็นโอกาสให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการของไทย จะได้ประโยชน์จากผลการเจรจาอย่างเต็มที่

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกันในการส่งออกไป 16 ประเทศ จากเดิมที่ใช้เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่แตกต่างกันตามความตกลงเอฟทีเอแต่ละฉบับ อีกทั้งเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงอาร์เซ็ปยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้แหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งจากประเทศในกลุ่มและนอกอาร์เซ็ปได้อีกด้วย
         
นอกจากนี้ อาร์เซ็ปยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในไทย และช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก ธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง ประเภทเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง การผลิตแอนิเมชัน เป็นต้น แต่ผู้ประกอบการไทยจะต้องศึกษากฎระเบียบและรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
         
หากนับจากการลงนาม ประเมินกันไว้คร่าวๆ ว่า อาร์เซ็ปน่าจะบังคับใช้ในปี 2564 ซึ่งก็เหลือระยะเวลาอีกไม่นาน
         
ทีนี้ ก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการไทยว่าจะเข้าไปตักตวงผลประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร เพราะประตูเปิดกว้างให้แล้ว
           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad