สภานโยบาย เดินหน้าส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม ดันการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชนโดยกลไก Holding Company ปลดล็อกการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563

สภานโยบาย เดินหน้าส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม ดันการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชนโดยกลไก Holding Company ปลดล็อกการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะเลขานุการและดูแลงานวิชาการสภานโยบาย จัดการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม พร้อมด้วย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำหน้าที่รองประธานที่ประชุม

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกของตนที่มาทำหน้าที่ประธานสภานโยบาย ซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญในการนำการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนประเทศ หลากหลายประเด็นที่เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาในครั้งนี้ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยปลดล็อกอุปสรรคด้านการสร้างนวัตกรรม ส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งจะมีการเร่งขับเคลื่อนต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการฝากให้ที่ประชุมร่วมกันค้นหาโอกาสทองของประเทศในวิกฤติโควิด-19 ที่อยากได้ไอเดียของทุกฝ่ายมาช่วยเป็นสปริงบอร์ดให้กับประเทศ โดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปช่วยรวบรวมมาเสนอสภานโยบาย และอีกหนึ่งประเด็นที่อยากให้ช่วยกันคิดคือ การวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอน ทำอย่างไรที่จะฟูมฟักให้เด็กไทยมีทั้งความรู้ควบคู่ไปกับการปลูกฝังจิตสำนึก ให้เขามีภูมิคุ้มกันทางสังคม มีความฉลาดทางอารมณ์ ไม่ใช่แค่เก่งความรู้ แต่ต้องเก่งรอบ 360 องศา
ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยในฐานะผู้ช่วยเลขานุการสภานโยบายว่า ที่ประชุมได้มีการหารือและมีมติเห็นชอบในหลักการของหลายประเด็นที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือ การส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนในธุรกิจนวัตกรรม โดยกลไก Holding Company เพื่อต่อยอดงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างรายได้และการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในระบบวิจัยและนวัตกรรม ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม อีกทั้งมหาวิทยาลัยผู้สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมจะได้รับรายได้กลับคืนมาเข้าสู่หน่วยงานสำหรับสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมได้ต่อไป รวมถึงนักวิจัยจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเพิ่มขึ้น โดยการร่วมลงทุนระหว่างมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยและภาคเอกชนในธุรกิจนวัตกรรมโดยกลไก Holding Company เป็นรูปแบบที่หน่วยงานของรัฐและมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศนำมาใช้เพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูง โดยการจัดตั้งและการดำเนินงานของ Holding Company มีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกออกมาจากหน่วยงานวิจัยของรัฐหรือมหาวิทยาลัยโดยมีการบริหารงานแบบมืออาชีพ เป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนของหน่วยงานของรัฐและมหาวิทยาลัย และมีความคล่องตัวสูงเหมาะกับการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างให้เกิดแรงจูงใจแก่นักวิจัยให้เห็นถึงช่องทางในการสร้างธุรกิจนวัตกรรมจากผลงานวิจัยที่คิดค้นทำให้เกิดการพัฒนาผลงานวิจัยที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ และส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจทั้งในระดับหน่วยงานและในระดับประเทศได้
“ข้อจำกัดของการร่วมลงทุนของสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยกับภาคเอกชน ผ่านกลไก Holding Company ของไทยคือ ยังขาดความเข้าใจเรื่องการจัดตั้งและสถานภาพของ Holding Company ขาดความชำนาญและความสามารถในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมของบุคลากรมืออาชีพ ขาดแรงจูงใจของนักวิจัยในการ Spin-off รวมถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณที่มีจำกัดในการลงทุน หรือมีงบประมาณแต่ยังขาดกลไกหรือมีข้อจำกัดทางกฎระเบียบภายในในการร่วมลงทุน สอวช. จึงได้มีการหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งและได้จัดทำหลักการของชุดมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนโดยกลไก Holding Company ขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันถึงอำนาจหน้าที่ การบังคับใช้กฎหมายในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการร่วมลงทุน การส่งเสริมการสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านธุรกิจนวัตกรรมมืออาชีพ ตลอดจนมาตรการสร้างแรงจูงใจให้นักวิจัย บุคลากรในมหาวิทยาลัยออกไปดำเนินธุรกิจนวัตกรรม เช่น ให้สิทธิกลับมาดำรงตำแหน่งในหน่วยงานเดิมได้หากธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ และการส่งเสริมด้านเงินทุนเพื่อไปร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม เป็นต้น ซึ่งข้อเสนอมาตรการข้างต้นนี้จะช่วยให้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว ผู้บริหารหน่วยงานสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใส ซึ่งจะส่งผลให้การร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเกิดประสิทธิผล และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชนที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่า และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้” ดร. กิติพงค์ กล่าว
ดร. กิติพงค์ ยังกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งทางคณะกรรมการพัฒนาและออกแบบระบบการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ซึ่งมีศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธาน จัดทำขึ้น เพื่อปลดล็อกกระบวนการจัดหาพัสดุเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา การบริการวิชาการ และการสร้างนวัตกรรมที่มีความซับซ้อนในการจัดหามากกว่าการจัดหาพัสดุปกติ ซึ่งตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่ใช้บังคับกับทุกหน่วยงานของรัฐ รวมถึงหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม มีหลักการและกรอบการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่บางประเด็นไม่สอดคล้องกับการจัดหาพัสดุเพื่อการวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่มีลักษณะพิเศษ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุชีวภาพ หรือพัสดุท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะตามข้อกำหนดของงานวิจัย ข้อกำหนดให้จ่ายเงินล่วงหน้าสำหรับการซื้อการจ้าง การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุต่างประเทศ การโอนพัสดุ และการแปรสภาพพัสดุ เป็นต้น
การเสนอหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาครั้งนี้ จะเป็นการปลดล็อกอุปสรรคและส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมให้เกิดความคล่องตัวและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในวงกว้างกับการจัดหาพัสดุของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม โดยมีประเด็นปลดล็อกและสาระสำคัญของหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาและเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบัน คือ 1. ให้สภานโยบายแต่งตั้งคณะกรรมการกลางทำหน้าที่กำหนดนโยบาย พิจารณาวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง 2. เอกสารการจัดซื้อจัดจ้างสามารถทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ 3. หัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีอำนาจการสั่งซื้อสั่งจ้าง ครั้งหนึ่งไม่เกิน 100 ล้านบาท หากเกินวงเงินให้ถือเป็นอำนาจของสถาบันอุดมศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารหน่วยงาน 4. ลดขั้นตอนการซื้อหรือจ้างเหลือ 2 วิธี ได้แก่ วิธีคัดเลือก และวิธีเฉพาะเจาะจง และกำหนดวิธีการให้ง่ายขึ้น 5. โอนหรือบริจาคพัสดุให้หน่วยงานภาคเอกชนที่ร่วมดำเนินโครงการหรือองค์กรสาธารณะได้ 6. สามารถเลือกใช้แบบสัญญาของหน่วยงานของรัฐแบบสัญญามาตรฐานที่ผ่านอัยการสูงสุด 7. การจัดซื้อพัสดุต่างประเทศไม่จำกัดวงเงินจ่ายล่วงหน้าและหลักประกันสัญญา ยืดหยุ่นได้ตามข้อตกลงประเพณีปฏิบัติทางการค้า และ 8. เพิ่มวงเงินการซื้อหรือจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงเป็น 1 ล้านบาท โดยให้หัวหน้าโครงการเป็นผู้เจรจาต่อรองและไม่ต้องทำข้อตกลงเป็นหนังสือได้ ทั้งนี้ หลังจากผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สอวช. จะดำเนินการส่งร่างประกาศดังกล่าวให้คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพิจารณา และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเพื่อให้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. …. ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่จะช่วยกำกับการทำงานของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม และการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของหน่วยงานภาคเอกชนและภาคประชาสังคมให้เป็นไปตามโจทย์ความต้องการของประเทศ ผ่านระบบการจัดสรรทุน ซึ่งปัจจุบันการจัดสรรทุนของหน่วยงานของรัฐมีความหลากหลาย และมีรูปแบบขั้นตอนที่ต่างกัน การกำหนดระเบียบนี้จะเป็นหลักเกณฑ์กลางสำหรับหน่วยงานใช้อ้างอิงในการจัดสรรทุนได้อย่างมีมาตรฐานเดียวกัน และช่วยให้หน่วยงานของรัฐกล้าตัดสินใจลงทุนวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม
“หลักการสำคัญของการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม คือ ภาครัฐสามารถจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมของภาคเอกชน เช่น เอสเอ็มอี, สตาร์ทอัพ ได้ เปลี่ยนการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่ภาคเอกชนและประชาสัมคมจาก Supply Side เป็น Demand Side ภาครัฐสามารถให้ทุนแก่ภาคเอกชนและประชาสังคมได้โดยตรงซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและนวัตกรรมในภาคเอกชนและประชาสังคมรวมทั้งสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม แก้ปัญหาความหลากหลายของการให้ทุนที่มีรูปแบบขั้นตอนที่ต่างกัน และเป็นหลักเกณฑ์กลางใช้อ้างอิงการให้ทุนให้มีมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐลงทุนวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม และสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมภาคเอกชนและภาคประชาสังคมให้เป็นไปตามโจทย์ความต้องการของประเทศผ่านระบบการจัดสรรทุน” ดร. กิติพงค์ กล่าว
และเพื่อเป็นการเน้นย้ำการให้ความสำคัญกับการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ที่ประชุมยังมีมติมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) บรรจุประเด็นวิจัยเรื่อง “สุวรรณภูมิ-ทวารวดี- ศรีวิชัย” เพิ่มเติมในแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2564 และจัดงบประมาณสนับสนุนที่เหมาะสม ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เสนอ โดยเน้นประเด็นวิจัยประวัติศาสตร์ "สุวรรณภูมิ-ทวารวดี- ศรีวิชัย" เพื่อสร้างคุณค่าทาง ศิลปวัฒนธรรม และประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad