ปลุกจิตสำนึก เปลี่ยนแนวคิดแปลง “ขยะ” ให้กลายเป็น “ทรัพย์” จากตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จแก้ไขขยะ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ปลุกจิตสำนึก เปลี่ยนแนวคิดแปลง “ขยะ” ให้กลายเป็น “ทรัพย์” จากตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จแก้ไขขยะ

 

ปลุกจิตสำนึก เปลี่ยนแนวคิดแปลง “ขยะ” ให้กลายเป็น “ทรัพย์”  จากตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จแก้ไขขยะ


ปลุกจิตสำนึก เปลี่ยนแนวคิดแปลง “ขยะ” ให้กลายเป็น “ทรัพย์” 
จากตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จแก้ไขขยะ

 

ขยะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน แต่ในสังคมไทยการจัดการขยะก็ยังไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งระบบ “เอสซีจี” จึงได้ร่วมกับทุกภาคส่วนรวบรวมองค์ความรู้จากชุมชนและองค์กรที่มีการจัดการขยะเป็นผลสำเร็จ ได้เรียบเรียนไว้ในหนังสือ “Waste to wealth ...เงินทองจากกองขยะ”

“คน”สร้าง “ขยะ” การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องเริ่มจากต้นทาง

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า ขยะเป็นปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวในชีวิตคนมาตั้งแต่เกิด ตื่นมาเราผลิตขยะทุกรูปแบบ เมื่อเป็นคนสร้างขยะก็ต้องช่วยจัดการ เพื่อไม่ให้ปัญหารุนแรงขึ้น ทั้งนี้ มูลนิธิชัยพัฒนาให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมานาน ซึ่งเรื่องขยะแค่ปรับมุมมองก็สามารถแปรเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และก่อให้เกิดรายได้ เพราะขยะมีทั้งกระดาษ พลาสติก ขยะสด เพียงแค่แยกออกมาจะเห็นว่าแต่ละอย่างมีราคา ขยะเป็นแหล่งรายได้ การจูงใจให้เกิดการคัดแยกเพื่อจะเห็นได้ชัดเจนว่าอันไหนเป็นเงิน ซึ่งตอนนี้มีตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จของคนที่ทำเรื่องนี้มาเป็นจำนวนมาก

“จิตสำนึกของคน” กลไกสำคัญ พร้อมถอดบทเรียนความสำเร็จสู่หนังสือ

ดร.สุเมธ กล่าวด้วยว่า การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนจะต้องไปด้วยกันทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกัน มีผลกระทบซึ่งกันและกัน กลไกสำคัญต้องเริ่มจาก “คน” สำคัญมากคือ “จิตสำนึกคน” ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรม ดังนั้น ต้องเริ่มด้วยการปรับเปลี่ยน “จิตสำนึกคน” ตั้งแต่ต้นทาง คือ สร้างขยะให้น้อยที่สุด ให้มองว่าเป็นของมีมูลค่า หาทางจัดการอย่างถูกวิธี คัดแยกให้ถูกประเภท และจัดการทางไปของขยะให้ถูกต้องตามแต่ละชนิดของขยะ เพื่อนำไปใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้น โดยทุกตัวอย่างของผลสำเร็จเกิดจากการมีจิตสำนึกร่วมกัน อีกส่วนที่สำคัญคือ การทำให้ครบทั้งระบบ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มีการจัดการร่วมกันให้ครบทั้งระบบ รวมถึงการมีตัวอย่างที่ดีทำแล้วประสบความสำเร็จ ก็ควรนำมาเป็นแบบอย่างและทำตาม

“ตอนนี้เกิดต้นแบบที่ดีในหลายพื้นที่ แต่ทำอย่างไรที่จะนำไปแพร่ขยายสร้างแรงบันดาลใจให้มากที่สุด โดยปัจจุบันหลายพื้นที่ยังจัดการขยะไม่ถูกวิธี หรือไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริง เอสซีจีได้รวบรวมเรื่องราวการจัดการขยะที่หลากหลาย นำมาถอดบทเรียนความสำเร็จเป็นตัวอย่างสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้และปฏิบัติตามอย่างเหมาะสมกับบริบทของตนเอง ไว้ในหนังสือ “Waste to wealth …เงินทองจากกองขยะ” เปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนว่า “ขยะ” เป็นของมีค่า เพียงแต่ต้องจัดการอย่างถูกวิธี แต่ความรู้จากหนังสือเล่มนี้จะไม่เกิดประโยชน์เลย หากไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติจริง และช่วยกันขยายเครือข่ายความสำเร็จจากการจัดการขยะที่ดีต่อไป” ดร.สุเมธกล่าว

ริเริ่ม “บางซื่อโมเดล” ปลุกจิตสำนึกในองค์กร เดินหน้าจับมือพันธมิตรผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน

นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้น ทุกภาคส่วนต้องหันมาร่วมมือกันแก้ไข ซึ่งเอสซีจีให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลักดันหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นในภาคธุรกิจ อาทิ เอสซีจีร่วมกับเทสโก้ โลตัส สนับสนุนการใช้ถุงกระดาษรีไซเคิลแทนการใช้ถุงพลาสติก และโครงการสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิล จากความร่วมมือระหว่างเอสซีจี เคมิคอลส์, กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และซีพี ออลล์ ที่ร่วมมือส่งเสริมแนวทางการจัดการขยะพลาสติกให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุด เป็นต้น

อีกทั้งยังส่งเสริมแนวคิด “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” ภายใต้SCG Circular way สร้างความเข้าใจ และสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผลิต และการบริโภค โดยเริ่มจากจัดการภายในองค์กรสำนักงานใหญ่บางซื่อ ริเริ่มโครงการ “บางซื่อโมเดล” เพื่อสร้างความตระหนักให้พนักงานเห็นคุณค่าของทรัพยากร เป็นต้นแบบที่ดีด้านการบริหารจัดการของเสีย ตลอดจนส่งต่อแนวคิดการจัดการขยะสู่ชุมชนภายนอก ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชั่นชื่อ “คุ้มค่า” โดยพนักงานเอสซีจีร่วมมือกับชุมชนในการพัฒนาเพื่อช่วยบริหารจัดการรวบรวมและคัดแยกขยะจากชุมชน ทำให้ผู้รับขยะหรือธนาคารขยะทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ต่อยอดองค์ความรู้ ขยายผลสู่ชุมชนเปลี่ยนขยะเป็นความมั่งคั่ง

“เอสซีจีมุ่งมั่นเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว เริ่มจัดSCG Symposium เชิญทุกภาคส่วนมามีส่วนร่วม เพราะเรื่องเหล่านี้ทำคนเดียวไม่ได้ และจัดต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้ SD Symposium จะนำความสำเร็จของชุมชนมาถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และนำเอากรณีศึกษาต่าง ๆ มาถ่ายทอดให้นำไปทดลองใช้ ลองผิดลองถูก เรียนรู้ร่วมกัน เชื่อว่าทุกภาคส่วนพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการที่จะทำให้การจัดการขยะของประเทศไทย หรือชุมชนต่าง ๆ ได้รับการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อสังคมที่ดี การเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศ” คุณยุทธนากล่าว

ชุมชนหมู่บ้านรางพลับ จ.ราชบุรี เป็นโครงการนำร่องในการขยายผลของเอสซีจี ด้วยการเข้าไปพูดคุยกับชุมชนถึงปัญหาขยะ ก่อนแลกเปลี่ยนแนวทางที่จะเปลี่ยนขยะเป็นความมั่งคั่ง (Waste สู่ Wealth) ที่ชุมชนจัดการได้ด้วยตัวเองและมีส่วนร่วมในโครงการฯ โดยเอสซีจีเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะอินทรีย์ ด้วยการใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ หาได้ในชุมชน ทำให้ขยะอินทรีย์กลายเป็นอาหารสัตว์ หรือปุ๋ยที่ใช้ในชุมชน และส่วนที่เหลือยังนำไปขายเพื่อสร้างรายได้ อีกทั้งชุมชนยังพัฒนาต่อยอดจากการสร้างมูลค่าของเสียให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตลอดจนขยายผลให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะอินทรีย์ชุมชนที่อยู่ในเมืองและต่างจังหวัดอีกด้วย

จากปัญหาสิ่งแวดล้อมลามสู่ปมขัดแย้ง จุดเปลี่ยนเรียนรู้แปลงขยะเป็นเงิน

ด้านผู้ใหญ่สนั่น เตชะดี ผู้ใหญ่บ้านรางพลับ จ.ราชบุรี เล่าว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการขยะคือ นอกจากขยะจะสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังก่อปัญหาการทะเลาะกันในชุมชนด้วย จากความพยายามผลักขยะที่มีกลิ่นไปไว้หน้าบ้านคนอื่น แม้จะมีความพยายามให้แยกขยะและทุกบ้านมีถังรองรับ จึงมองว่าถังขยะเป็นต้นเหตุที่ทำให้ชาวบ้านไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ดังนั้น การจัดการขยะต้องทำตั้งแต่ต้นทาง พยายามให้คนในชุมชนแยกขยะก่อนทิ้ง เพราะขยะมาจากมนุษย์ ต้นทางคือแต่ละบ้าน เมื่อมีถังอยู่พฤติกรรมชาวบ้านไม่เปลี่ยน ตอนแรกมีปัญหาเยอะต้องเด็ดขาดสั่งห้ามคืนถังให้ชาวบ้าน ต้องมีการปรับพฤติกรรมของชุมชน ผมใช้งบส่วนตัวซื้อถุงดำแจกทุกบ้านสำหรับขยะสองสัปดาห์ หลังจากนั้นต้องช่วยตัวเอง โดยชี้ให้เห็นว่าเราเป็นชุมชนด้านเกษตรมีถุงปุ๋ยที่สามารถนำมาเป็นถุงคัดแยกขยะได้

ผู้นำเข้มแข็งปลุกชุมชน-ดึงพันธมิตรร่วมขับเคลื่อน ปัจจัยสู่ความสำเร็จ

หลังจากแยกขยะแล้ว ยังมีปัญหาตามมา เนื่องจากซาเล้งที่เข้ามารับซื้อจะเทรวมให้ราคาไม่จูงใจ ชาวบ้านก็เลิกแยกขยะ จึงต้องปรับกลยุทธ์มองหาตลาดให้กับชาวบ้านที่คัดแยกขยะได้รับราคาที่เหมาะสม ซึ่งมีร้านรับซื้อที่พร้อมจะร่วมด้วย โดยมีการกำหนดจุดนัดหมายและวันเข้ามารับซื้อชัดเจน ด้วยราคาที่จูงใจกลายเป็นการสร้างรายได้ให้ผู้สูงวัยและเด็ก แต่ยังมีปัญหาเรื่องขยะเปียก จึงเข้าไปปรึกษากับโรงงานสยามคราฟท์ของเอสซีจี ให้เข้ามาช่วยชี้นำเรื่ององค์ความรู้ สอนเรื่องการจัดการขยะเปียกให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ จนในที่สุดก็แก้ปัญหาได้ ซึ่งปัจจุบันชุมชนรางพลับกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนปลอดขยะ ของกรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ที่หลายชุมชนเข้ามาศึกษาดูงานในการจัดการขยะ

“ผู้นำมีส่วนสำคัญ ถ้าไม่มีคนขับเคลื่อนตลอดเวลาก็ไม่สำเร็จ เพราะชาวบ้านต้องการผู้นำที่ทำให้เห็นจึงพร้อมจะร่วมด้วย และการมีพันธมิตรรับซื้อขยะที่มีเจตนาร่วมกับชุมชนก็เป็นเรื่องสำคัญ เหตุผลที่หลายชุมชนไปต่อไม่ได้ เนื่องจากประสบปัญหาการรับซื้อให้ราคาไม่จูงใจในการคัดแยก แม้ขณะนี้รายได้จากขยะของชุมชนไม่มากเหมือนในช่วงแรก แต่ก็เป็นการสร้างวัฒนธรรมในการคัดแยกและเก็บขยะในชุมชน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่สำคัญสร้างความสามัคคี ทำให้ชุมชนสะอาด ลดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม” ผู้ใหญ่สนั่น ทิ้งท้าย         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad