ยูเค-อียู ปิดดีลข้อตกลงการค้าทันเวลา ภาคธุรกิจยิ้ม! ทิศทางการค้าชัดเจน ไทยพร้อมเดินหน้าสานสัมพันธ์การค้ายูเค - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564

ยูเค-อียู ปิดดีลข้อตกลงการค้าทันเวลา ภาคธุรกิจยิ้ม! ทิศทางการค้าชัดเจน ไทยพร้อมเดินหน้าสานสัมพันธ์การค้ายูเค

ยูเค-อียู ปิดดีลข้อตกลงการค้าทันเวลา ภาคธุรกิจยิ้ม! ทิศทางการค้าชัดเจน ไทยพร้อมเดินหน้าสานสัมพันธ์การค้ายูเค หลังคุยโควตาสินค้าเกษตรจบแล้ว

กรมเจรจาฯ ชี้ ยูเค-อียู สรุปความตกลงทางการค้าได้ทันเวลา คลายความกังวลของภาคธุรกิจและเพิ่มความแน่นอนของทิศทางการค้า เผย ยูเคตั้งเป้าเป็นประเทศการค้า เล็งทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ ด้านไทยเตรียมพร้อม คุยจัดสรรโควตาสินค้าเกษตรกับยูเคแล้ว ตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้าระดับรัฐมนตรีสองฝ่าย ปูทางทำเอฟทีเอ

วันที่ 29 ธันวาคม 2563 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 สหราชอาณาจักร (ยูเค) และสหภาพยุโรป (อียู) สามารถสรุปความตกลงทางการค้ากันได้ ก่อนยูเคจะออกจากการเป็นสมาชิกอียู (เบร็กซิท) อย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยจะทำให้ยูเคต้องออกจากสหภาพศุลกากรและระบบตลาดเดียวของอียู แลกกับการได้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนในเรื่องสำคัญคืนมา

ทั้งในเรื่อง การเคลื่อนย้ายสินค้าและคน สิทธิในการทำประมงในน่านน้ำ การไม่ตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลยุติธรรมของยุโรป เป็นต้น ซึ่งถือเป็นข่าวดีของภาคธุรกิจ ที่จะคลายความกังวลและเพิ่มความแน่นอนของทิศทางและความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างยูเคและอียู

โดยจากการติดตามข้อมูลในเบื้องต้น ทราบว่าความตกลงทางการค้าฉบับนี้จะมีระดับการเปิดตลาดและการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันที่มากกว่าความตกลงที่อียูมีกับประเทศอื่น โดยจะครอบคลุมทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ นโยบายแข่งขัน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม แรงงาน และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ส่วนของการค้าสินค้า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะไม่เก็บภาษีศุลกากรหรือกำหนดโควตาสินค้าระหว่างกัน มีกฎระเบียบว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่สนับสนุนความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตระหว่างกันที่ใกล้ชิด รวมทั้งมีการรับรองและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการที่ผ่านมาตรฐานเออีโอ (Authorized Economic Operator: AEO) เพื่อลดขั้นตอนการตรวจสอบด้านความปลอดภัยและความมั่นคง

สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเปิดตลาดเพิ่มเติม อาทิ สาขาบริการโทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ และการศึกษา นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน ความมั่นคง และการขนส่ง ทั้งนี้ ในประเด็นที่เคยติดขัด เช่น ประมง ให้มีระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีครึ่ง เรือประมงของอียูยังคงจับสัตว์น้ำได้ในน่านน้ำของยูเคได้ แต่ในปริมาณที่ลดลงจากเดิม

ส่วนเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม มีกลไกให้สามารถเรียกเก็บภาษีตอบโต้ได้ หากอีกฝ่ายให้การอุดหนุนการผลิตที่กระทบต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งในขั้นต่อไป ทั้งสองฝ่ายจะต้องดำเนินกระบวนการภายในเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบ เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ได้ต่อเนื่องหลังจากเบร็กซิท

ทั้งนี้ หลังจากยูเคออกจากอียูโดยสมบูรณ์ ยูเคจะสามารถกำหนดนโยบายการค้าของตัวเองได้ และได้ตั้งเป้าจะเป็นประเทศการค้า (trading nation) โดยมุ่งจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของมูลค่าการค้าระหว่างยูเคกับโลก โดยปัจจุบันยูเคสามารถสรุปผลการจัดทำเอฟทีเอกับหลายประเทศได้แล้ว อาทิ เวียดนาม สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น

สำหรับนโยบายการค้ากับประเทศที่ยูเคยังไม่มีเอฟทีเอด้วย ได้กำหนดอัตราภาษีศุลกากรใหม่ที่จะเริ่มใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2564 โดยจะยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้านำเข้ากว่า 48% ของรายการสินค้าทั้งหมดทันที ซึ่งสามารถตรวจสอบอัตราภาษีศุลกากรที่ยูเคจะเรียกเก็บได้ที่ https://www.check-future-uk-trade-tariffs.service.gov.uk/tariff

นางอรมน กล่าวอีกว่า สำหรับการเตรียมพร้อมของฝ่ายไทยด้านการค้ากับยูเค ทั้งสองฝ่ายสามารถสรุปผลการเจรจาจัดสรรโควตาในสินค้าเกษตร ที่เคยมีโควตาสมัยยูเคเป็นสมาชิกอียูได้แล้ว เช่น ไก่หมักเกลือ และเนื้อไก่ปรุงสุกและแปรรูป เป็นต้น โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564

นอกจากนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างหารือกับยูเคเพื่อจัดทำรายงานทบทวนนโยบายการค้าร่วมกัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการจัดทำความร่วมมือในสาขา/ธุรกิจ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่ามีศักยภาพและก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันต่อไป

รวมทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้าในระดับรัฐมนตรี เพื่อเป็นเวทีหารือความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า และแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ตลอดจนการพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำเอฟทีเอระหว่างกันในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2562 การค้าระหว่างไทยกับยูเคมีมูลค่ารวม 6,264.6 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1.30% ของการค้าทั้งหมดของไทย สำหรับเดือน ม.ค.-พ.ย. 2563 การค้าไทยและยูเคมีมูลค่า 4,471.7 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยูเคมูลค่า 2,828.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากยูเคมูลค่า 1,643.2 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ

เช่น ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญจากยูเค เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้า เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad