ตลาดการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิกไตรมาสสามมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 35% - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ตลาดการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิกไตรมาสสามมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 35%

ตลาดการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิกไตรมาสสามมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 35%

ตลาดการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิกสำหรับไตรมาสสามที่ผ่านมาเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 35% จากไตรมาสสอง แม้จะยังคงต่ำกว่าไตรมาสสามของปีที่แล้ว 19% ทั้งนี้ การซื้อขายส่วนใหญ่เกิดขึ้นในหัวเมืองใหญ่ของภูมิภาค หลังความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปีนี้ สำหรับประเทศไทย คาดว่าปริมาณการลงทุนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ตามการรายงานจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล

ตลาดที่มีมูลค่าการลงทุนซื้อขายสูงสุดในไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุน ซึ่งมีการผ่อนคลายการล็อคดาวน์กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้ กรุงโตเกียวและกรุงโซล ยังติดอันดับเมืองที่มีมูลค่าการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์สูงสุดในโลกในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้

ในขณะเดียวกัน ตลาดที่โดยปกติกมีการลงทุนมูลค่าสูง อาทิ ออสเตรเลีย และฮ่องกง ยังคงมีภาวะซบเซา เช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงรอดูสถานการณ์ในขณะที่มาตรการคุมเข้มการเดินทางระหว่างประเทศ ยังเป็นข้อจำกัดสำหรับการเดินทางของนักลงทุนต่างชาติ

นายสจ๊วต โครว์ ซีอีโอหน่วยธุรกิจบริการด้านการลงทุนภาคพื้นที่เอเชียแปซิฟิก เจแอลแอล กล่าวว่า "ตลาดการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นมากในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งแม้ความไม่แน่นอนจะยังคงดำเนินต่อไป แต่เชื่อว่า ตลาดน่าจะกำลังขยับออกจากจุดต่ำสุด และจะปรับตัวดีขึ้นต่อในไตรมาสสุดท้ายของปี"

เจแอลแอลระบุถึงแนวโน้มสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสามที่ผ่านมาดังนี้

  • อสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรม มีการลงทุนซื้อขายเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยมีมูลค่าปรับเพิ่มขึ้น 76% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กลุ่มโลจิสติกส์ (โกดัง-ศูนย์กระจายสินค้า) และดาต้าเซ็นเตอร์ โดยมูลค่าการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กลุ่มนี้ มีสัดส่วนคิดเป็น 70% และ 31% ของมูลค่าการลงทุนซื้อขายที่เกิดขึ้นทั้งหมดในญี่ปุ่นและจีน ตามลำดับ ส่วนการลงทุนในเอเชียแปซิฟิกสำหรับไตรมาสสามปีนี้เทียบกับไตรมาสสามของปีที่แล้ว อสังหาริมทรัพย์กลุ่มอาคารสำนักงานมีมูลค่าปรับลดลง 35% ศูนย์การค้าลดลง 51% และโรงแรมลดลง 87%
  • นักลงทุนสถาบันเริ่มกลับเข้ามาลงทุนมากขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมา หลังจากชะลอการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกเพื่อรอดูสถานการณ์
  • ต้นทุนเงินทุน (Cost of Capital) ปรับตัวลดลงมากในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ ซึ่งช่วยเพิ่มกำลังการซื้อให้กับนักลงทุน และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดให้นักลงทุนกลับมาลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์

เรจินา ลิม หัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำหน่วยธุรกิจบริการการลงทุนภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของเจแอลแอล กล่าวว่า "นักลงทุนจำนวนมากเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเอเชียแปซิฟิก และให้ความสนใจเป็นพิเศษในการซื้ออสังหาริมทรัพย์กลุ่มโลจิสติกส์และดาต้าเซ็นเตอร์ในเอเชียเหนือ ส่วนในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เชื่อว่า การลงทุนจะกระจายตัวออกไปในส่วนอื่นของภูมิภาคมากขึ้น รวมถึงอสังหาริมทรัพย์กลุ่มอื่นๆ ด้วย"

ไมเคิล แกลนซี หัวหน้ากลุ่มธุรกิจตัวแทนซื้อขายให้เช่าของเจแอลแอลในประเทศไทย กล่าวว่า "เนื่องจากในระหว่างนี้ ผู้ประกอบการและเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในไทยมีการปรับกลยุทธ์เกี่ยวพอร์ตอสังหาริมทรัพย์และแผนลงทุนของตนเอง ทำให้มีโอกาสใหม่ๆ เกิดขึ้นสำหรับนักลงทุน ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากการเริ่มมีเจ้าของโครงการอาคารสำนักงานบางรายพิจารณาการขายโครงการ ซึ่งมีทั้งที่เป็นอาคารเก่า อาคารสร้างเสร็จใหม่ และโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางรายยกเลิกแผนการก่อสร้างโครงการ และนำที่ดินออกมาเสนอขาย ดังนั้น จากภาวะการอั้นตัวของความต้องการของนักลงทุนในช่วงที่ผ่านมา และการมีโอกาสการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่า ใน 12 เดือนข้างหน้า จะมีการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยให้เห็นมากขึ้น"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad