PS Support ช่วยสร้างเสถียรภาพราคาไข่ หวังคนกินอยู่ได้ คนเลี้ยงอยู่รอด - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

PS Support ช่วยสร้างเสถียรภาพราคาไข่ หวังคนกินอยู่ได้ คนเลี้ยงอยู่รอด


 PS Support ช่วยสร้างเสถียรภาพราคาไข่ หวังคนกินอยู่ได้ คนเลี้ยงอยู่รอด


ภาวะราคาไข่ไก่ที่ยืนราคาไปในทิศทางแข็งตัวในช่วงนี้ บางคนอาจมองว่าเป็นผลบวกกับเกษตรกรผู้เลี้ยง แต่แท้จริงแล้ว ราคาไข่คละที่ขายหน้าฟาร์มได้ฟองละ 2.90 บาทนี้ เป็นเพียงรายได้ที่เกษตรกรนำมาจุนเจือครอบครัว และแค่พอประคองอาชีพ หลังจากที่ต้องทนรับภาระขาดทุนมาตลอด k

ราคาขายจริงที่เกษตรกรได้รับเคยต่ำเพียง 2.20-2.30 บาท เมื่อตอนที่รัฐบาลห้ามการส่งออกไข่ไก่เมื่อช่วงต้นปี เพียงเพราะปัญหาดีมานด์เทียมคนแห่ซื้อไข่กักตุนจากความตระหนกของผู้บริโภค ในตอนที่ไทยประสบกับวิกฤตโควิดช่วงแรกๆ แต่การไม่ให้ส่งออกไข่ไปขายต่างประเทศทำให้เกิดภาวะหยุดชะงัก ไข่ไก่เกิดล้นตลาด ขณะนั้นมีไข่ไก่ส่วนเกินมากกว่า 3 ล้านฟองต่อวัน ราคาไข่จึงดิ่งลงจนเกินเยียวยา เกษตรกรจำต้องขายขาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อพิจารณาจากต้นทุนการผลิตเฉลี่ยทั้งปีของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่ฟองละ 2.58 บาท เทียบกับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเฉลี่ยทั้งปีที่ฟองละ 2.65 บาท จะเห็นว่าเกษตรกรมีกำไรเพียง 0.07 บาทต่อฟอง เท่านั้น เรียกว่าแทบไม่พอชดเชยภาวะขาดทุนในช่วงก่อนหน้านี้เลยด้วยซ้ำ 

เป็นที่มาของมาตรการต่างๆที่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรผู้เลี้ยง ร่วมกันเร่งดำเนินการเพื่อสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ผ่านมาตรการควบคุมปริมาณไก่เพื่อรักษาปริมาณไข่ไก่ไม่ให้ล้นตลาด โดยบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่การผลิตทั้งประเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำ ทั้งความเหมาะสมของปริมาณพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ช่วงกลางน้ำด้วยการกำหนดอายุปลดไก่ และเร่งปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรง 3 ล้านตัว เพื่อลดปริมาณไข่ไก่ ให้เข้าสู่สมดุลกับการบริโภคในประเทศ 

รวมถึงการส่งออกไข่ไก่ส่วนเกินตามแผนปฏิบัติการ “PS Support” ที่เป็นการรวมพลังของภาคผู้ผผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (Parent Stock : PS) จำนวน 16 ราย ที่เร่งผลักดันการส่งออกไข่ไก่ที่เกินกว่าความต้องการบริโภคในประเทศ ออกไปยังตลาดต่างประเทศให้ได้ 200 ล้านฟอง ตามที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อระบายผลผลิตไข่ ช่วยพยุงเกษตรกรรายย่อย ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาตกต่ำ

ส่วนช่วงปลายน้ำ ยังคงเดินหน้าโครงการรณรงค์บริโภคไข่ไก่ 300 ฟอง ที่ภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เกษตรกร สถาบันการศึกษา และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมผลิตไข่ไก่ ร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภค เพื่อกระตุ้นให้คนไทยตื่นตัว มีความเข้าใจเกี่ยวกับคุณค่าทางอาหารของไข่อย่างถูกต้องและมีการบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้นสู่เป้าหมาย 300 ฟองต่อคนต่อปี  

ความพยายามในการสร้างสมดุลปริมาณไข่ไก่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ที่ทุกภาคส่วนพยายามดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไข่ไก่ยืนราคาดังเช่นปัจจุบันนี้ จึงช่วยให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเดินหน้าอาชีพเดียวของพวกเขาต่อ ไม่ให้ต้องล้มหาย จากการที่ไม่สามารถแบกรับหนี้สินจากภาวะขาดทุนได้ เพราะสุดท้ายหากไม่มีเกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่ คนที่ต้องได้รับผลกระทบแน่นอนคือผู้บริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเลี้ยงไก่ไม่อยากให้เกิดขึ้น

ส่วนคำถามที่ว่าเหตุไฉนไข่ไก่เมื่อถึงมือผู้บริโภคแล้วราคาจึงไม่ใช่ฟองละ 2.90 บาท อย่างที่ขายกันหน้าฟาร์มเกษตรกร นั่นเพราะวงจรการค้าไข่ที่มีห่วงโซ่ยาว นับตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงไก่ ไปถึงผู้รวบรรวมไข่ หรือที่เรียกว่าล้งไข่ ต่อไปที่ยี่ปั่ว ซาปั่ว ผู้ค้าปลีก จนถึงตลาดสดและร้านขายของชำตามหมู่บ้าน จะเห็นว่ามีกระบวนการและคนกลางหลายขั้นตอน ที่แต่ละจุดต่างมีค่าดำเนินการกลายเป็นต้นทุนการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และยิ่งเห็นได้ชัดว่า เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์อะไรกับราคาขายไข่ในท้องตลาด คนเลี้ยงไก่จึงเป็นอาชีพที่น่าเห็นใจ ที่ไม่เพียงต้องแบกภาระขาดทุน แต่ยังถูกเข้าใจผิดในเรื่องนี้ทุกครั้งเมื่อราคาไข่ขยับตัว ทั้งๆที่ราคานั้นเป็นไปตามกลไกตลาด จากความต้องการซื้อและปริมาณผลผลิตที่ไม่สมดุลกัน 

วันนี้นอกจากความเข้าใจจากสังคม จะเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการแล้ว การหันมาบริโภคไข่ไก่มากขึ้นยังเป็นอีกหนทางที่จะช่วยต่อลมหายใจให้กับเกษตรกรได้ด้วย./

เขียนโดย สังวาลย์ สยาม นักวิชาการอิสระ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad