นโยบายไบเดน 100 วันแรก ไทยได้หรือเสีย - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2564

นโยบายไบเดน 100 วันแรก ไทยได้หรือเสีย

img

นโยบายไบเดน 100 วันแรก ไทยได้หรือเสีย

นายโจ ไบเดน” เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการไปแล้ว และประกาศชัดในช่วง 100 วันแรก จะมีแผนบริหารงานมุ่งแก้วิกฤตใน 4 ประเด็นหลัก
         
4 ประเด็นที่ว่า ได้แก่ 1.แก้วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 2.แก้วิกฤตเศรษฐกิจ 3.แก้วิกฤตสิ่งแวดล้อม และแก้วิกฤตด้านความเท่าเทียมทางชาติพันธุ์
          

ทั้งนี้ ในช่วง 10 วันแรก คาดว่า จะออกคำสั่งประธานาธิบดีอีกเป็นจำนวนมาก เพราะแค่ 2 วัน ก็ลงนามในคำสั่งพิเศษไปแล้วมากกว่า 20 ฉบับ เน้นการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 , ยุติการถอนตัวจาก WTO , กลับเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส , ยกเลิกการปิดกั้นผู้อพยพจากประเทศมุสลิม , เร่งเยียวยาเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนแนวทาง “Buy American”
         
ส่วนใหญ่เป็นการยกเลิกนโยบายของ “นายโดนัลด์ ทรัมป์” มีเป้าหมาย เพื่อแก้ไขความเสียหายร้ายแรงในปัจจุบัน ควบคู่กับการขับเคลื่อนสหรัฐฯ ไปข้างหน้าอย่างเร่งด่วน
         
ด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าไทย น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินว่า มาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว โดยล่าสุด (ม.ค.2564) ธนาคารโลกประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2564 จะขยายตัว 3.5%
         
ผลที่จะเกิดขึ้น จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อขาวอเมริกัน ทำให้สหรัฐฯ ซื้อสินค้ามากขึ้น รวมถึงการซื้อจากไทย
         
ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ในปี 2563 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9.55% แม้จะมีวิกฤตโควิด-19 แต่ไทยก็ยังส่งออกได้ดี
         
สินค้าหลักๆ ที่ไทยส่งออก เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด
         
ในปี 2564 คาดว่า ไทยจะยังส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ป้องกันโรค เช่น ถุงมือยาง สินค้าอาหารทุกประเภท และสินค้าที่เป็นกลุ่มสนับสนุนการทำงานที่บ้าน เช่น คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน สินค้าไลฟ์สไตล์เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้านและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
         
อย่างไรก็ตาม แนวทาง “Buy American” ที่กำหนดให้ภาครัฐเพิ่มการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สินค้าเหล็ก อลูมิเนียม และวัตถุดิบสำคัญ อาจสร้างแรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวจากไทยไปยังสหรัฐฯ ได้
         
โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงอันดับแรก คือ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เพราะสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่า 1,011 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วน 20.81% ของการส่งออกทั้งหมดในปี 2563 และอลูมิเนียม อยู่ที่อันดับ 2 มูลค่า 190.84 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วน 11.23% ของการส่งออกทั้งหมด
         
นอกจากนี้ การกลับเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะกระทบต่อการส่งออกรถยนต์สันดาปภายในของไทย ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นอันดับ 6 มีมูลค่า 215.69 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 5.88% ของการส่งออกทั้งหมด แต่ถ้ารวมรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ก็ยังคงเป็นอันดับ 6 มีมูลค่า 1,039.24 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีสัดส่วน 4.89% ของการส่งออกรวม
         
ถือเป็นความท้าทาย ที่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัว และตื่นตัวกับแนวโน้มรักษ์โลก และพลังงานสะอาด
     
ขณะเดียวกัน การที่สหรัฐฯ ยึดกฎกติกาสากลและกลไกพหุภาคีมากขึ้น จะช่วยลดความผันผวนหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่อเศรษฐกิจการค้าโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าไทย

ส่วนนโยบายการสร้างความร่วมมือและพันธมิตรทางการค้า จะเปิดโอกาสการเจรจาให้ไทยขยายการค้าเพิ่มเติมกับสหรัฐฯ และคู่ค้าอื่นๆ ที่มีศักยภาพ

สำหรับสิ่งที่ไทยต้องเตรียมพร้อมและต้องระวัง คือ ประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชนและแรงงาน รวมถึงการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

เช่นเดียวกับมาตรการอื่นๆ ที่สหรัฐฯ ใช้ติดตามพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการติดตามนโยบายค่าเงินของประเทศคู่ค้า การบิดเบือนค่าเงิน ซึ่งอาจใช้เป็นเหตุผลในการออกมาตรการอื่นๆ เช่น มาตรการภายใต้มาตรา 301 และการขึ้นภาษีตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ต่อประเทศคู่ค้าที่แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนให้ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงได้

ทางด้านการรับมือของไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้ติดตามความเคลื่อนไหวของนโยบาย และทำงานร่วมกับภาคเอกชนผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) อย่างใกล้ชิด
         
เป็นความท้าทาย ไม่ใช่แค่ 100 วันแรก เพราะไทยจะต้องอยู่กับประธานาธิบดีที่ชื่อ “ไบเดน” ไปอีก 4 ปี จึงต้องตื่นตัว เตรียมรับมือประเด็นที่ไม่คาดฝัน โดยมีเป้าหมายให้ไทย “ได้มากกว่าเสีย” ในฐานะที่ตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดที่สำคัญตลาดหนึ่งของไทย
 
ซีเอ็นเอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad