รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2563 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2564

รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2563

 


รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2563

“เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2563 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงปลายปี”

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2563 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงปลายปี” โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ –6.5 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวร้อยละ 8.7 จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ –7.2 ต่อปี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.4 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 50.9 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงปลายปี ประกอบด้วย โครงการ“คนละครึ่ง” โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนการบริโภคให้ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น โดยในเดือนพฤศจิกายน 2563 รายได้เกษตรกร
ที่แท้จริง ขยายตัวร้อยละ 13.6 ต่อปี ส่งผลให้กำลังซื้อในภูมิภาคต่าง ๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ยังคงชะลอตัว

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 8.2 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ –3.2 ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 10.8 จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวชะลอลงจากช่วงเดียวกัน
ปีก่อนที่ร้อยละ –1.5 ต่อปี อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงร้อยละ -11.4 ต่อปี

เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -3.7 ต่อปี จากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าอาหาร เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ขยายตัวร้อยละ 23.6 และ 14.0 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการส่งออกผักและผลไม้ สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวต่อเนื่อง 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เป็นต้น และ 3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ รวมถึงถุงมือยาง ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การส่งออกน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อัญมณีและเครื่องประดับ และคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบยังชะลอตัว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยเกือบทุกตลาดปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ร้อยละ 15.4 ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 23.7 และ 5.4 ต่อปี ตามลำดับ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 87.4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากคำสั่งซื้อ ยอดขาย และการผลิตที่ปรับดีขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยตลาดในประเทศได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างต่อเนื่องในโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการ“คนละครึ่ง” โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ทำให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศมากขึ้น ขณะที่ตลาดต่างประเทศมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอาหาร สินค้าที่เกี่ยวกับการแพทย์ และกลุ่มสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ อาทิ รองเท้า เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น สำหรับภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง เป็นต้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.4 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 49.5 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 253.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad