กขค.โชว์ผลงานปี 63 คลอดไกด์ไลน์รับซื้อผลไม้-ฟู้ด เดลิเวอรี่ ไฟเขียวซีพีรวมโลตัส - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2564

กขค.โชว์ผลงานปี 63 คลอดไกด์ไลน์รับซื้อผลไม้-ฟู้ด เดลิเวอรี่ ไฟเขียวซีพีรวมโลตัส

img

กขค.โชว์ผลงานปี 63 คลอดไกด์ไลน์รับซื้อผลไม้-ฟู้ด เดลิเวอรี่ ไฟเขียวซีพีรวมโลตั

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) โชว์ผลงานปี 63 คลอดไกด์ไลน์ได้ 2 ฉบับ ธุรกิจรับซื้อผลไม้ และฟู้ด เดลิเวอรี่ ส่วนการป้องกันการผูกขาด รับพิจารณาเรื่องร้องเรียน 41 เรื่อง สั่งปรับทางปกครอง 3 ราย ยุติ 20 เรื่อง เหลือ 18 เรื่องถกต่อปีนี้ พร้อมไฟเขียวควบรวมธุรกิจ 3 ราย ซีพีควบโลตัส ชิ้นส่วนรถยนต์ และตลาดรถบรรทุก เผยปี 64 เตรียมคลอดไลด์ไลน์สินเชื่อการค้าเร็วๆ นี้

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยถึงผลการทำงานในปี 2563 ที่ผ่ามา ว่า กขค. ได้จัดทำแนวปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรมหรือเรียกสั้นๆ ว่า ไกด์ไลน์ เพื่อเป็นการป้องปรามและสร้างมาตรฐานทางการค้าให้มีธรรมาภิบาล โดยได้จัดทำไกด์ไลน์จนสำเร็จและมีผลบังคับใช้แล้ว 2 ฉบับ ได้แก่ ไกด์ไลน์ธุรกิจการรับซื้อผลไม้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งมีอำนาจต่อรองน้อยกว่า ให้สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม และไกด์ไลน์ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับและส่งอาหารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร หรือไกด์ไลน์ ฟู้ด เดลิเวอรี่ เพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการร้านอาหารที่เข้าร่วมกับแพลตฟอร์มรับ-ส่งอาหารดังกล่าวให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น

ส่วนงานด้านการกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจำนวนมากถึง 41 เรื่อง เป็นเรื่องที่คงค้างจากปี 2561 จำนวน 4 เรื่อง และคงค้างจากปี 2562 จำนวน 8 เรื่อง พิจารณาเสร็จแล้ว 23 เรื่อง ซึ่ง กขค. พิจารณาว่ามีความผิดและลงโทษปรับทางปกครองจำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ กรณีผู้ประกอบธุรกิจศูนย์การค้ากีดกันการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรณีบริษัทธุรกิจท่าข้ามกำหนดเงื่อนไขอันส่งผลเสียหายกับบริษัทขนถ่ายสินค้า และกรณีบริษัทผู้ประกอบการธุรกิจจำหน่ายรถแทรกเตอร์มีพฤติกรรมกทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้แทนจำหน่าย ส่วนที่เหลือได้ส่งให้อัยการยุติเรื่อง 20 เรื่อง และสอบสวนเพิ่มเติม 18 เรื่อง ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในปี 2564 ทั้งประเภทธุรกิจที่มีการร้องเรียนมากที่สุด 2 อันดับ ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจขนส่งพัสดุ ตามด้วยธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และธุรกิจการเกษตร

นอกจากนี้ กขค. ยังได้มีการพิจารณาการควบรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจาก กขค. ก่อน โดยได้อนุญาตให้มีการรวมธุรกิจจำนวน 3 ราย ได้แก่ 1.การรวมธุรกิจตลาดค้าปลีกกลุ่มบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ กับบริษัท เทสโก้สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด โดย กขค. เสียงข้างมากอนุญาตแบบมีเงื่อนไข และอีก 2 ราย เป็นควบรวมธุรกิจแบบไม่มีเงื่อนไข ได้แก่ ธุรกิจตลาดผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และธุรกิจตลาดรถบรรทุกขนาดใหญ่และขนาดกลาง

สำหรับความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กขค. ได้เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในประเทศมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กสทช. ด้านการกำกับดูแลแข่งขันทางการค้าในธุรกิจเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และยังจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการแข่งขันทางการค้ากับสถาบันการศึกษา 13 แห่ง เพื่อสร้างความร่วมมือในการศึกษาและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าให้เยาวชนรุ่นใหม่มีพื้นฐานความรู้เรื่องกฎหมายแข่งขันทางการค้า

ด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ ได้จัดทำโครงการความร่วมมือด้านนโยบายและกฎหมายการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น โครงการความร่วมมือระหว่างโออีซีดี และอาเซียน ด้านการประเมินการแข่งขันทางการค้า โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร มีวัตถุประสงค์เพื่อการปฏิรูปกฎระเบียบและนโยบายด้านโลจิสติกส์ให้ส่งเสริมการแข่งขัน โครงการความร่วมมือทางเทคนิคกับมูลนิธิเอเชีย และองค์กรกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าออสเตรเลีย เพื่อให้การช่วยเหลือด้านเทคนิคในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าและจัดทำตัวชี้วัดการแข่งขันทางการค้าระดับจังหวัด

นายสันติชัยกล่าวว่า ในปี 2564 กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบธุรกิจให้มีสภาพคล่องในการหมุนเวียนกระแสเงินสด (Cash Flow) และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้รับมอบหมายจากศูนย์บริการสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560

ทั้งนี้ ล่าสุดคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดมาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อ (Credit Term) สำหรับธุรกิจ SMEs ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งคาดว่าร่างดังกล่าวจะนำเสนอให้ กขค. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเปิดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความเห็นต่อร่าง (Public Hearing) ผ่านช่องทางต่างๆ ภายในเดือนก.พ.2564 และหลังจากนั้นจะได้มีการประกาศใช้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad