ในหลวง ร.10 โปรดเกล้าฯ ให้เยาวชนรับพระราชทานเหรียญรางวัลเรียนดี ปี 2563 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564

ในหลวง ร.10 โปรดเกล้าฯ ให้เยาวชนรับพระราชทานเหรียญรางวัลเรียนดี ปี 2563

 


ในหลวง ร.10 โปรดเกล้าฯ ให้เยาวชนรับพระราชทานเหรียญรางวัลเรียนดี ปี 2563

           

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายเกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ออกรับคณะกรรมการอำนวยการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท. และคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษาและวิจัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดย รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ นำ 44 เยาวชนนิสิตนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ ที่มีผลการเรียนดีจากทั่วประเทศ เข้ารับพระราชทานเหรียญรางวัลเรียนดี และนักวิชาการผู้ได้รับรางวัลการประกวดตำราดีเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์ ประจำปี 2563 รับโล่ประกาศเกียรติคุณ  ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง



 

            ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า วิศวกรรมเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนประเทศให้เจริญก้าวหน้า พัฒนาสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดระยะเวลากว่า 77 ปี ที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพและเสาหลักทางด้านวิศวกรรมที่มีเครือข่ายใหญ่สุดของประเทศไทย มีภารกิจพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ จัดฝึกอบรม จัดทำมาตรฐานวิชาชีพทางด้านวิศวกรรมของประเทศ ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือสังคมทั้งในยามปกติสุขและวิกฤติฉุกเฉิน วสท.ได้ก่อตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาและวิจัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มาเป็นเวลา 41 ปี  โดยดำเนินงานสร้างประโยชน์ต่อการศึกษาของเยาวชนและการวิจัย ตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร   ในปี 2563 นี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้นำนิสิตนักศึกษาเรียนดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 44 คน ซึ่งเป็นผู้ประพฤติดี เรียนดี ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ และนักวิชาการผู้ได้รับรางวัลการประกวดตำราดีเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ รศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าเฝ้าฯ รับโล่พระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 10

 

            มาคุยกับบางส่วนของ 44 เยาวชนนักศึกษา ผู้รับเหรียญพระราชทานรางวัลเรียนดี


 

            ชนิกานต์ แก้วทอง สาวน้อยจากหาดใหญ่หัวใจไอที วัย 24 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติแก่ชีวิตและครอบครัวที่ได้รับรางวัลพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยเฉพาะคุณปู่ที่ภาคภูมิใจเป็นพิเศษ ท่านบอกว่าสะท้อนให้เห็นถึงความพยายาม ตั้งใจทุ่มเทในการเรียน และการจัดสรรเวลา ส่วนเคล็ดลับเทคนิคในการเรียนดี คือ ตั้งใจเรียนสม่ำเสมอ ไม่เข้าใจต้องถาม ทำคะแนนเก็บและส่งงานให้ครบ ในเวลาว่างจะรับงานสอนพิเศษวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ให้นักเรียนชั้นมัธยมด้วยค่ะ เป็นการสร้างเสริมประสบการณ์และแบ่งปันความรู้ นอกจากนี้ ยังต้องเสริมคุณภาพชีวิตวัยเรียนด้วย เช่น ทำอาหารทานเอง เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ในปีที่ 4 ของชีวิตในมหาวิทยาลัยเลือกฝึกงานที่บริษัทเอกชน ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล (Aimagin Analytic) และฮาร์ดแวร์ระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) ซึ่งเราได้มีส่วนร่วมในการออกแบบปรับปรุงหน้าตาของซอฟต์แวร์ให้ดูสวยงาม ใช้งานง่าย และมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ในอนาคตอยากจะศึกษาต่อระดับปริญญาโทควบคู่กับทำงานด้านไอทีค่ะ ส่วนตัวแล้วสนใจทางด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และ Machine Learning สำหรับทำสมาร์ทฟาร์ม เพราะจะช่วยเสริมความก้าวหน้าเข้มแข็งให้กับเกษตรกรรมบ้านเรา โดยช่วยวิเคราะห์และพยากรณ์ข้อมูลทางการเกษตร ลดความเสียหาย ลดการใช้สารเคมี เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตและผลกำไรมากขึ้นค่ะ

 


 

            ปณิดา เซ็น (ไกว่ไกว๊) สาวน้อยวัย 21 ปี  นักศึกษาปีที่ 4คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปลื้มปิติอย่างยิ่งที่ได้เป็นตัวแทนคณะวิศวะมหิดลเข้ารับเหรียญรางวัลพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 10  ทำให้มีกำลังใจและมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ทำสิ่งดีๆ เพื่อตอบแทนสังคมประเทศต่อไป ดังแนวทางของพระองค์ที่ส่งเสริมจิตอาสา ส่วนเคล็ดลับการเรียนที่ดี คือ เรียนด้วยความอยากเรียนรู้ สิ่งสำคัญต้องมีความสุข ให้ความสำคัญกับการเรียนเป็นอันดับแรก แต่ก็ต้องไม่เครียดจนเกินไป จัดเวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ และเข้าสังคมด้วยจะทำให้เรามีทักษะชีวิตที่รอบด้าน  ปัจจุบันทำวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมอุปกรณ์ถนอมหัวใจขณะรอการปลูกถ่าย (Perfusion Machine) ร่วมกับทีมวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.มหิดล ซึ่งเป็นเครื่องเก็บรักษาหัวใจที่ดีกว่าการเก็บรักษาด้วยน้ำแข็ง ทำให้สามารถเก็บรักษาหัวใจได้นานขึ้น จากเดิม 4 ชั่วโมงเป็น 12 ชั่วโมง  ในฐานะคนรุ่นใหม่อยากเห็นทั้งประเทศเติบโตก้าวเดินไปพร้อมกัน ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียวค่ะ ในอนาคตไกว่ไกว๊ฝันอยากจะเปิดบริษัทเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เพื่อผลิตนวัตกรรมช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ลดปัญหาขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ตามโรงพยาบาลชุมชนในต่างจังหวัด ซึ่งต้องส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลใหญ่ เกิดความแออัดและเสียโอกาสในการรักษา นอกจากนี้จะช่วยลดการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ซึ่งมีราคาแพง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง อุปกรณ์การแพทย์ของไทยต้องส่งออกไปตรวจสอบและขอการรับรองมาตรฐานจากต่างประเทศก่อน ทำให้ยากที่จะแข่งขันกับผู้นำตลาดได้ คิดว่าหากเราสนับสนุนทางด้านมาตรฐานรับรองสากลภายในประเทศ จะทำให้อุปกรณ์การแพทย์มีราคาลดลง ยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสาธารณสุขของคนไทยให้ดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad