เลขาธิการ ACT ระบุ แก้รัฐธรรมนูญใหม่ต้องไม่ลด ทอนเรื่องต่อต้านคอร์รัปชัน และ มุ่งเน้นส่วนรวม - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เลขาธิการ ACT ระบุ แก้รัฐธรรมนูญใหม่ต้องไม่ลด ทอนเรื่องต่อต้านคอร์รัปชัน และ มุ่งเน้นส่วนรวม



เลขาธิการ ACT ระบุ แก้รัฐธรรมนูญใหม่ต้องไม่ลด

 ทอนเรื่องต่อต้านคอร์รัปชัน และ มุ่งเน้นส่วนรวม

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ย้ำแก้รัฐธรรมนูญใหม่ต้องไม่ลดทอนมาตรการต่อต้านคอร์รัปชัน และควรเน้นเพื่อส่วนรวม โดยไม่เกรงใจใคร พร้อมระบุ คอร์รัปชันอาจเกิดขึ้นตลอดเวลาในทุกองค์กรของรัฐ ทั้งที่มีผลประโยชน์และอำนาจมากหรือน้อย

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563  ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT โพสต์เฟซบุ๊ก Mana Nimitmongkol ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560  โดยมีข้อความระบุ ดังนี้

“คดีบอสกระทิงแดงและกรณีตบทรัพย์กลางสภา เป็นเรื่องยืนยันว่า ‘คอร์รัปชันอาจเกิดขึ้นตลอดเวลาในทุกองค์กรของรัฐ ไม่ว่าที่นั่นจะมีผลประโยชน์และอำนาจมากหรือน้อย’ ประชาชนจึงไม่สามารถไว้วางใจได้ตราบใดที่ภาครัฐยังขาดความโปร่งใส ไร้การตรวจสอบถ่วงดุล รวมทั้งขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่และส่วนรวม รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดจึงต้องบัญญัติมาตรการต้านคอร์รัปชันให้ชัดเจน เพื่อเป็นหลักประกันว่าเราจะมีสังคมที่โปร่งใสเป็นธรรม ไม่ว่าเศรษฐกิจและการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร  

ทำไมคอร์รัปชันไม่ลดลง?

ผ่านมาสามปีเศษ คอร์รัปชันไม่ได้ลดลงตามที่คนไทยคาดหวัง แม้รัฐธรรมนูญฯ 2560 ได้พัฒนามาตรการป้องกันและลงโทษที่เรียกว่า ‘ลงดาบปราบโกง’ ขึ้นจำนวนมาก (ดูข้อมูล https://bit.ly/3iNKKCI) แต่พบว่า

หลายเรื่องไม่มีผลในทางปฏิบัติ กฎหมายและนโยบายเป็นแค่ผ้ายันต์กันคนฉ้อฉล บ่อยครั้งที่กลุ่มคนมีอำนาจในแต่ละองค์กรขาดความตั้งใจจริง จงใจใช้ช่องโหว่ ตีความหลบเลี่ยง ดึงเรื่องให้ช้า ปากว่าตาขยิบ

หลายเรื่องที่ขาดคนรับผิดชอบผลักดันให้เข้มข้นรวดเร็ว เช่น การจัดซื้อจัดจ้างที่เปิดเผยตรงไปตรงมา การปฏิรูปตำรวจ การปราบข้าราชการรีดไถประชาชนหรือคนค้าขายที่ไปติดต่อ เป็นต้น

หลายเรื่องไม่เป็นดั่งที่ประชาชนอยากเห็น เช่น หลักประกันความปลอดภัยสำหรับประชาชนและข้าราชการที่เปิดโปงคนโกง การทำงานอย่างเปิดเผยให้สังคมตรวจสอบได้จริง องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระและมีผลงาน การลงโทษคนโกงอย่างรุนแรง รวดเร็ว เท่าเทียมกัน เป็นต้น

เพื่อบ้านเมือง อย่าเกรงใจใคร..

ดังนั้นหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้องใช้โอกาสนี้พัฒนามาตรการต่อต้านคอร์รัปชันให้เชื่อมโยงเป็นระบบที่เข้มแข็งครอบคลุมยิ่งขึ้น หรืออย่างน้อยต้องไม่ลดทอนให้อ่อนด้อยกว่าที่เป็นอยู่ แล้วเร่งบอกกล่าวประชาชนให้เข้าใจรายละเอียดและมีส่วนร่วมตรวจสอบตั้งแต่ต้น เพื่อให้คนโกงยำเกรง คนคิดดีทำดีมีเกราะกำบังและเกิดกำลังใจที่จะทำงานสร้างบ้านเมืองให้พัฒนาอย่างเป็นธรรม”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 มี 279 มาตรา ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 53 มาตรา ที่บัญญัติเกี่ยวกับธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยสามารถจัดกลุ่มตามวัตถุประสงค์ได้ดังนี้

1.         ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชัน เน้นเรื่องสิทธิของประชาชนในการฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ (มาตรา 41) สิทธิเข้าถึงข้อมูลของรัฐและให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเปิดเผยข้อมูล รัฐต้องสนับสนุนและปกป้องประชาชน (มาตรา 63) โดยเฉพาะ ป.ป.ช. ป.ป.ท. ต้องวางแนวปฏิบัติให้ชัดเจนพร้อมมีกองทุนขนาดใหญ่มารองรับ

2.         วางมาตรการลดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการเรียกรับสินบนเน้นเรื่องการยกเลิกและทบทวนกฎหมายที่ล้าสมัย (มาตรา 77) ใช้เทคโนโลยีในการบริการประชาชน การแต่งตั้งโยกย้ายหรือใช้อำนาจใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ต้องยึดหลักคุณธรรมจริยธรรม (มาตรา 78)

3.          สร้างการเมืองใสสะอาดห้ามคนโกงเป็นนักการเมือง (มาตรา 98) ต้องมีแผนปฏิรูปการเมืองชัดเจน (มาตรา 258) มีกลไกป้องกันและลงโทษนักการเมืองที่โยกงบประมาณฯ โดยมิชอบ (มาตรา 144) กำกับการใช้เงินหลวงด้วยวินัยการเงินการคลังที่เข้มงวดขึ้น กำหนดหน้าที่นักการเมืองว่ามีตำแหน่งแล้วต้องทำอะไรต้องรับผิดชอบอย่างไร รวมถึงกำหนดมาตรฐานจริยธรรมขั้นสูงกว่าเจ้าหน้าที่รัฐทั่วไป

4.         สร้างความเข้มแข็งและบูรณาการระบบยุติธรรมกำหนดให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปตำรวจ (มาตรา 258) เพื่อสร้างศรัทธาความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ยกระดับสำนักงานอัยการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

5.         สร้างสภาพแวดล้อมในสังคมที่เอื้ออำนวยโดยมีหลายมาตรการที่ทำให้ปัจจัยที่ก่อให้เกิดคอร์รัปชันลดลง สังคมเป็นธรรมมากขึ้น คนโกงโกงยากขึ้น โกงแล้วโอกาสถูกจับลงโทษมีมากทั้งในวันนี้และอนาคต เช่น การปกป้องเสรีภาพสื่อมวลชน (มาตรา 35) รัฐต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันคอร์รัปชันที่เหมาะสมเพียงพอ (มาตรา 63) เร่งเพิ่มความโปร่งใสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การทำงานเชื่อมโยงกันมากขึ้นขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad